ไม่พบผลการค้นหา
กรมอุทยานฯ แจ้งความดำเนินคดีชาวบ้านบางกลอย ข้อหาครอบครอง ก่นสร้าง เผาป่า ฯลฯ แต่นักกฎหมาย-นักวิชาการตั้งข้อสงสัย เข้าข่าย 'ล้างแค้น-จองล้างจองผลาญ' หรือไม่ หลังจาก จนท.กรมอุทยานแพ้คดีที่ชาวบ้านยื่นฟ้องในชั้นศาลปกครองเมื่อปี 2559

วันที่ 28 ก.ค. 2563 นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวถึงกรณีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มอบอำนาจให้กับนายอรรถพงษ์ เกาอ่อน และ น.ส.เนตรนภา งามเนตร แจ้งความดำเนินคดีกับชาวบ้านบางกลอย ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี รวม 4 ราย ได้แก่ 1.นายแจ พุกาด 2.นายหมี ต้นน้ำเพชร 3.นายดูอู้ จีโบ้ง 4.นายบุญชู พุกาด ที่ สภ.แก่งกระจาน โดยระบุว่าอาจเข้าข่าย 'จองเวร'

“ผมคิดว่าการแจ้งความดำเนินคดีกับชาวบ้านครั้งนี้เป็นการจองล้างจองผลาญกับชาวบ้านมากกว่า ผมไม่แน่ใจว่าเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ที่ไปแจ้งความได้รับมอบหมายจากอธิบดีหรือไม่ แต่การจองเวรกันเช่นนี้อาจเป็นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองสูงสุดบอกชัดว่าชาวบ้านอยู่มาหลายร้อยปีและเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ดังนั้นการดำเนินการครั้งนี้ของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ อาจมีความผิดเสียเอง”

นายสุรพงษ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ชาวบ้าน 4 คนที่ถูกแจ้งความในครั้งนี้ เป็นกลุ่มเดียวกับที่เคยยื่นฟ้องกรมอุทยานฯ ซึ่งเคยเผาบ้านชาวบ้าน โดยชาวบ้านทั้ง 4 คนได้ร่วมกับนายโคอี้ มีมิ หรือ 'ปู่คออี้' และนายกื้อ พุกาด รวมเป็น 6 คน ยื่นฟ้องศาลปกครองว่าถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานรื้อเผาทำลายทรัพย์สินเมื่อปี 2554

และเมื่อเดือน ก.ย. 2559 ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่รัฐกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีคำสั่งให้จ่ายค่าเสียหายให้กับชาวบ้านทั้ง 6 คน (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว 2 คนคือปู่คออี้, นายกื้อ)

แม้ศาลปกครองสูงสุดตัดสินไปแล้วว่าเจ้าหน้าที่ทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และต้องจ่ายค่าเยียวยาให้ชาวบ้านทั้งหมด 6 ราย อีกทั้งในคำพิพากษายังบอกให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2553 ในการฟื้นฟูและคุ้มครองวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง แต่กลับไม่ปฎิบัติตาม แถมยังดำเนินคดีกับชาวบ้านอีก ถือว่าเป็นการขัดคำสั่งศาลสูงสุด

นายสุรพงษ์กล่าวว่า อยากฝากไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยว่าหากมีการกลั่นแกล้งหรือหาเรื่องกัน ก็ควรให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้านด้วย และไม่ควรเป็นเครื่องมือของเจ้าหน้าที่ 

ส่วนข้อกล่าวหาที่มีต่อชาวบ้านทั้ง 4 รายในครั้งนี้ ได้แก่ ยึดถือหรือครอบครองที่ดิน รวมถึงก่นสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า

นายบุญชู พุกาด ชาวบ้านบางกลอย 1 ใน 4 รายที่ถูกกรมอุทยานฯ แจ้งความดำเนินคดีในครั้งนี้กล่าวว่า ยังรู้สึกงุนงงและไม่ทราบว่าถูกแจ้งความดำเนินคดีเรื่องอะไร โดยก่อนหน้านี้ศาลปกครองสูงสุดได้สั่งให้กรมอุทยานฯ ชดใช้ค่าเสียหายให้กับตน เป็นเงิน 45,000 บาท ซึ่งภายหลังจากที่กรมอุทยานฯ จ่ายเงินให้กับชาวบ้านแล้ว ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงการกระทำของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในครั้งนั้น เพื่อดำเนินการเรียกเงินคืนจากเจ้าที่หน้ารัฐที่ทำให้ราชการเสียหาย

อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวไม่มีการแถลงให้สังคมรับทราบ และยังเป็นที่สงสัยของฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เมื่อมีการแจ้งความกับชาวบ้านทั้ง 4 คนในครั้งนี้ ทำให้มีผู้เชื่อมโยงว่าเป็นการหาแนวทางในการต่อสู้ของเจ้าหน้าที่รัฐบางราย

ด้านนายเพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า เรื่องนี้ควรรับฟังข้อมูลจากทุกฝ่าย ไม่ใช่ตัดสินว่าชาวบ้านทั้ง 4 คนบุกรุกตามข้อกล่าวหา เพราะการที่เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจสนธิกำลังขึ้นไปทำลายข้าวของของชาวบ้าน แถมยังกล่าวหาแจ้งความดำเนินคดีกับชาวบ้านอีก โดยคนที่ถูกกล่าวหาแทบไม่มีโอกาสได้ชี้แจง แถมยังออกข่าวใหญ่โตจนสังคมเข้าใจผิด ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและไม่ให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้าน เมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งออกมาแล้ว แต่ก็ยังไม่จบ ซึ่งตนไม่อยากให้เป็นเรื่องของการล้างแค้นกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: