ทว่าร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กลับมาเจอ ‘หล่มใหญ่’ เมื่อกลุ่ม ‘พรรคจิ๋ว’ ดิ้นสู้เฮือกสุดท้าย ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าสูตรคำนวณแบบหาร 100 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ด้วยความมุ่งหวังจะนำสูตรคำนวณหาร 500 กลับมาให้ได้ เผื่อว่าสมัยหน้าตัวจะได้กลับเข้าสภาฯ ด้วย
ในระหว่างที่ ‘คำตอบสุดท้าย’ ของศาลรัฐธรรมนูญยังเป็นปริศนา ‘วอยซ์’ คุยกับ สุขุมพงศ์ โง่นคำ คณะทำงานด้านกฎหมายพรรคเพื่อไทย ชวนวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทุกทางที่จะเกิดขึ้นหลังศาลมีคำวินิจฉัย ซึ่งผลลัพธ์อาจมีได้ ตั้งแต่ ‘แลนด์สไลด์’ จนถึง ‘ทางตัน’
ที่มาของการแก้กฎหมายเลือกตั้ง หรือที่เรียกกันว่า ‘กฎหมายลูก’ นั้น เริ่มจากการแก้ไข ‘กฎหมายแม่’ ซึ่งก็คือรัฐธรรมนูญ เมื่อ 24 มิ.ย. 2564 มีการเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญเข้ามาถึง 13 ฉบับ มีทั้งเสนอแก้ไขที่มาของนายกรัฐมนตรี ไปจนถึงตัดอำนาจ ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ และอื่นๆ แต่ก็ถูกตีตกไปทั้งหมด
รัฐสภาเลือกรับหลักการร่างที่เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์เพียงร่างเดียว ซึ่งมุ่งแก้ไขระบบเลือกตั้ง โดยย้อนไปใช้ระบบคล้ายกับปี 2540 คือ มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ใบหนึ่งสำหรับเลือกตั้ง ส.ส.เขต และอีกใบสำหรับเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) จำนวน ส.ส.ในสภาจึงถูกปรับเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน
อย่างไรก็ตาม การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ยังมีความไม่สมบูรณ์ หรือ ‘ไม่สะเด็ดน้ำ’ หลายฝ่ายวิจารณ์ว่าเป็นเพราะรัฐธรรมนูญแก้ไม่ครบทุกมาตราที่เกี่ยวข้องกับระบบเลือกตั้ง ทำให้ผลลัพธ์ที่ออกมายังมีความขัดแย้งกับบางมาตราที่ไม่ได้แก้
จตุพร เจริญเชื้อ ส.ส.เพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการฯ พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ มองว่าร่างของพรรคประชาธิปัตย์ขอแก้ไขแค่ 2 มาตรา คือมาตรา 83 แก้จากบัตร 1 ใบ เป็น 2 ใบ แก้จำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ โดยไม่ได้ขอแก้ไขมาตราอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น มาตรา 86 ว่าด้วยวิธีการได้มาซึ่งจำนวน ส.ส.เขตพึงมี และการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่เพื่อให้ได้ ส.ส.เพิ่ม อีกทั้งที่เสนอแก้ไขมาตรา 91 การคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อแต่ละพรรค เสนอยกเลิกวิธีคำนวณทั้งหมด กลับไปใช้วิธีคำนวณให้สอดคล้องกับบัตร 2 ใบ แต่ไม่ได้ระบุวิธีคำนวณให้ได้ ส.ส. 100 คน เพียงระบุสั้นๆ ว่าให้ไปใส่ในกฎหมายลูก ซึ่งฟังดูไม่น่าไว้ใจ
ด้าน สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. ก็สำทับว่า “การแปรญัตติในวาระที่สอง ต่อให้เทวดามาแปรญัตติก็ถึงทางตัน เพราะแก้แล้วยังขัดกับมาตราที่ไม่ได้แก้” เช่น มาตรา 93, 94 ยังคงระบุถึงวิธีได้มาของ ส.ส.บัญชีรายชื่อในรูปแบบบัตรใบเดียวอยู่เลย
แต่จนแล้วจนรอด ร่างแก้ของพรรคประชาธิปัตย์ก็ลอยลำผ่านมาทั้ง 3 วาระของสภา นำมาสู่การแก้ไขกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้งเพิ่มเติม – ทั้งที่รัฐธรรมนูญยังแก้ไม่สมบูรณ์นั่นแหละ
สุขุมพงศ์ มองว่าการแก้ไขมาตรา 91 ว่าด้วยสูตรคำนวณ ส.ส.ให้เป็นแบบหาร 100 เป็นระบบที่จะเอื้อให้พรรคขนาดใหญ่มีโอกาส ‘แลนด์สไลด์’ ได้มากขึ้น พร้อมทั้งตัดโอกาสที่พรรคขนาดเล็กจะได้เข้าสภา พร้อมจำนวนคะแนนเสียงต่อเก้าอี้จะเพิ่มขึ้นด้วย แต่มาตรานี้กลับเป็นช่องโหว่ถูกโจมตีว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็สืบเนื่องมาจากแก้ไขรัฐธรรมนูญคราวที่ผ่านมาไม่ครบถ้วน โดยแก้ไขมาตรา 91 แต่กลับไม่ได้แก้มาตรา 92-93 ทำให้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญขัดกันเอง
“มาตรา 92-93 ต้องตัดทิ้งไปเลย ไม่ต้องเอามาใช้ เพราะแยกกันเด็ดขาด ไม่เกี่ยวข้องกันแล้ว แต่กลับไม่ยอมตัดทิ้ง เพราะเห็นว่าเกินหลักการการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้รัฐธรรมนูญขัดกันเอง จะแก้อย่างไรก็ขัดกัน แก้ตาม 92-93 ก็ขัดกับ 91 แก้ตาม 91 ก็ขัดกับ 92-93 ไม่มีทางที่จะตรงกันได้” สุขุมพงศ์ อธิบาย
และเมื่อมีการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความแล้ว สุขุมพงศ์ มองว่าผลลัพธ์ที่เป็นไปได้มีอยู่ 4 แนวทางใหญ่ๆ
ส่วน สุขุมพงศ์ มองว่าการแก้ไขมาตรา 91 ว่าด้วยสูตรคำนวณ ส.ส.ให้เป็นแบบหาร 100 ซึ่งจะเอื้อให้พรรคขนาดใหญ่มีโอกาส ‘แลนด์สไลด์’ ได้มากขึ้น พร้อมทั้งตัดโอกาสที่พรรคขนาดเล็กจะได้เข้าสภา พร้อมจำนวนคะแนนเสียงต่อเก้าอี้จะเพิ่มขึ้นด้วย แต่มาตรานี้กลับเป็นช่องโหว่ถูกโจมตีว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ซึ่งก็สืบเนื่องมาจากแก้ไขรัฐธรรมนูญคราวที่ผ่านมาไม่ครบมาตรา โดยแก้ไขมาตรา 91 แต่กลับไม่ได้แก้มาตรา 92-93 ให้เสร็จ ซึ่งยังทำให้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญขัดกันเอง
“มาตรา 92-93 ต้องตัดทิ้งไปเลย ไม่ต้องเอามาใช้ เพราะแยกกันเด็ดขาด ไม่เกี่ยวข้องกันแล้ว แต่กลับไม่ยอมตัดทิ้ง เพราะเห็นว่าเกินหลักการการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้รัฐธรรมนูญขัดกันเอง จะแก้อย่างไรก็ขัดกัน แก้ตาม 92-93 ก็ขัดกับ 91 แก้ตาม 91 ก็ขัดกับ 92-93 ไม่มีทางที่จะตรงกันได้” สุขุมพงศ์ อธิบาย
แล้วต่อไปจะทำอย่างไร? – สุขุมพงศ์ ชี้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีหลักการตีความอยู่ คือเมื่อกฎหมายที่ออกมาภายหลังแล้วต่างจากกฏหมายเดิม โดยยังไม่ได้ยกเลิกกฎหมายเดิม หลักการคือให้ยึดตามกฎหมายที่ออกมาให้ กฏหมายใหม่จะไปแก้ของเก่าโดยปริยาย
หากศาลรัฐธรรมนูญใช้หลักการนี้ กฎหมายเลือกตั้งจะได้ ‘คลอด’ ออกมาพร้อมสูตรคำนวณหาร 100 บัตร 2 ใบ
ตรงกันข้าม หากศาลวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ – สถานการณ์จะยิ่งวุ่นวายอีกหลายเท่า
ข้อเท็จจริงปรากฏอยู่แล้วว่า หากตีความตามถ้อยคำของกฎหมาย มาตรา 91 จะขัดกับมาตรา 92-93 และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมองว่าส่วนนี้เป็นสาระสำคัญของกฎหมาย จะส่งผลให้กฎหมายเลือกตั้งทั้งฉบับเป็นอันตกไป เท่ากับที่แก้ไขมาทั้งหมดก็สูญเปล่า
สิ่งที่จะเกิดต่อไปคือ รัฐสภาต้องพิจารณาว่าจะสามารถเสนอแก้กฎหมายเลือกตั้งกลับเข้ามาใหม่ได้หรือไม่ ซึ่ง สุขุมพงศ์ เห็นว่าต่อให้เสนอเข้ามาก็ขัดกับกฎหมายแม่อย่างรัฐธรรมนูญอยู่ดี (เพราะรัฐธรรมนูญก็ขัดกันตั้งแต่แรก)
ง่ายสุดคือย้อนกลับไปใช้รัฐธรรมนูญแบบเดียวกับการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 คือใช้สูตรหาร 500 และบัตรเลือกตั้งใบเดียวด้วย คือทุกอย่างกลับไปเหมือนเดิมหมด ราวกับไม่เคยมีการแก้ไข – วิธีนี้ไม่ยากเย็น เพราะปรับเปลี่ยนเพียง 3 มาตราเท่านั้น
การคำนวณคะแนนของ ส.ส.แบบสุดซับซ้อนเทียบบัญญัติไตรยางค์ 16 ชั้นก็จะกลับมาเช่นกัน
ส่วนตัว สุขุมพงศ์ มองว่า ประเด็นสูตรคำนวณเป็นสาระสำคัญ แต่ก็เป็นไปได้ว่าศาลอาจจะมองว่าไม่ใช่สาระสำคัญ เช่นนั้นก็จะตีตกไปเฉพาะมาตรา 91 ที่เป็นปัญหา ซึ่งว่าด้วยสูตรคำนวณแบบหาร 100
“ก็ต้องนำมาตรา 91 แบบเก่าที่ยังไม่ได้แก้ไขมาใช้ ซึ่งก็ทำไม่ได้อีก เนื่องจากขัดกับรัฐธรรมนูญ ยิ่งขัดกันไปใหญ่” สุขุมพงศ์ย้ำถึงความยุ่งเหยิงที่จะตามมา “ก็มีวิธีเดียวคือต้องตีความว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แบบที่ผมว่า”
เหตุการณ์ที่บรรดานักการเมืองต่างเป็นห่วงที่สุดคือ ในระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีคำวินิจฉัยกฎหมายเลือกตั้งออกมา แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชิงใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาเสียก่อน นั่นจะทำให้ทิศทางของการเลือกตั้งตกอยู่ในมือของ 2 ฝ่ายหลักทันที คือ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และรัฐบาล
นำไปสู่อีก 2 ทางแยกที่เป็นไปได้หลังยุบสภา ซึ่ง วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เคยออกปากไว้ว่า จะเลือกทางไหนก็ “ขึ้นเขียง” ทั้งนั้น
ทางที่ 4.1) ออกระเบียบเลือกตั้ง – กกต. คุมเกม
เป็นทางที่เซียนกฎหมายหลายคนมองว่าอาจเกิดขึ้นได้ แต่ก็มีโอกาสที่ กกต. จะไม่กล้าออกระเบียบเพราะกลัวความเสี่ยง เมื่อวันที่ 29 ส.ค. มีรายงานจาก กกต. ออกมายืนยันเองเลยว่า หากเกิดเหตุยุบสภาขณะที่กฎหมายเลือกตั้งยังไม่มีผลบังคับใช้นั้น ในทางกฎหมาย กกต.ไม่มีอำนาจจะจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติม จนมี 400 เขตเลือกตั้งได้
“มีหลายคนแสดงความเห็นว่า สามารถให้ กกต. ออกประกาศหรือระเบียบแทนได้ หรือให้ออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แทนได้ แต่ไม่มีใครกล้าเสี่ยง เพราะจะเป็นการเอาชาติบ้านเมืองไปเสี่ยงด้วย ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดควรจะรอให้กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้ง 2 ฉบับประกาศใช้ก่อน” รายงานส่วนหนึ่งระบุ
สุขุมพงศ์ เองก็ประเมินว่า กกต. จะไม่กล้าออกระเบียบ ดังนั้นจึงอาจจะเข้าทางรัฐบาล
ทางเลือกที่ 4.2) ใช้ พ.ร.ก. – รัฐบาลคุมเกม
เมื่อมีการยุบสภาเกิดขึ้นก่อนกฎหมายเลือกตั้งบังคับใช้จริง การให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ออก พ.ร.ก.เพื่อเดินหน้าเลือกตั้งจะเข้าทางรัฐบาลมากที่สุด เพราะสามารถคุมเกมได้อย่างค่อนข้างเบ็ดเสร็จ แม้ วิษณุ ยังถึงขั้นมองว่า การออก พ.ร.ก.อาจจะไม่ยุ่งยาก เนื่องจากสามารถนำเนื้อหาในร่างกฎหมายเลือกตั้งที่ ครม. เคยเห็นชอบแล้วมาจัดทำได้
“แต่วิธีนี้ผมไม่เห็นด้วย เพราะเกรงว่าจะมีการไปปรับแก้อะไรอีก แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีออกระเบียบหรือออก พ.ร.ก. อาจจะถูกใช้เป็นบรรทัดฐานในอนาคตได้”
คำพูดนี้อาจตีความได้ว่า พ.ร.ก.อาจออกกติกาการเลือกตั้งมาให้ฝ่ายรัฐบาลได้เปรียบหรือไม่?
จากนั้น วิษณุ ยังยืนยันอีกหลายหนว่า ตอนนี้ยังไม่มีเหตุให้ยุบสภา แต่ใครเล่าจะเดาใจ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ คงต้องจับตาดูหลังการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคจบลง ว่าจะมีการยุบสภาจริงอย่างที่ลือกันหรือไม่
เมื่อถึงเวลานั้น นอกจากสนามเลือกตั้งจะอยู่ในมือรัฐบาลแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ยังมีสิทธิรักษาการนายกฯ ได้อีกยาวด้วย
ขณะที่ สมชัย ศรีสุทธิยากร มองว่าสถานการณ์จะเป็นการมัดมือชก เพราะแม้ไม่หลายฝ่ายจะไม่เห็นด้วยกับการออก พ.ร.ก. สุดท้ายก็ต้องยอมรับอยู่ดี ไม่เช่นนั้นจะไม่มีวันได้เลือกตั้ง ไม่มีทางอื่น
คำว่า ‘ทางตัน’ ที่สุขุมพงศ์ ขู่เอาไว้ – จึงดูเหมือนจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ