ไม่พบผลการค้นหา
"...การด่าโดยที่ไม่รู้ความหมายที่แท้จริง อาจทำให้การด่านั้นขาดอรรถรสได้ และภาษาเป็นเรื่องของพัฒนาการ การเอา “เหี้ย” มาด่าย่อมต้องมีที่มาที่ไป..." ในคอลัมน์ ประวัติศาสตร์ปากว่าง วันนี้

ในบรรดาคำที่ที่ฉันพูดบ่อยๆ ไม่ว่าจะเวลาตกใจ แปลกใจ เศร้าใจ หรือเห็นผู้หลักผู้ใหญ่ทำอะไรชั่วๆ แล้วอัดอั้นตันใจ ก็คือคำว่า “เหี้ย” สบถไปสบถมาจนเริ่มรู้สึกว่าเป็นคำครอบจักรวาล ไม่มีความหมายตายตัว แต่โดยรวมหมายถึงอะไรที่ไม่ดีๆ เช่น “เหี้ยเอ๊ย ชอบยืมของเพื่อน!” แปลตามความหมายของฉัน คือ “ไม่ดีเลย ชอบยืมของเพื่อน!” เป็นต้น

จริงๆ แล้วการด่าโดยที่ไม่รู้ความหมายที่แท้จริง อาจทำให้การด่านั้นขาดอรรถรสได้ และภาษาเป็นเรื่องของพัฒนาการ การเอา “เหี้ย” มาด่าย่อมต้องมีที่มาที่ไป

ที่จริงแล้วเค้าลางเรื่องเหี้ยในแถวๆ บ้านเรานั้นก็ใช่ว่าจะเลวร้าย เพราะในนิทานชาดก “โคธชาดก” พระโพธิสัตว์ก็เคยเสวยชาติเป็นเหี้ย ใน “ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา” ก็พูดถึงปฐมกษัตริย์เขมรอันมีชาติภูมิเดิมเป็นสัตว์ประเภทเหี้ยที่มีโอกาสฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า ส่วนในโลกวรรณคดี “เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศ” หรือเจ้าฟ้ากุ้ง ก็เคยเขียนถึงเหี้ยไว้ใน “กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง” โดยน้ำเสียงก็ไม่ได้มีนัยจะเหยียดหยามอะไร เป็นการบรรยายไปตามเรื่อง แถมมีอารมณ์เหมือนจะเอ็นดูอยู่หน่อยๆ

กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง


พอมาถึงตรงนี้เห็นได้ว่า “เหี้ย” ในบ้านเราไม่ได้เป็นสัตว์ที่น่ารังเกียจอะไรนัก แถมไข่เหี้ยในยุคก่อนยังเป็นอาหารโอชะระดับเป็นเครื่องเสวยโปรด

เหี้ย

แต่ความ “ไม่น่ารังเกียจ” สำหรับฉันนั่นน่าจะหมายถึงเฉพาะ “เหี้ย” ที่อยู่ในป่า อยู่ในพื้นที่ของมันเท่านั้น ดูอย่างพระนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้งสิ ที่เรียกลูกเหี้ยว่า “ตัวน้อยกระจ้อย” ก็เป็นเหี้ยริมชายป่าระหว่างเสด็จประพาส เพราะเมื่อใดที่ “เหี้ย” เข้ามาในเขตชุมชนหรือบ้านแล้วไซร้ สถานภาพของมันจะเปลี่ยนไปทันที เพราะพฤติกรรมการกินอันตะกรุมตะกราม ชอบกินของเน่า แถมยังชอบลักสัตว์เลี้ยงของชาวบ้านไปสวาปาม นั่นจึงทำให้มันกลายเป็นสัตว์ “อัปมงคล” และกลายเป็นที่มาของการถูกใช้แทนคำด่าในที่สุด

มีหลักฐานการใช้ “เหี้ย” เป็นคำด่าที่ชัดเจนที่สุด อยู่ในเอกสาร “วชิรญาณวิเศษ” เล่ม 7 แผนที่ 40 วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม รัตนโกสินทร์ศก 111 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 โดยเอกสารชิ้นนี้ยังบอกถึงความหมายอันแท้จริงของคำว่า “เหี้ย” อีกด้วย จะยกคำในเอกสารมาให้ดู ดังนี้

วชิรญาณวิเศษ

นอกจากนี้ ยังเขียนถึงไว้อีกว่า "...สัตว์นี้เข้าบ้านเข้าเรือนแล้วมักเกิดอันตราย ให้โทษร้ายต่างๆ เพราะฉนั้นบางทีมนุษย์หรือสัตว์อะไรๆ ที่เข้ามาในบ้านในเรือนใคร แล้วทำความวิบัติต่างๆ ให้ เขาจึ่งเรียกว่าเหี้ย หรือราวกะเหี้ย หรือพวกเหี้ย หรือเหี้ยแท้ๆ..."

แปลตรงๆ แล้ว “เหี้ย” ของคนโบราณนั้นมีความหมายอันแสนลึกซึ้ง เพราะหมายถึง “อะไรก็ตามที่เข้ามาทำความวิบัติ เข้าไปอยู่ที่ไหนก็ชิบหายที่นั่น” ……

ต่อไปนี้ฉันจะใช้คำให้ถูก อะไรที่เข้ามาสร้างความชิบหายให้บ้านให้เมือง นั่นแหละราวกับเหี้ย หรือพวกเหี้ย หรือเหี้ยแท้ๆ

ตอนนี้ฉันด่าได้อย่างมีอรรถรสขึ้นแล้ว

วิฬาร์ ลิขิต
เสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ตามแต่ปากอยากจะแกว่ง เรื่องที่คนทั่วไปสนใจ หรือใครไม่สนใจแต่ฉันสนใจฉันก็จะเขียน การตีความที่เกิดขึ้นไม่ใช่ที่สุด ถ้าจุดประเด็นให้ถกเถียงได้ก็โอเค แต่ถึงจุดไม่ติดก็ไม่ซี เพราะคิดว่าสิ่งที่ค้นๆ มาเสนอ น่าจะเป็นประโยชน์กับใครบ้างไม่มากก็น้อยในวาระต่างๆ จะพยายามไม่ออกชื่อด่าใครตรงๆ เพราะยังต้องผ่อนคอนโด แต่จะพยายามเสนอ Hint พร้อมไปกับสาระประวัติศาสตร์ที่คิดว่าน่าสนใจและเทียบเคียงกันได้
2Article
0Video
66Blog