ไม่พบผลการค้นหา
โปรเจกต์ยักษ์ “ผันโขงเลยชีมูน” คืบหน้าเข้า คชก.แล้ว ชาวบ้านหวั่นถูกลักไก่เร่งรีบเข้า กก.วล.เหมือนโครงการผันน้ำยวม โวยอีกขอคัดสำเนา EIA ต้องจ่ายนับหมื่นทำให้ประชาชนเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสาร

วันที่ 19 ก.ย. เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน ได้รับหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการ 2 ฉบับ จากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) ลงวันที่ 16 ก.ย. 2564 แจ้งผลเรื่องการพิจารณารายงานโครงการบริหารจัดการน้ำโขงเลยชีมูล โดยแรงโน้มถ่วงระยะที่ 1 ช่วง ปากแม่น้ำเลย-เขื่อนอุบลรัตน์ ว่า

ตามที่เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน ได้ส่งหนังสือขอข้อมูลรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ประเภทโรงการพัฒนาแหล่งน้ำและเกษตรกรรม โครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ระยะที่ 1 ช่วงปากแม่น้ำเลย-เขื่อนอุบลรัตน์ โดยพื้นที่โครงการจะครอบคลุมอำเภอเชียงคาน อำเภอปากชม อำเภอนาด้วง จังหวัดเลย อำเภอสุวรรณคูหา อำเภอนากลาง อำเภอโนนสัง อำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดหนองบัวลำภู อำเภอน้ำโสม อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี และอำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่นนั้น

คณะผู้ชำนาญการได้พิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ(คชก.) เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2564 และมีมติให้ สทนช.และกรมชลประทาน ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขรายงานดังกล่าว และ สทนช.จะต้องจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมตามติของ คชก.จนกว่าจะผ่านการพิจารณา

ขณะเดียวกัน สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ(สผ.) ได้ส่งหนังสือแจ้งต่อเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน อีก 1 ฉบับ โดยหนังสืออกวันที่ 13 ก.ย. 2564 ระบุว่า สผ.ได้รับรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ระยะที่ 1 ช่วงปากน้ำเลย เขื่อนอุบลรัตน์(ฉบับเดือนมีนาคม) ของกรมชลประทานและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และบริษัทที่ปรึกษา ครีเอทีฟ เทคโนโลยี จำกัด และรายงานดังกล่าวได้นำเข้าสู่การประชุมของ คชก.เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ มีมติให้กรมชลประทานและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ปรับปรุง แก้ไข และเพิ่มเติมข้อมูลในรายงานตามแนวทาง รายละเอียด ประเด็นหรือหัวข้อที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการ กำหนด ซึ่งปัจจุบัน ทางกรมชลประทานและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติยังไม่ได้จัดส่งรายงานที่ได้แก้ไขตามข้อคิดเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ มายัง สผ.แต่อย่างใด และในกรณีการขอเอกสารการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมโครงการผันน้ำโขงเลยชีมูลดังกล่าว ทาง สผ.ไม่ขัดข้อง แต่การขอคัดสำเนาเอกสารดังกล่าวจะต้องเสียค่าธรรมเนียมการขอสำเนาเอกสารขนาดเอ 4 หน้าละ 1 บาท จำนวน 5,050 หน้า เป็นเงิน 5,050 บาท ขนาดกระดาษเอ 3 หน้าละ 3 บาท จำนวน 55 หน้า เป็นเงิน 165 บาท รวมเป็นเงิน 5,265 บาท และหากให้รับรองสำเนาเอกสาร อัตราคำรับรองละ 3 บาท(5,105) จะมีค่าใช้จ่ายรวมเป็นเงิน 15,315 บาท ดังนั้นมีค่าใช้จ่ายร่วมเป็นเงิน 20,530 บาท ตามที่กำหนดในประกาศของ สผ.

ผันโขงเลยชีมูน

สุวิทย์ กุหลาบวงศ์ ตัวแทนเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง อีสาน กล่าวว่า โดยเชิงหลักการ ประชาชนจะนำข้อมูลมาดูควรเป็นสิทธิอันชอบธรรม เพราะประชาชนเป็นผู้ได้เสียจากโครงการ กรณีการขอรายงานอีเอไอโครงการผันน้ำโขงเลยชีมูล และโครงการผันน้ำยวม-เขื่อนภูมิพล ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ขณะนี้ ยิ่งชี้ให้เห็นชัดเจนว่า ประกาศของ สผ.ดังกล่าว คือกลไกที่ขัดขวางการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง มีการแก้ระเบียบให้ประชาชนได้ข้อมูลมาอ่านเพื่อการตรวจสอบโครงการแต่ละโครงการซึ่งใช้เงินหลักล้านล้านบาท ทั้งในการจัดทำรายงานการศึกและการจัดทำโครงการ แต่ทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลยากมาก อย่างไรก็ตาม กรณีโครงการผันน้ำโขงเลยชีมูล ทางภาคประชาชนได้เตรียมล่ารายชื่อประชาชนและชาวบ้านเพื่อยื่นคัดค้านโครงการต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ(กก.วล.) เพื่อเป็นการแสดงความไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ และเราไม่ต้องการให้มีการฉวยโอกาสเร่งรีบนำอีไอเอโครงการนี้ให้ผ่านความเห็นชอบของ กก.วล.เหมือนโครงการผันน้ำยวม

สิริศักดิ์ สะดวก ตัวแทนเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสานกล่าวว่า คิดว่าชาวบ้านไม่ควรจะต้องจ่ายเงินในการได้เอกสารรายงานผลกระทบดังกล่าว เพราะพวกเขาคือคนที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการ ชาวบ้านจะมีแต่เสียกับเสีย ต้องเสียพื้นที่ให้กับโครงการ และต้องเสียสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของรัฐ ซึ่งรัฐไม่ควรจะมาเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียม รัฐต้องอำนวยความสะดวกให้ข้อมูลได้ถึงประชาชนมากกว่า อาจจะเป็นการคัดลอกข้อที่เป็นซีดีหรือออนไลน์ก็ได้ ทำหน้าที่เอื้ออำนวยให้ชาวบ้านเข้าถึงรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเครื่องมือในการตัดสินใจทางนโยบายที่สำคัญ

ทั้งนี้โครงการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล ระยะที่ 1 มีเป้าหมายเพื่อการผันปริมาณน้ำจากแม่น้ำโขงเข้ามายังพื้นที่ภาคอีสานของประเทศไทย จุดเริ่มต้นโครงการที่ปากแม่น้ำเลย อ.เชียงคาน จ.เลย ด้วยการปรับปรุงปากแม่น้ำเลย ขุดคลองชักน้ำ 1 แถว เจาะอุโมงค์แบบทางเปิดน้ำจำนวน 3 ช่วง คลองลำเลียงน้ำ 5 ช่วง รวมระยะทางการผันน้ำทั้งหมด 174 กิโลเมตร คาดว่าจะมีปริมาณน้ำผันจากแม่น้ำโขง 1,894 ล้านลบ.ม แบ่งเป็นในฤดูฝน 1307 ล้าน ลบ.เมตรและ 587 ล้านลบ.ม. ในฤดูแล้ง ลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ยังไม่มีการพัฒนาระบบชลประทาน คาดว่าจะใช้เวลาในการพัฒนาโครงการทั้งหมด 9 ปี งบประมาณ 157,045 ล้านบาท โดยแผนการพัฒนาโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูลทั้งระบบ มีทั้งหมด 5 ระยะ ด้วยการพัฒนาอุโมงค์ผันน้ำ 17 แถว งบประมาณกว่า 1.9 ล้านล้านบาท โดยระบุมีการเสนอให้สร้างเขื่อนปากชม บนแม่น้ำโขงสายหลักในระยะที่3 และเขื่อนบ้านกุ่มในระยะที่ 5 ในแผนการพัฒนาโครงการดังกล่าวอีกด้วย ที่ผ่านมาเครือข่ายประชาชนในลุ่มน้ำโขง เลย น้ำมูลและชี ได้แสดงจุดยืนในการคัดค้านโครงการผันน้ำเนื่องจากกังวลต่อความไม่คุ้มค่าของโครงการและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาจากโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ในภาคอีสานที่ผ่านมาเช่นกรณีโครงการโขงชีมูล เป็นต้น

อนึ่ง เมื่อวันที่ 18 กันยายน พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช รองเลขาธิการ สผ. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ได้แถลงถึง กรณีการขอคัดสำเนารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยระบุว่ากรณีขอคัดสำเนาเป็นเอกสาร จะมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการขอคัดสำเนาเอกสารทางราชการ เป็นไปตามประกาศสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และตามประกาศคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ซึ่ง สผ. ดำเนินการเป็นมาตรฐานเดียวกันในทุกประเภทโครงการที่มีการร้องขอคัดสำเนาเอกสาร  

โดยกรณีขอคัดสำเนาในรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

ทั้งนี้ผู้ขอคัดสำเนาสามารถแจ้งความประสงค์มาที่ สผ.เพื่อจะได้ดำเนินการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2540 และ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ต่อไป และกรณีผู้ประสงค์ขอคัดสำเนาเป็นผู้มีรายได้น้อย สามารถแจ้งคำร้องขอในการยกเว้นค่าธรรมเนียม หรือลดอัตราค่าธรรมเนียม ตามประกาศคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ