นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการเปิดจองสิทธิสินเชื่อโครงการบ้านล้านหลัง รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท ภายใต้กรอบวงเงินรวม 50,000 ล้านบาท ซึ่งธนาคารกำหนดจัดขึ้นทุกสาขาพร้อมกันทั่วประเทศวันเดียวในวันที่ 23 ธ.ค. ที่ผ่านมา ว่าหลังจากธนาคารเริ่มเปิดให้ลูกค้าประชาชนจองสิทธิสินเชื่อตั้งแต่เวลา 08.30 น.
ล่าสุดเมื่อเวลา 18.30 น. วันเดียวกัน พบว่ายอดจองสิทธิสินเชื่อทั่วประเทศรวมกันเกือบ 130,000 ล้านบาทแล้ว ซึ่งภาคที่มียอดจองสูงที่สุด คือ สาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มียอดจอง 29,000 ล้านบาท, สาขาภาคใต้ มียอดจอง 27,000 ล้านบาท, สาขาภาคกลาง ยอดจอง 19,000 ล้านบาท, กรุงเทพฯ และปริมณฑล มียอดจอง 18,000 ล้านบาท, สาขาภาคตะวันออก 16,000 ล้านบาท, สาขาภาคเหนือ ยอดจอง 13,000 ล้านบาท, และสาขาภาคตะวันตกยอดจอง 5,000 ล้านบาท
ซึ่งลูกค้าที่มารอจองสิทธิสินเชื่อที่ ธอส. สำนักงานใหญ่ เป็นคนแรกเดินทางมาถึงตั้งแต่เวลา 21.30 น. ของวันที่ 22 ธ.ค. 2561 ขณะที่ในสาขาภูมิภาคพบว่าทยอยเดินทางมาถึงตั้งแต่เวลา 02.00-03.00 น. ของวันที่ 23 ธ.ค. 2561
ทั้งนี้ ธนาคารได้เปิดให้จองสิทธิต่อเนื่องจนกว่าผู้รับบัตรคิวคนสุดท้ายเมื่อเวลา 18.00 น. จะได้รับการจองสิทธิ ซึ่งการที่ประชาชนให้ความสนใจจองสิทธิสินเชื่อโครงการบ้านล้านหลังจนพบว่ามียอดจองสูงกว่ากรอบวงเงิน 50,000 ล้านบาท ตั้งแต่เวลา 13.00 น. สะท้อนให้เห็นว่าธนาคารสามารถสนับสนุนนโยบายรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการสร้างความมั่นคงในชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และยังแสดงให้เห็นว่าประชาชนยังต้องการที่อยู่อาศัยในระดับราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท เป็นอย่างมากอีกด้วย
ผู้จองสิทธิสินเชื่อโครงการบ้านล้านหลังในวันนี้สามารถนำ SMS ที่ได้รับจากธนาคาร ซึ่งระบุรหัสในการจอง ไปใช้เป็นหลักฐานในการยื่นเอกสารคำขอกู้ตามวันที่ธนาคารกำหนด โดยผู้จองก่อนมีสิทธิได้ลำดับการยื่นกู้ก่อน ซึ่งประชาชนสามารถตวจสอบวันให้ยื่นกู้ได้ที่ www.ghbank.co.th ตั้งแต่วันที่ 25 ธ.ค. 2561 เป็นต้นไป โดยธนาคารเตรียมเปิดให้ผู้ที่จองสิทธิสินเชื่อ 30,000 รายแรก ยื่นคำขอกู้ได้ตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค. 2562 และต้องติดต่อยื่นคำขอกู้กับธนาคารภายใน 90 วัน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ทุกสาขาทั่วประเทศ
ทั้งนี้ โครงการบ้านล้านหลังของ ธอส. เป็นการให้สินเชื่อราคาถูกเพื่อที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยในระยะแรกมีงบประมาณ 50,000 ล้านบาท ซึ่งให้ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 40 ปี สำหรับผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 25,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยในปีที่ 1 - 5 คงที่ที่ร้อยละ 3 ต่อปี
ส่วนผู้ที่มีรายได้มากกว่า 25,000 บาท อัตราดอกเบี้ยในปีที่ 1 - 3 คงที่ที่ร้อยละ 3 ต่อปี
โดย ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 25,000 บาทต่อเดือนจะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ ค่าประเมินราคาหลักประกัน ค่าจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม และค่าจดทะเบียนนิติกรรมจำนอง
ส่วนผู้ที่มีรายได้มากกว่า 25,000 บาทต่อเดือน ให้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของธนาคาร โดยโครงการนี้ ธอส. จะขอเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเพียง 3,876 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ ธอส. จะเป็นผู้รับผิดชอบ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :