ทั้งมาตรการเฉพาะด้านเพื่อฟันฝ่าปัญหาอุปสรรคต่าง หรือแนวทางเพื่อช่วยเหลือพยุงประคับประคองผู้อ่อนแอให้อยู่รอดได้ในสถานการณ์อันแหลมคมและเปราะบางเหล่านี้ แต่ที่ผ่านมา ข้อมูลส่วนใหญ่โดยเฉพาะที่ส่งออกมาจากภาครัฐมักเน้นที่ตัวเลขการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของผู้ติดเชื้ออันเป็นความสำเร็จเพียงมิติเดียวและถือเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจทางนโยบาย ผลที่ตามมาคือ เสียงของผู้คนที่ได้รับผล กระทบจากนโยบายจำนวนมากถูกทำให้แผ่วเบาลง ในแต่ละวันมีข้อมูลที่ทำให้รู้สึกกังวลต่อโรคระบาดถ่ายทอดออกมาย้ำๆอย่างไม่อินังขังขอบต่อความหิวโหยลำบากหรือกระทั่งใยดีต่อความตายของผู้ยากไร้ แม้ว่าใบหน้าหรือน้ำเสียงนั้นจะแย้มยิ้มหรือนุ่มละมุนเปี่ยมด้วยความเป็นมิตรเพียงใดก็ตาม
ในสถานการณ์วิกฤติ โควิด 19 นโยบายต่างๆควรขับเคลื่อนไปด้วยความเข้าใจและเดินไปตามฐานข้อมูล ไม่ใช่การเผยแพร่ความกลัวเพียงเพื่อมุ่งหมายประกาศชัยชนะต่อโรคร้ายบนซากความตายของประชาชนผู้สิ้นหวัง
ท่ามกลางความมืดมิด เรายิ่งต้องการแสงสว่าง แม้มันจะเป็นแค่แสงจากตะเกียง เพราะเราเชื่อว่าการมองเห็นสิ่งรอบข้าง ย่อมดีกว่าการวิ่งหนีอย่างไร้ทิศทางเพียงเพราะได้ยินคำรามเสียงหมาป่าในรัตติกาล
ด้วยเหตุนี้ เราจึงรวบรวมตัวเลขที่มีนัยสำคัญต่อการอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆในช่วงโควิด 19 อย่างน้อยที่สุด เพื่อช่วยให้มองเห็นสถานการณ์เดียวกันจากแง่มุมและข้อเท็จจริงที่หลากหลาย เนื่องจากข้อมูลที่รอบด้านย่อมมีผลต่อการรับรู้และความเข้าใจของสังคมต่างกัน พร้อมทั้งหวังว่าเสียงจากสะท้อนจากประชาชนคงจะดังพอที่จะกระตุ้นให้การตัดสินใจของรัฐบาลมองเห็นและใส่ใจในความทุกข์ยากของประชาชนทุกกลุ่มมากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ หรือถ้าเป็นไปได้ก็ให้พวกเขาลุกเดินออกไปจากอำนาจได้ตั้งแต่นาทีนี้เลยก็จะดี
80-15-5 คือตัวเลขพื้นฐานที่ต้องรู้เกี่ยวกับ โควิด 19 แม้จะผ่านมานานหลายเดือนแล้ว แต่เชื่อว่าความเข้าใจของผู้คนจำนวนหนึ่งยังคงเชื่อว่าหากติดเชื้อโควิดต้องมีอาการหนักหรือเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในเกือบทุกกรณี ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้คือ โควิด 19 เป็นไวรัสที่มีอัตราการติดเชื้อสูงแต่ความรุนแรงค่อนข้างต่ำ โดยแบ่งออกเป็นสัดส่วนร้อยละ 80 -15 - 5 คือ ใน 100 คน ของผู้ติดเชื้อ 80 คน อาจไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย 15 คน มีอาการปานกลาง เช่น ไข้สูง ไอมาก เหนื่อยง่าย มักจะรู้สึกป่วยจนมาพบแพทย์ 5 คน มีอาการรุนแรง มีภาวะปอดบวมรุนแรง ต้องการการดูแลทางการแพทย์ที่จริงจัง บางส่วนอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ใน 5 คน มีอัตราเสียชีวิตราว 1-2 คน
ตัวเลขชุดนี้เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจทางนโยบายในหลายด้าน นั่นคือ ในทุกระดับอาการสามารถแพร่เชื้อได้ แต่หากมีการเข้าไปค้นหากลุ่มผู้ติดเชื้อที่มีอาการน้อยหรือกลุ่มร้อยละ 80 ได้เร็ว (Active Search ) ควบคู่กับมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ( Social Distancing) จะทำให้การแพร่กระจายเชื้อเกิดขึ้นน้อย ลดจำนวนของผู้ป่วยกลุ่มร้อยละ 15 และกลุ่มร้อยละ 5 ที่ต้องเข้าสู่การดูแลทางการแพทย์หรือมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง ซึ่งหากเข้าสู่สัดส่วนนี้น้อย ระบบสาธารณะสุขจะสามารถรองรับได้ โรงพยาบาลมีเตียงและอุปกรณ์ทางการแพทย์เพียงพอต่อการรักษา
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหลายประเทศจะเห็นตรงกันและเดินนโยบายด้วยมาตรการมุ่งเข้าไปค้นหาคัดกรองหรือจำกัดการ กระจายเชื้อของกลุ่มผู้ติดเชื้อร้อยละ 80 ออกมาด้วยมาตรการ Social Distancing และ Active Search แต่น้ำหนักในการดำเนินนโยบายของแต่ละประเทศและความสำเร็จมีแตกต่างกันไป เช่น
จีน - ดำเนินการ Social Distancing และ Active Search มีการใช้กฎหมายพิเศษอย่างเข้มข้น และประสบความสำเร็จ
อิตาลี - ความจริงแล้วเป็นหนึ่งในประเทศที่เตรียมความพร้อมล่วงหน้า กระทรวงสาธารณสุขอิตาลี ตั้งคณะทำงานเพื่อจัดการกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก่อนที่จะมีการพบผู้ติดเชื้อรายแรกนานถึงหนึ่งเดือน และเป็นประเทศแรกในยุโรปที่แบนเที่ยวบินจากจีน ทว่า การติดเชื้ออาจเกิดขึ้นก่อนหน้านั้น มีข้อสันนิษฐานชี้ว่าอาจมาจากการชมฟุตบอลนัดหนึ่งระหว่างสโมสรในอิตาลีและสเปน จึงมีจำนวนผู้ชมต่อนัดมหาศาล (หากเทียบกับคลัสเตอร์สนามมวยลุมพินีในบ้านเราต้องถือว่าขนาดต่างกันมาก) ผลที่เกิดขึ้นคือการแพร่กระจายในอิตาลีและสเปนพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่ระบบสาธารณสุขจะรองรับได้ทันโดยเฉพาะในช่วงแรกแม้จะนำ มาตรการ Social Distancing หรือการสั่งปิดเมืองมาใช้เกือบทันทีก็ตาม
ปัจจัยสำคัญของการเสียชีวิตจำนวนมากมาจากข้อเท็จจริงว่า อิตาลีเป็นประเทศที่มีประชากรผู้สูงอายุมากเป็นอันดับ 2 ของโลก สอดคล้องกับอัตราการเสียชีวิตจากโควิด 19 ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพ ล่าสุดสถานการณ์ในอิตาลีและหลายประเทศในยุโรปเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น
เกาหลีใต้ - เป็นหนึ่งในประเทศที่ไม่ได้ใช้มาตรการ Social Distancing อย่างเข้มงวด แต่ประสบความสำเร็จสูงจาก มาตรการ Active Search มุ่งค้นหาผู้ติดเชื้อเพื่อไปดำเนินมาตรการกักตัวและรักษา ในส่วนการกักตัวมีการจัดชุดยังชีพสำหรับไปให้เพื่อความสะดวกในช่วงที่ออกไปไหนไม่ได้ ในช่วงแรกของสถานการณ์ เมืองแทกูศูนย์กลางการระบาดดูวิกฤติ เนื่องจากพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก แต่ข้อเท็จจริงอีกด้านคือเป็นผลมาจากการสอบสวนโรคเพื่อหาการระจายตัวอย่างเข้มข้น ด้วยมาตรการนี้ เกาหลีใต้เข้าสู่ระยะที่จัดการได้อย่างรวดเร็ว จึงทำให้สถานการณ์ดีขึ้นเรื่อยๆ จนเปิดให้ผู้คนสามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ในที่สุด
สิงคโปร์ - ใช้การ Active Search และมีมาตรการดำเนินการ Social Distancing เพื่อควบคุมที่เรียกว่า circuit breaker ที่ประกาศใช้ตั้งแต่ 3 เม.ย. และยังไม่ได้ยกเลิกถึงปัจจุบัน เป็นประเทศที่ควบคุมได้ดีในช่วงแรก ก่อนที่จำนวนผู้ติดเชื้อจะกระโดดขึ้นไปใกล้ 15,000 คน (29 เม.ย.63) หรือมากที่สุดในอาเซียน
สิงคโปร์มักเป็นกรณีตัวอย่างที่รัฐบาลไทยยกเป็นต้นแบบของอาการการ์ดตกเสมอ ทั้งที่ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นไม่เกี่ยวข้องกับความย่อหย่อนมาตรการแม้แต่น้อย แต่เป็นเพราะมาตรการ Active Search ที่ทำให้พบว่า จำนวนผู้ติดเชื้อที่พุ่งขึ้นมาช่วงหลังนั้นกว่าร้อยละ 90 มาจากกลุ่มแรงงานข้ามชาติทั้งสิ้น และถึงแม้ตัวเลขเป็นเรื่องที่กังวล แต่สิงคโปร์ยังคงรับมืออย่างรัดกุม ลี เซียน ลุง ได้พยายามสื่อสารให้ประชาชนทราบเสมอว่า แรงงานข้ามชาติ เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อสิงคโปร์ เป็นผู้ร่วมสร้างเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และย้ำว่า จะดูแลเช่นเดียวกับที่ดูแลชาวสิงคโปร์ ทั้งสุขภาพ ความเป็นอยู่ และการดำรงชีวิตของบุคคลเหล่านี้ ซึ่งรวมถึงทำให้แน่ใจว่า จะได้รับค่าจ้าง สามารถส่งเงินกลับบ้าน และช่วยให้ติดต่อกับคนในครอบครัวและเพื่อนฝูงได้อีกด้วย
บทเรียนจากสิงคโปร์ อาจไม่ใช่ตัวอย่างของการย่อหย่อนมาตรการ เนื่องจากยังคงให้ความสำคัญ เรื่อง Social Distancing แต่พยายามสร้างสมดุลในมาตรการเยียวยาและประคองบรรยากาศของการใช้ชีวิตแบบปกติ
สิ่งสำคัญคือสามารถยก สิงคโปร์ เป็นต้นแบบความสำเร็จได้ในด้าน Active Search ที่ทำให้รู้กลุ่มคลัสเตอร์เสี่ยงได้เร็ว เพื่อดูแลจัดการเพื่อไม่ให้ลุกลามเป็นปัญหาใหญ่ของระบบสาธารณสุข โดยตัวเลขผู้เสียชีวิตที่ขณะนี้ยังคงอยู่ที่ 14 รายเท่านั้น ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยมากหากเทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อ เป็นภาพสะท้อนการเข้าถึงกลุ่มร้อยละ 80 ไม่ให้ขยายตัวอย่างฉับพลันไปถึงกลุ่มผู้สูงอายุจนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากแบบอิตาลี
6 คือ อันดับของไทยจากการจัดลำดับ “ระบบสุขภาพดีที่สุดในโลก” ประจำปี 2562 ซึ่งจัดอันดับนิตยสาร CEOWORLD นิตยสารด้านธุรกิจของสหรัฐอเมริกา
จากอันดับที่ได้ สะท้อนว่า ประเทศไทยมีความแข็งแกร่งด้านสาธารณสุขลำดับต้นของโลกและยิ่งชัดเจนขึ้นจากสถาการณ์วิกฤติโควิด 19 ครั้งนี้ เพราะถึงแม้ว่า รัฐบาลที่จะการดำเนินนโยบายที่ล่าช้าและไร้ศักยภาพหลายต่อหลายครั้ง ก็ยังสามารถยันสถานการณ์วิกฤติไว้ได้อย่างมั่งคง
หากย้อนสถานการณ์กลับไป ท่ามกลางการระบาดของไวรัสที่เริ่มสร้างความตระหนกไปทั่วโลกเมื่อปลายปีก่อน รัฐบาลดูจะเพิกเฉยและพยายามสื่อสารว่าเป็นโรคหวัดธรรมดาเท่านั้นและนโยบายต่างๆก็ดำเนินไปบนฐานความเชื่อเช่นนั้น ในขณะที่เสียงเตือนจากบุคลากรทางการแพทย์มีออกมาตลอด เมื่อสถานการณ์เลวร้ายขึ้นเรื่อยๆ หากโฟกัสให้ชัด รัฐบาลเพิ่งตั้งศูนย์โควิด 19 เพื่อทำงานอย่างบูรณาการเพื่อให้มีศักยภาพยิ่งขึ้นเมื่อ 19 มี.ค. หรือเพียงหนึ่งเดือนกว่ามานี้เอง หากประเทศไทยมีรัฐบาลที่มีความสามารถในการประเมินสถานการณ์มากกว่านี้ เชื่อว่าคงไม่พลาดช่วงเวลาทองในการควบคุมสถานการณ์หลายต่อหลายครั้ง ดังนี้
ช่วงเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ เป็นที่ทราบดีว่าสถานการณ์ในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน เข้าสู่สถานการณ์วิกฤติ มีการปิดเมืองและเที่ยวบินตรงจากอู่ฮั่น แต่เป็นที่ทราบดีว่าก่อนหน้านั้นเป็นช่วงตรุษจีน จึงมีการเดินทางกลับบ้านเกิดของผู้คนจากอู่ฮั่นก่อนปิดเมืองไปทั่วประเทศ ในช่วงเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์จึงยังมีคนจีนเข้าไทย 2.2 แสนคน และในช่วงที่มีการระบาดที่เมืองแทกู ประเทศเกาหลี ยังคงมีนักท่องเที่ยวเกาหลีมาเที่ยวกว่า 2 หมื่นคน
มีรายงานว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ขอให้รัฐบาลมีคำสั่งปิดน่านฟ้าไม่ให้ประเทศกลุ่มเสี่ยงเข้า ไม่ว่า จีน อิตาลี อิหร่าน หรือเกาหลีใต้ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายในประเทศและเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขลดความภาระงานและความกังวลลง เพื่อหันไปมุ่งค้นหาผู้ป่วยในประเทศ จำกัดการกระจายเชื้อ แต่การตอบสนองที่ล่าช้าล่วงไปจนถึงต้นเดือนเมษายนจึงค่อยมีคำสั่งปิดน่านฟ้า
ผลสะท้อนที่ตามมาจากมาตรการก็คือ ที่ตัวเลขของผู้ติดเชื้อจำนวนมากปรากฏขึ้นที่กรุงเทพฯ และเมืองท่องเที่ยวต่างๆอย่างเช่น ภูเก็ต การที่ตรวจพบผู้ติดเชื้อหลักร้อยต่อวัน มีความสัมพันธ์กับต้นทางที่เกี่ยวข้องกับการเข้ามาจากต่างประเทศโดยทิ้งเวลาให้ล่วงมานานพอสมควร ท้ายที่สุดจึงต้องออกมาตรการที่เข้มงวดเพื่อมาจัดการในภายหลัง ซึ่งสร้างผลกระทบต่อประชาชนอย่างมาก
นอกจากนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่สถานการณ์ส่อเค้าว่ารุนแรงขึ้น เป็นที่ทราบดีว่าหน้ากากอนามัยกำลังกลายเป็นสินค้าจำเป็น แต่การบริหารราชการของกระทรวงพาณิชย์กลับไม่สามารถทำให้หน้ากากอนามัยมีเพียงพอต่อความต้องการ ทั้งยังมีราคาสูง เกิดการกักตุนกลายเป็นสินค้าราคาแพงในตลาดมืด มีข่าวคราวออกมาเป็นระยะว่ามีบุคคลในรัฐบาลเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการค้าหน้ากาก แต่ยังคงไม่สามารถสืบสาวหาต้นตอได้ถึงปัจจุบัน
สถานการณ์เลวร้ายไปกว่านั้น เมื่อปัญหาหน้ากากบานปลายถึงบุคลากรทางการแพทย์ ด่านหน้าของการรับมือโรคระบาด เพราะพวกเขากลับไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันได้ และไม่ใช่เฉพาะหน้ากากอนามัยเท่านั้น ยังรวมไปถึงชุดป้องกันการติดเชื้อ PPE หรืออื่นๆด้วย ในสถานการณ์นี้ พบว่ามีบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจำนวนไม่น้อยกลายเป็นผู้ติดเชื้อในเวลาต่อมา โดยปัจจัยต้นเหตุที่มักถูกอ้างถึงคือ เพราะผู้ติดเชื้อปกปิดประวัติเท่านั้น ไม่ได้กล่าวถึงปัญหาการเข้าไม่ถึงอุปกรณ์ป้องกันเพื่อรับมือสถานการณ์ที่เพียงพอ
ดังนั้น ด้วยศักยภาพของระบบสาธารณสุข อันดับ 6 ของโลก การมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีพัฒนาการต่อเนื่องมาตั้งแต่ รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ภายใต้สถานการณ์อันน่าตระหนกภาพแบบในสหรัฐจึงไม่เกิดขึ้น หลักประกันสุขภาพหรือที่รู้จักกันว่า ‘บัตรทอง’ เป็นโครงการที่ได้รับการยกย่องในระดับนานาชาติมาโดยตลอด รวมทั้งองค์การอนามัยโลก เป็นแรงสนับสนุนที่แข็งแรงทำให้ประชาชนกล้าที่จะเข้ารับบริการทางการแพทย์ ในขณะที่ประเทศที่ไม่มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประชาชนจำนวนมากกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายทำให้เข้าไม่ถึงการรักษาบ้างเสียชีวิตบ้างกลายเป็นผู้กระจายเชื้อต่อไป
หลักประกันสุขภาพยังได้วางโครงสร้างเชิงระบบในการทำให้เข้าถึงหมอและยาได้เร็ว นอกจากนี้ ระบบสุขภาพของไทยยังมีบุคลากรและโครงสร้างที่พร้อมต่อการรับมือโรคระบาดเนื่องจากผ่านประสบการณ์มาแล้วหลายครั้ง และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการบริหารจัดการในช่วงรัฐบาลทักษิณ หรือ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ต้องเผชิญกับทั้ง หวัดนก อีโบลา ซาร์ ซึ่งเป็นโรคระบาดใหม่ มีส่วนสำคัญในการสร้างประสบการณ์และพัฒนาเชิงระบบที่แข็งแกร่งในการรับมือโรคระบาด ดังนั้นเชื่อว่า หากได้รับการสนับสนุนหรือมีการขับเคลื่อนทางนโยบายที่มีศักยภาพกว่านี้ สถานการณ์ของประเทศไทยอาจเข้าสู่ภาวะใกล้เคียงปกติยิ่งกว่านี้มากแล้วก็เป็นได้
53 คือ จำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อวันที่ 25 เม.ย. 63 ตัวเลขดังกล่าวมีความสำคัญเนื่องจากทำให้เกิดความกังวลขึ้น หลังประกาศออกมาจาก ศบค. เป็นตัวเลขที่สูงขึ้นอีกครั้ง หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อนิ่งที่หลักสิบกว่ามาตลอดหลายวัน ดังนี้
วันที่ 24 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 15 คน
วันที่ 23 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 13 คน
วันที่ 22 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 15 คน
วันที่ 21 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 19 คน
จากแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยมาทำให้หลายคนเริ่มเรียกร้องให้คลาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หากสิ้นสุดลงในวันที่ 30 เม.ย. นี้ แต่เมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อกลับมาสูงขึ้น และการสื่อสารที่เน้นในประเด็นเดียว จึงทำให้ความกังวลเริ่มกลับมาอีกครั้ง
ในเรื่องนี้ หากลงไปดูในรายละเอียดจะพบว่า จำนวนผู้ติดเชื้อที่สูงขึ้นมาจากการคัดกรองในกลุ่มแรงงานต่างชาติที่ ศูนย์กักกันคนเข้าเมือง อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา โดยพบว่ามีผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น 42 ราย ( เมียนมา 34 ราย, เวียดนาม 3 ราย, มาเลเซีย 2 ราย, เยเมน 1 ราย, กัมพูชา 1 ราย, อินเดีย 1 ราย)
ตัวเลขที่สูงขึ้นจึงไม่ใช่ตัวเลขที่สะท้อนถึงการแพร่กระจายทั่วไปในชีวิตประจำวัน แต่เป็นสัญญาณเตือนให้รับรู้ว่า คลัสเตอร์ใดที่ยังคงเป็นความเสี่ยง แนวโน้มที่พบคือ คลัสเตอร์แรงงานต่างชาติ ที่เป็นความเสี่ยงลักษณะคล้ายคลึงกับกลุ่มคลัสเตอร์ในสิงคโปร์ที่ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อโดยรวมพุ่งสูงขึ้น นั่นคือ กลุ่มแรงงานต่างชาติตามหอพักที่อาศัยอยู่กันอย่างแออัด และสิงคโปร์ไม่ได้คิดถึงการแพร่กระจายเชื้อจากภาคส่วนนี้มาก่อน
บทเรียนจากสิงคโปร์และตัวเลขที่พบ ทำให้ประเทศไทยมีเวลาที่จะตระหนักถึงการแก้ปัญหาทั้งแรงงานต่างชาติที่อยู่ในประเทศหรือคนไทยที่ไปค้าแรงงานและกำลังกลับมาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศมาเลเซียที่ควรจะได้รับการจัดการดูแลมากกว่านี้ ไม่ว่าด้วยการใช้ความร่วมมือระหว่างประเทศเข้าไปช่วยดูแล หรือการเตรียมความพร้อมในการหาสถานที่กักตัวเพื่อรับเข้ามา โดยตัวเลขของผู้ติดค้างมีเกือบหมื่นคน ทั้งขาดรายได้ อาหาร และเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ ขณะที่มาตรการที่รัฐนำมาใช้กับเป็นการปิดดินแดนกั้นการเข้ามาของเพื่อนร่วมชาติ โดยยินยอมให้เข้ามาเพียงหลักร้อยต่อวันเท่านั้น
ด้านแรงงานในประเทศ พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อพรรค ก้าวไกล ระบุว่า จากข้อมูลทางการล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แรงงานต่างชาติในประเทศน่าจะมีจำนวนมากถึง 2.9 ล้านคน กระจายอยู่ตามเมืองเศรษฐกิจของประเทศ แต่มาตรการที่เกี่ยวข้องกับแรงงานต่างชาติมีเพียงการต่ออายุใบอนุญาตการทำงาน จนถึงวันที่ 30 พ.ย. ยังคงไม่มีมาตรการอื่นที่ชัดเจน การเข้าถึงการตรวจหาโรคและรักษา มีเพียงแรงงานต่างชาติที่อยู่ในระบบหรือมีประกันสังคม ม.33 ประมาณ 1.17 ล้านคนเท่านั้น หมายความว่าแรงงานต่างชาติอีกประมาณ 1.73 ล้านคน รวมทั้งกลุ่มที่เข้าเมืองโดยผิดกฏหมาย จะไม่มีมาตรการใดๆ รองรับทั้งการตรวจและรักษาโรค
จากการลงพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครของพรรคก้าวไกล พบว่า เฉพาะในจังหวัดเดียวมีแรงงานต่างชาติมากถึง 2 แสนกว่าราย (ซึ่งเกือบเท่าจำนวนแรงงานต่างชาติในประเทศสิงคโปร์) ภายในชุมชน 43 แห่งในจังหวัด ล้วนแล้วแต่เป็นพื้นที่ที่มีความแออัดและเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคในลักษณะเดียวกับประเทศสิงคโปร์ แรงงานบางส่วนไม่สามารถเข้าถึงหน้ากากอนามัย รัฐบาลจึงควรมีแนวทางและมาตราการที่ชัดเจนในการดูแลคนกลุ่มนี้
ปัจจุบัน ความประเทศไทยสามารถคลี่คลายปัญหาจากคลัสเตอร์ต่างๆได้ดี ไม่ว่ากลุ่มนักเที่ยวที่มีการปิดสถานบันเทิง กลุ่มสนามมวยที่อาจติดมาจากต่างประเทศ การปิดประเทศที่ทำให้การรับเชื้อจากภายนอกควบคุมได้อีกทั้งลดภาระงานคัดกรองควบคุมโรคของบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุข และอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญคือ การออกมาตรการให้ช่วงสงกรานต์เป็นวันทำงานควบคู่มากับคำสั่งกึ่งปิดเมืองกรุงเทพฯ
แม้ว่าการล็อคไม่สนิทจะทำให้เกิดการกระจายออกของประชากรไปต่างจังหวัดบ้างในช่วงแรก แต่เมื่อผ่านช่วงสงกรานต์ซึ่งเป็นจุดวิกฤติมาได้ การนำเชื้อจากวัยทำงานกลับบ้านเกิดไปติดผู้สูงอายุที่ต่างจังหวัดจึงไม่เกิดขึ้น
เมื่อควบคุมปัจจัยต่างๆได้ดี มีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงต่อเนื่อง การผ่อนคลายล็อคดาวน์และยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จึงควรเกิดขึ้น ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องดูแลตนเองเมื่อออกจากบ้าน ไม่ว่าการล้างมือบ่อยๆหรือสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง ควรเปิดให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประเภทกระทำได้ โดยมีเงื่อนไขเรื่อง Socail Distancing มาประกอบพร้อมกับการนำ Active Search มาใช้ในการคุมคลัสเตอร์ใหม่ที่มีความเสี่ยงอย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องตัวเลขผู้ติดเชื้อที่สูงขึ้นจะเป็นความพ่ายแพ้ แต่ต้องถือเป็นชัยชนะในการพาผู้ป่วยเข้าสู่การรักษาในสถานการณ์ที่ระบบทางการแพทย์สามารถรับรองได้
14 ล้านคน คือตัวเลขที่คณะรัฐมนตรีมติให้ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อให้มาตรการ Socail Distancing สามารถทำงานได้ จำเป็นต้องมีการหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายด้าน มีทั้งออกมาเป็นคำสั่งจากภาครัฐโดยตรงหรือที่จำเป็นต้องหยุดเนื่องจากได้รับผลกระทบที่เชื่อมโยงเป็นลูกโซ่
ภายใต้มาตรการนี้ผู้ได้รับผลกระทบทันทีเป็นระลอกแรก คือ แรงงานนอกระบบที่ไม่นับรวมภาคเกษตรกร ซึ่งมีการประเมินไว้ว่าน่าจะมีตัวเลขประมาณ 14.5 ล้านคน แต่การตัดสินใจตั้งงบประมาณเพื่อให้มีการเยียวยา รัฐบาลกลับตั้งตัวเลขไว้เพียง 3 ล้านคนในครั้งแรก ต่อมา ขยายเป็น 9 ล้านคน และ 14 ล้านคนในที่สุด (จาก มติ ครม. ล่าสุด 28 เม.ย. ระบุว่า อาจเป็น 16 ล้านคน แต่ต้องรอผ่านการคัดกรองอีกครั้ง)
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าที่จะมีมาตรการความช่วยเหลือของรัฐออกมาเป็นมติ ครม. ในปลายเดือน มี.ค. หลายธุรกิจต่างรับผลกระทบมาแล้วตั้งแต่ปลายเดือน ธ.ค.ปีก่อน ล่วงมาถึงเดือนเมษายน หรือเป็นเวลากว่า 4 เดือน แล้ว เงินเยียวยา 5,000 บาทก้อนแรกเพิ่งถูกอนุมัติช่วยเหลือ
ที่เลวร้ายกว่านั้นคือ เงินก้อนนี้เพิ่งโอนไปให้ผู้ได้รับสิทธิเพียง 5 - 6 ล้านคนเท่านั้น (ก่อนจะมาเร่งใน 3 วันสุดท้ายของเดือนเมษายนที่น่าจะได้เงินใกล้เคีย 9 ล้านคน ) หมายความว่าผู้ได้รับผลกระทบระลอกแรก หรือภาคส่วนแรงงานนอกระบบอีกเกือบ 10 ล้านคน ที่ตกงานมาแล้วเกือบ 4 เดือน ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาแม้แต่บาทเดียว หรือหากนับจากมีมติให้เยียวยา ความล่าช้านี้ก็ล่วงมาเกือบหนึ่งเดือนแล้ว
สิ่งที่น่ากังวลกว่านั้น คือ ผลกระทบทางเศรษฐกิจระลอกสองได้เกิดขึ้นแล้วเช่นกัน ด้วยมาตรการล็อคดาวน์และประกาศคำสั่งตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้หลายกิจการ SME โรงงานขนาดกลางและเล็กหลายแห่งชะลอหรือกำลังปิดตัวลง แรงงานบางกลุ่มแม้ไม่ถูกเลิกจ้าง แต่ไม่ได้ค่าแรงจึงไม่สามารถรับเงินเยียวยาหรือชดเชยจากประกันสังคมได้ กลุ่มธุรกิจขนส่งไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการทางการเงินของรัฐ เพราะแหล่งทุน เช่น ไฟแนนซ์บอกว่าไม่ได้อยู่ในโครงการ หรือครูอัตราจ้างจำนวนหนึ่งไม่ได้รับทั้งเงินเดือนหรือเงินเยียวยา เป็นต้น
เหล่านี้เป็นเพียงบางส่วนของปัญหาเท่านั้น ในสถานการณ์วิกฤติ สิ่งที่ควรเกิดขึ้นโดยเร็วคือการเยียวยาถ้วนหน้า เพราะเป็นการยากอย่างยิ่งในการแยกแยะได้ว่าใครได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด ดังนั้น เงินช่วยเหลือควรลงไปก่อนแล้วค่อยมาคัดแยกภายหลังในส่วนที่ไม่ได้รับผลกระทบ เช่น กลุ่มข้าราชการหรือรัฐวิสาหกิจ มาตรการคัดคนเข้าไปเยียวยาไม่ใช่แนวทางที่ดีที่สุดในสถานการณ์เช่นนี้ เพราะท้ายที่สุดคือจะมีผู้ตกหล่นผู้คนจำนวนมาก
ผลจากความล่าช้าไม่ใส่ใจประชาชน ทำให้ปรากฏภาพของผู้คนที่สูญเสียงานและที่อยู่อาศัยต้องออกมาเร่ร่อนตามสวนสาธารณะ ภาพของผู้หิวโหยนับพันรอรับทานอาหารจากผู้มีจิตเมตตากลายเป็นเรื่องปกติอย่างไม่น่าอภัย ผลที่ตามมาอีกประการหนึ่งก็คือ การฆ่าตัวตายที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยที่ภาครัฐแทบจะไม่มีแม้โศกเศร้าหรือก้มหัวขอโทษถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเขาเลยแม้แต่น้อย
38 คือ จุดตัดสำคัญของจำนวนสถิติการตายจากโควิด 19 และการฆ่าตัวตายเท่ากันพอดีในวันที่ 21 เม.ย. ข้อมูลล่าสุดจาก โครงการวิจัยคนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นโครงการของ สกสว. ทีมวิจัยได้ติดตามจำนวนผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด19 และจำนวนผู้ที่ฆ่าตัวตายเพราะได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ เมื่อมาถึงถึงวันที่ 21 เมษายน พบว่ามีจำนวนเท่ากันพอดีที่ 38 ราย
หากพิจารณาเส้นกราฟนี้โดยละเอียดจะเห็นว่าอาจเป็นจุดตัดที่เส้นการเสียชีวิตจากโควิด 19 กำลังอยู่ในทิศทางขาลงสวนทางกับอีกเส้นการเสียชีวิตเพราะฆ่าตัวตายที่เป็นขาขึ้น
จากลักษณะของผู้ฆ่าตัวตาย แบ่งเป็น ชาย 27 หญิง 11 อายุเฉลี่ย 40 ปี อาชีพส่วนใหญ่เป็น ลูกจ้าง/ผู้ประกอบการอิสระ 35 ราย และเป็น เจ้าของ/ผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อย 3 ราย จะเห็นได้ว่าเป็นความซ้อนทับกับกลุ่มที่ได้รับผล กระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤติโควิด 19 ไม่ว่า กลุ่มลูกจ้าง แรงงานอิสระ กลุ่มคนจนเมือง รวมถึงผู้ประกอบการรายย่อย โดยส่วนใหญ่ของผู้ที่ฆ่าตัวตายอยู่ในวัยที่ต้องเป็นเสาหลักทำงานหาเลี้ยงครอบครัว เมื่อประสบกับการตกงานหรือขาดรายได้แบบเฉียบพลัน จึงทำให้เกิดแรงกดดันมหาศาลจนทำให้ตัดสินใจฆ่าตัวตาย (ซึ่งถ้าติดตามต่อการตายจากภาวะเศรษฐกิจอาจแซงการตายจากการติดเชื้อไปแล้วก็ได้)
ต่อกรณีนี้ นายแพทย์เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.พรรคก้าวไกล เสนอว่า นอกจากการช่วยเหลือและการเริ่มให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น น่าจะต้องมีการพักหนี้ภาคครัวเรือนรวมถึงธุรกิจขนาดกลางขนาดเล็กทั้งหมดแบบหยุดทั้งต้น ทั้งดอก เพื่อเป็นการต่อลมหายใจของคนที่ลำบากเหล่านั้น
“ตัวเลขเหล่านี้ คือคำถามถึงชัยชนะต่อโรคร้ายในสายตารัฐบาลว่า หากคนในประเทศต้องอดตายกันหมด เพื่อให้ยอดผู้ติดเชื้อลดลงเป็น 0 แล้ว... เราจะสามารถนับความสำเร็จนั้นเป็นชัยชนะได้อีกหรือ”
ร้อยละ 50 คือ เทคนิคการการก่อหนี้ผูกพันของกองทัพไทยเพื่อจองงบซื้ออาวุธไว้ก่อนไม่ให้ถูกตัดงบในอนาคต เป็นที่น่าสังเกตว่า เพื่อทอดเวลาให้การดำเนินการทางเทคนิคเหล่านี้เกิดขึ้น อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่ความล่าช้าในการเกลี่ยงบประมาณใหม่เพื่อจัดทำ ร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณ ซึ่งควรจะเสร็จสิ้นตั้งแต่เดือนมีนาคมแต่เวลานี้ยังไม่เข้าสู่การพิจารณาของสภาเสียที แม้จะสามารถเปิดสภาสมัยวิสามัญได้ก็ตาม เพราะงบประมาณก้อนใหญ่ก้อนนี้ควรมาใช้เยียวยาประชาชนได้รวดเร็วและเพียงพอ แต่มันกลับเกิดขึ้นน้อยกว่าที่ควรเป็น เพราะบางหน่วยงานยังคงไว้ซึ่งผลประโยชน์แห่งตน
จากรายงานการโอนงบประมาณ พบว่า การจัดซื้ออาวุธของกองทัพ กองทัพบกและกองทัพอากาศใช้วิธีเสมือนจ่ายมัดจำร้อยละ 50 ของการจ่ายเงินครั้งแรก เพื่อทำให้เกิดสัญญางบประมาณผูกพันให้ได้งบประมาณซื้ออาวุธได้ต่อไป ทั้งที่งบประมาณก้อนนี้สามารถตัดออกได้ทั้งหมดในสถานการณ์แบบนี้ และไม่ควรผูกพันงบประมาณเนื่องจากเป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าวิกฤติโควิด 19 จะยาวนานสืบเนื่องไปอย่างน้อยที่สุดหนึ่งปี
ตัวอย่างงบประมาณกองทัพบกที่จัดซื้ออาวุธลักษณะนี้ วิโรจน์ ลักษณาอดิสร โฆษกพรรคก้าวไกล ได้นำเสนอข้อมูลไว้ในเฟซบุ้ค ของเขา ดังนี้
โครงการ ทบ.1409 โครงการจัดซื้อเครื่องบินใช้งานทั่วไป เดิมตั้งงบผูกพันในปี 63 ไว้ 136 ล้านบาท ได้ลดงบผูกพันลดลง 50% เหลือ 68 ล้านบาท
โครงการ ทบ.1410 โครงการจัดซื้อเครื่องบินใช้งานทั่วไป เดิมตั้งงบผูกพันในปี 63 ไว้ 270 ล้านบาท ได้ลดงบผูกพันลง 50% เหลือ 135 ล้านบาท
โครงการ ทบ.1402 โครงการจัดซื้อปืนใหญ่ 105 มม. เดิมตั้งงบผูกพันในปี 63 ไว้ 187 ล้านบาท ได้ลดงบผูกพันลง 50% เหลือ 93.5 ล้านบาท
โครงการ ทบ.1403 โครงการจัดซื้ออาวุธประจำกาย ระยะที่ 3 เดิมตั้งงบผูกพันในปี 63 ไว้ 156 ล้านบาท ได้ลดงบผูกพันลง 50% เหลือ 78 ล้านบาท
โครงการ ทบ.1407 โครงการจัดหาวิทยุฯ เดิมตั้งงบผูกพันในปี 63 ไว้ 118 ล้านบาท ได้ลดงบผูกพันลง 50% เหลือ 59 ล้านบาท ฯลฯ
ส่วนโครงการกองทัพอากาศ เช่น โครงการ ทอ.176 จัดหาเครื่องบินฝึกทดแทน 12 เครื่อง โอนงบออกไป 50% โดยยังเหลือผูกพันในปี 63 อยู่ 519.5 ล้านบาท
จากข้อมูลของ วิโรจน์ พบว่า กรณีนี้ที่น่าปรบมือที่สุดคือ กองทัพเรือซึ่งตัดงบซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 และลำที่ 3 (โครงการ ทร.284) ออกไปทั้งหมดจนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลาย จึงจะนำมาพิจารณาใหม่ ทั้งนี้ พรรคก้าวไกลได้เคยมีข้อเสนอต่อกระทรวงกลาโหมว่า ควรต้องถูกตัดโอนงบประมาณในส่วนของรายจ่ายลงทุน 26,922 ล้านบาท จึงจะสมเหตุสมผล การตัดโอนงบประมาณมาเพียง 18,083 ล้านบาท ยังถือว่าน้อยกว่าระดับที่ควรจะตัดโอนได้อีกมาก และควรนำแนวคิดงบประมาณฐานศูนย์มาใช้ในการพิจารณาเลือกตัดโอนงบประมาณ นั่นคือ ตัดหรือคงไว้ตามความจำเป็น ไม่ใช่การตัดออกเป็นสัดส่วนร้อยละรายกระทรวงดังที่เป็นอยู่
26 เม.ย. 63 คือ วันครบรอบ 1 เดือน การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
“การแพร่ระบาดวันนี้แม้เราจะเจอหลักสิบ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราคุมมันได้ แม้จะเจอเป็นศูนย์ก็ต้องดูว่า ต้องศูนย์นานเท่าไร และต้องศูนย์ทั้งโลกจึงจะมั่นใจได้ รอบบ้านเราตัวเลขยังทะยานขึ้นเกือบทุกประเทศ เชื้อในอากาศเต็มไปหมด ถ้าใช้วิถีเดิมเรามีโอกาสจะกลับมาระบาดใหม่ได้ ที่เราลงทุนไปในช่วงหลายเดือนก็แทบจะไม่ช่วยอะไร จะศูนย์ทันทีทันใด”
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. นี่คือคำกล่าวของโฆษก ศบค. ในวาระครับ 1 เดือน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ชวนให้น่ากังวลว่า เราอาจจะต้องอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่บริหารโดยรัฐบาลประยุทธ์ ต่อไปอีกนานแสนนาน หลายเหตุการณ์ชี้ให้เห็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจและอาศัยความเข้าใจจากมุมของของเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น
ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พบว่า มีการดำเนินคดีกับผู้ที่นำอาหารไปบริจาคทั้งที่พวกเขาเพียงต้องการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ยามลำบากเท่านั้น มีการจับขังคนงานก่อสร้างที่จำเป็นต้องเดินทางระหว่างเคอร์ฟิว การไปจับขังคนไร้บ้านทั้งที่พวกเขามีความลำบากอยู่แล้ว ระหว่างนี้ยังมีการใช้กฎหมายไปปิดปากประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์ความผิดพลาดของรัฐบาลในสื่อสังคมออนไลน์ หรือกระทั่งใช้ข่มขู่จะจัดการกับนักศึกษาที่ต้องการเรียกร้องขอคืนค่าเทอม
ภาพของประชาชนไปรวมตัวกันรอรับอาหารบริจาคโดยไม่กลัวไวรัสมีมากขึ้นเรื่อยๆและกระจายออกไปในหลายจังหวัด เชื่อว่า แม้จะมีการต่ออายุกฎหมายพิเศษในท้ายที่สุดและใช้มันอย่างเข้มงวดเพียงใดก็ตาม มาตรการ Socail Ditancing ที่เคยทำได้ดีจะไม่เกิดขึ้นอีก เพราะประชาชนที่ท้องหิวย่อมไม่สนใจมาตรการของรัฐมากกว่าอาหารอีกมื้อหนึ่งและจะโกรธแค้นคนที่ทำให้พวกเขาต้องตกอยู่ในภาวะจำยอมนี้
น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้ความเห็นต่อกรณีว่า รัฐบาลสามารถใช้มาตรการทางสาธารณสุขควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสได้แล้วก็ควรยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อแทน การต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีกถูกสังคมตั้งคำถามว่า รัฐบาลอยากได้อำนาจอื่น ๆ ที่ไม่จำเป็นต่อการแก้ไขปัญหาโควิดมาใช้ด้วยใช่หรือไม่ จึงอยากให้รัฐบาลลองฟัง ทัศนะของ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการของสหประชาชาติ (UN) ที่ว่า การใช้มาตรการต่าง ๆ ที่อ้างถึงวิกฤติด้านสาธารณสุขโดยไม่เกี่ยวกับโรคระบาดเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ พื้นที่ประชาสังคมและเสรีภาพสื่อเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง จงอย่าลืมว่าภัยของเราคือไวรัส ไม่ใช่ผู้คน ดังนั้นการประกาศภาวะฉุกเฉินต่าง ๆ ต้องใช้เพื่อมาตรการทางสาธารณสุขที่มีเป้าหมายและระยะเวลาที่ชัดเจนโดยก้าวก่ายประชาชนให้น้อยที่สุด
นอกจากความเห็นของเลขาธิการของสหประชาชาติ น.อ. อนุดิษฐ์ ยังได้กล่าวถึง มิเชล บาเชเล (Michelle Bachelet) ข้าหลวงใหญ่ สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ที่แสดงความเป็นห่วงการที่รัฐบาลหลายประเทศนำการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งเป็นมาตรการรุนแรงมาใช้และทำให้เกิดผลกระทบอย่างมากต่อประชาชน เธอบอกว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ควรถูกใช้เพื่อกำจัดผู้เห็นต่าง ควบคุมประชาชน และทำให้ตนเองอยู่ในอำนาจได้นานขึ้น จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ของรัฐบาลจะเป็นการใช้อำนาจอย่างตรงไปตรงมาเพื่อรับมือกับภาวะฉุกเฉินอย่างสมดุลและเหมาะสม ควบคู่ไปกับการปกป้องสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม โดยมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือนที่ผ่านคงเป็นผลลัพธ์อันชัดเจนที่บ่งบอกว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ใช่ยาวิเศษในการแก้ปัญหาวิกฤตของชาติ แต่การบริหารประเทศที่มีวิสัยทัศน์ มีประสิทธิภาพ และเห็นแก่ประชาชนส่วนใหญ่ต่างหากที่จะช่วยให้พ้นวิกฤตินี้ไปได้
ตัวอย่างที่กล่าวถึงบ้างแล้ว เช่น เกาหลีใต้ ที่ใช้มาตรการ Active Search เพื่อรุกเข้าไปจัดการปัญหาเพื่อคืนสภาวะปกติให้ประชาชนกลับมาได้โดยไม่ต้องปิดเมือง ในกรณีของเยอรมันที่มีวิกฤติมาก ข้อมูลจากเพจ ธีรภัทร เจริญสุข สะท้อนให้เห็นว่า แม้ว่ายอดคนติดเชื้อยังคงพุ่งสูง เพราะตรวจเจออยู่ที่วันละประมาณ 2,000 คน แต่พวกเขาก็เลือกที่จะนำข้อมูลเชิงสถิติมาใช้ประกอบการตัดสินใจอย่างตรงไปตรงมา จากตัวเลขชี้ว่า พวกเขายังสามารถจำกัดการติดเชื้อของ 1 คนให้แพร่กระจายได้เพียง 0.7 คนโดยเฉลี่ย ซึ่งเป็นอัตราที่ระบบสาธารณสุขของเยอรมันสามารถรองรับได้ (ขณะที่ตัวเลขของไทย จากการคาดการณ์ของนายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ประเมินว่าน่าจะอยู่ที่ 0.6 ) จึงนำมาซึ่งมาตรการผ่อนคลายให้ร้านต่างๆเริ่มทยอยเปิดขึ้นได้ หากมีผลเปลี่ยนแปลง มาตรการสามารถเปลี่ยนไปตามสถิติที่ชี้วัดมีที่มาที่ไป
ทั้งนี้ การวางเป้าหมายไม่ใช่การติดเชื้อเหลือ 0 แล้วจึงค่อยเปลี่ยนแปลงมาตรการ เพราะนั่นเป็นเสมือนการวางเป้าไว้กับอนาคตอันเลื่อนลอย ในขณะที่ความจริงยังมีปัญหาปากท้องที่ที่รอการจัดการด่วนรออยู่ตรงหน้า
ในสถานการณ์วิกฤติ การจัดการปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าจะเข้มกฎหมายแค่ไหน แต่อยู่ที่จะรักษาชีวิตคนเพื่อให้ดำรงอยู่ได้อย่างมีหวังและพร้อมจะเดินทางไปข้างหน้าโดยเห็นอนาคตร่วมกันได้อย่างไร..ไม่ใช่หรือ