ไม่พบผลการค้นหา
ศาลกัมพูชาตั้งข้อหา 4 นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ฐานดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ และสมรู้ร่วมคิดวางแผนต่อต้านรัฐบาล หลังบันทึกภาพการปล่อยน้ำเสียใกล้วังกลางกรุงพนมเปญ

21 มิ.ย. ที่ผ่านมา ศาลแขวงกรุงพนมเปญ ตั้งข้อหานักเคลื่อนไหว 3 คนผู้เป็นสมาชิกของกลุ่มมาเธอร์ เนเจอร์ แคมโบเดีย (Mother Nature Cambodia )  ซึ่งเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวต่อต้านการทำลายสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ยิม เลียงฮี (Yim Leanghy) อายุ 32 ปี สุน ราธา (Sun Ratha) อายุ 26 ปี และ ลี จันทราวุธ (Ly Chandaravuth) อายุ 22 ปี โดยทั้ง 3 ถูกควบคุมตัวขณะกำลังบันทึกหลักฐานการปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำที่ไหลผ่านใจกลางกรุงพนมเปญ บริเวณใกล้กับพระบรมราชวังจตุมุขสิริมงคล เมื่อ 16 มิ.ย. ที่ผ่านมา

รายงานระบุว่า นอกจากนักเคลื่อนไหวทั้ง 3 รายแล้ว ศาลเขมรยังได้ตั้งข้อหานักเคลื่อนไหวอีกคนหนึ่งที่ไม่ได้ปรากฏตัวในศาล คือ อเลฮานโดร กอนซาเลซ-เดวิดสัน (Alejandro Gonzalez-Davidson) ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Mother Nature ซึ่งเป็นชาวสเปนและถูกเนรเทศออกจากกัมพูชาในปีพ.ศ.2558 จากการที่เขาวิพากษ์วิจารณ์แผนการสร้างเขื่อนในกัมพูชา

ทั้ง 4 คนถูกต้องข้อหาในความผิดฐานดูหมิ่นกษัตริย์และสมคบคิดวางแผนต่อต้านรัฐบาล โดยเดวิดสันได้กล่าวผ่านการส่งข้อความให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ Reuters ว่าข้อกล่าวหาทั้งหมดนั้นเป็นการใส่ร้ายป้ายสีและสะท้อนความหวาดระแวงที่รัฐบาลกัมพูชามีต่อประชาชน

“สำหรับข้อกล่าวหาที่มีต่อผม ผมมองว่าเป็นเหมือนการยอมรับว่ารัฐบาลเผด็จการมองการเคลื่อนไหวอย่างสันติของผมเป็นภัยคุกคาม”

พลาง โสพัล (Plang Sophal) รองอัยการศาลแขวงพนมเปญ ยืนยันว่า ศาลได้ตั้งข้อหากลุ่มนักเคลื่อนไหวทั้ง 4 คน แต่ไม่ระบุชัดเจนว่าทั้งหมดกระทำผิดกฎหมายอย่างไร โดยอ้างเพียงว่า "หลักฐานที่ตำรวจเก็บมาได้คือการหมิ่นประมาทกษัตริย์" แต่ไม่ได้อธิบายอย่างชัดเจนว่า มีการละเมิดกฎหมายอย่างไร โดยหากถูกตัดสิน นักเคลื่อนไหวทั้ง4 คนอาจต้องเผชิญกับโทษจำคุกระหว่าง 5-10 ปี แบ่งเป็นโทษจากข้อหาสมคบคิดต่อต้านรัฐบาลที่ มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี ส่วนข้อหาดูหมิ่นกษัตริย์มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 5 ปี

ขณะเดียวกัน นาลี พิลอร์ก (Naly Pilorge) ผู้อำนวยการ สันนิบาตกัมพูชาเพื่อการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน (LICADHO) ได้กล่าวกับรอยเตอร์ ว่า "รัฐบาลกัมพูชาเล่นงานกลุ่มมาเธอร์ เนเจอร์ กัมพูชา อย่างไม่ลดละ" เนื่องจากก่อนหน้านี้ ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ศาลกัมพูชายังได้ตัดสินโทษจำคุกตั้งแต่ 18 ถึง 20 เดือน แก่ 3 นักเคลื่อนไหวจากกลุ่ม มาเธอร์ เนเจอร์ แคมโบเดีย (Mother Nature Cambodia )  ในความผิดฐานปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายจากการจัดการเดินขบวนประท้วงเรียกร้องให้มีการปกป้องทะเลสาบแห่งหนึ่งในกรุงพนมเปญที่ถูกถมด้วยทรายกว่า 60% เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับการพัฒนาด้านอสังหาฯ

ด้านสถานทูตสวีเดนและสหรัฐฯ ต่างออกมาแสดงท่าทีต่อการตั้งข้อหานี้ โดยสถานทูตสวีเดนในกรุงพนมเปญได้ทวีตข้อความทางทวิตเตอร์แสดงความกังวลต่อการดำเนินการทางกฎหมายที่เกิดขึ้นกับกลุ่มนักเคลื่อนไหวในกัมพูชา "รู้สึกกังวลเป็นอย่างยิ่งที่ได้ทราบว่ามีการจับกุมตัวนักเคลื่อนไหวเยาวชนด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มอีก" ทางด้านของนายแพทริก เมอร์พี (Patrick Murpy)  เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำกัมพูชากล่าว " ผมรู้สึกไม่สบายใจอย่างยิ่งที่ได้ยินเรื่องการจับกุมกลุ่มเยาวชนนักเคลื่อนไหว การบันทึกหลักฐานมลพิษหรือจัดทำสารคดีเกี่ยวกับมลพิษนั้นเป็นการทำเพื่อประโยชน์สาธารณะไม่ใช่การก่อการร้าย เราเรียกร้องให้ทางการรับฟังพลเมืองของตัวเอง ไม่ใช่การทำให้พวกเขาสงบปากสงบคำ"

สอดคล้องกับ ฟิล โรเบิร์ตสัน (Phil Robertson) รองผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch : HRW) ที่ได้ออกมากล่าวในแนวเดียวกันว่า

"รัฐบาลประเทศต่างๆ ทีมงานของสหประชาชาติในกัมพูชา และผู้บริจาคต่างประเทศ ควรเรียกร้องให้ทางการกัมพูชายกเลิกข้อกล่าวหาที่ไร้สาระต่อนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม และประณามการปราบปรามการเคลื่อนไหวที่เป็นไปอย่างสันติ" เขากล่าวเพิ่มเติมว่า "ศาลกัมพูชาที่ได้รับอิทธิพลทางการเมือง ทำให้นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมที่ถูกตั้งข้อหา ไม่มีโอกาสที่จะได้รับการไต่สวนที่เป็นธรรม" เพราะในขณะนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่า นักเคลื่อนไหวกลุ่มนี้ "ดูหมิ่น" พระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี พระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญของกัมพูชาอย่างไร

อย่างไรก็ตาม เพ สีพาน (Phay Siphan) โฆษกรัฐบาลกัมพูชา เพิกเฉยต่อเสียงวิจารณ์เรื่องการตั้งข้อกล่าวหาเหล่านี้ โดยระบุว่ารัฐบาลเพียงดำเนินการตามกฎหมาย และกล่าวต่อว่าฝ่ายจำเลย “ควรหาทนายความเก่งๆ เพื่อมาต่อสู้คดีในศาลแทนที่จะสร้างข่าวขึ้นมา”

ที่มา: BBC , TheThaiger , IndependentUK