วันนี้ (15 มกราคม 2568) นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ได้มอบนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 เพื่อให้หัวหน้าส่วนราชการทั้งส่วนกลางและภูมิภาค รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบนโยบายหลักเกณฑ์และแนวทางในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 ตามนโยบายรัฐบาล เพื่อนำไปปฏิบัติ ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติ โดยมีหัวหน้าหน่วยงานราชการจากทั้งส่วนกลาง ภูมิภาค รัฐวิสาหกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมด้วย
นายกรัฐมนตรี ย้ำถึงจุดประสงค์สำคัญในการจัดทำงบประมาณปี 2569 โดยต้องทำให้ทุกคนมองเห็นภาพเดียวกัน ว่าจะร่วมกันเปลี่ยนแปลงความท้าทายของการพัฒนาประเทศให้เป็นความหวัง และเป็นโอกาสให้ประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้ตรงจุดได้ โดยวางแผนการใช้งบฯปี 2569 ที่มีอยู่อย่างจำกัดให้มีประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากที่สุด ผ่านการยกระดับมาตรฐานการทำงานของภาครัฐให้ตอบสนองกับโลกในศตวรรษที่ 21
ทั้งนี้ ได้ตั้งเป้าหมายด้วย “การเติบโตทางประสิทธิผล” หรือ “Efficiency GROWTH” ต้องใช้งบฯให้แม่นยำ ทำงานให้ตรงเป้าหมายดังนี้
(1) ไม่ลดสัดส่วนงบลงทุน และอุดหนุนเพื่อสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
(2) ไม่เพิ่มงบดำเนินงาน เน้นเพิ่มประสิทธิผล แต่ไม่เพิ่มงบประมาณ
(3) ไม่เพิ่มอัตรากำลังเน้นพัฒนากำลังคนของเราที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพ และดูแลด้านสวัสดิการให้ทั่วถึง และเท่าเทียม
นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงความท้าทายที่ประเทศไทยเผชิญทั้งภายในและภายนอกประเทศ เช่นการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม ด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงเศรษฐกิจของไทยที่เติบโตต่ำกว่าศักยภาพมานาน หลายปี ส่งผลให้รายได้ของคนไทยโตไม่ทันรายจ่าย นำไปสู่ปัญหาหนี้ที่รุนแรง และเรื้อรัง เช่นเดียวกับปัญหาของคนทำมาค้าขาย ที่ต้องรับมือกับทั้งปัญหาด้านสภาพคล่องและการจ้างงาน นอกจากนี้ ยังมีปัญหาด้านคุณภาพชีวิต สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่ยังรอการแก้ไขอีกหลายเรื่อง
อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรี กล่าวเชื่อมั่นในประเทศไทยและคนไทยที่มีศักยภาพ ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนจะสามารถสร้าง “การเติบโตด้านประสิทธิผล” หรือ “Efficiency GROWTH” เพื่อช่วยกันแก้ปัญหาเร่งด่วนให้คนไทย ทำให้พี่น้องประชาชนกินดีอยู่ดี เร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ทำให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างสมศักดิ์ศรี
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงการจัดทำงบประมาณฯ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ ตามของนโยบายรัฐบาล ทั้งการปัญหาแก้หนี้ครัวเรือนทั้งระบบ และ Digital Wallet ด้านการท่องเที่ยว ด้านอุตสาหกรรม ด้านการต่างประเทศ ด้านเกษตร ด้านพลังงาน โครงสร้างพื้นฐาน รวมไปถึงนโยบายด้านสังคม โดยรัฐบาลจะสร้างโอกาสที่เสมอภาคทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคม ในส่วนของงบประมาณจะต้องสะท้อนความตั้งใจที่จะดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน ด้านการศึกษารัฐบาลจะนำโครงการ ODOS กลับมา ทั้งในรูปแบบโครงการหนึ่งอำเภอ หนึ่งทุน Summer Camp รวมทั้งโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งโรงเรียนต้นแบบ พร้อมกับพัฒนาระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น ทั้งในระบบและนอกระบบ ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เน้นทักษะที่ใช้ประโยชน์ได้จริง เพื่อสร้างรายได้ (Learn to Earn) และได้ตั้งเป้าเอาไว้ว่า ประเทศไทยจะต้องไม่มีเด็กไทยหลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนจบการศึกษาภาคบังคับ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว เพื่อเตรียมคนในประเทศให้พร้อมรองรับการพัฒนาประเทศและโอกาสต่าง ๆ ที่เข้ามาจากบริษัทหรือผู้ประกอบการจากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนและประกอบกิจการในประเทศไทย ทั้งนี้ ต้องเร่งสร้างโอกาสให้มากขึ้นโดยเร็ว
สำหรับด้าน Soft Power รัฐบาลจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาทักษะอาชีพ Upskill และ Reskill คนไทย เพื่อให้คนไทยเป็นพลเมืองที่คุณภาพของโลกในศตวรรษที่ 21 ด้วยนโยบาย 1 ครอบครัว 1 Soft Power (OFOS) ด้านที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย รัฐบาลต้องการเห็นการใช้ทรัพยากรภาครัฐอย่างคุ้มค่า โดยเฉพาะในเรื่องที่ดิน ที่จะสนับสนุนคนไทยจะต้องเข้าถึงสิทธิที่ดินเพิ่มขึ้น แก้ปัญหาที่ดินทับช้อน รวมถึงการดำเนิน โครงการ “บ้านเพื่อคนไทย” (Public Housing) ที่จะทำให้การมีบ้านของตัวเอง
สำหรับปัญหาด้านยาเสพติด & อาชญากรรม/อาชญากรรมออนไลน์ รัฐบาลต้องการแก้ปัญหาที่บั่นทอนคุณภาพชีวิตประชาชนคนไทย ด้วยวิธีการที่เด็ดขาด รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ สำหรับด้านสิ่งแวดล้อม รัฐบาลต้องการให้พี่น้องประชาชนทุกหมู่บ้านสามารถเข้าถึงน้ำสะอาด มีน้ำเพียงพอที่จะทำการเกษตร รวมถึงการแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งลดลง ซึ่งรัฐบาลได้มีการวางแผนไว้เรียบร้อยแล้วทั้งระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว
ส่วนด้านความมั่นคง/กองทัพ ประเทศไทยจะต้องมีความมั่นคงทางด้านทหาร กองทัพจะต้องมีประสิทธิภาพ และใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิผล โดยเน้นการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการดูแลความมั่นคงของประเทศ ปรับขนาดองค์กรให้มีความคล่องตัว และสอดคล้องกับภารกิจ พร้อมทั้งเร่งเปลี่ยนผ่านรูปแบบการเกณฑ์ทหารไปสู่แบบสมัครใจ
ด้านการบริหารรัฐกิจ
(1) กฎระเบียบต่าง ๆ ที่ไม่ถูกทบทวนมายาวนาน 20-30 ปี และไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้แต่ละกระทรวงได้ดำเนินการแก้ไขกฎระเบียบและแก้กฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน พร้อมทั้งยกเลิกกฎหมายและขั้นตอนที่ไม่จำเป็น เพื่อเอื้อต่อการประกอบธุรกิจในประเทศ (Ease of Doing Business)
(2) E-Government ประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ นิติธรรม เพื่อรับมือกับข้อจำกัดทางด้านงบประมาณ และการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชน จะต้องมุ่งสู่การเป็น Digital Government เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานด้วยนโยบาย “Go Cloud First” รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ร่วมคิดเห็นและมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไป ว่า นโยบายสำคัญของรัฐบาลทั้งนโยบายเร่งด่วน นโยบายระยะกลาง และระยะยาว ถูกกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2569 ครอบคลุมทุกประเด็น ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณจำนวน 3,780,600 ล้านบาท ที่เพิ่มขึ้นจากปี 2568 ได้ไม่มากนัก แต่มีรายจ่ายที่จำเป็นต้องจ่ายจำนวนมาก
ดังนั้น ในการขอรับการจัดสรรงบประมาณ ขอให้ทุกหน่วยงานพิจารณาปรับเพิ่มขึ้นเท่าที่จำเป็น จะต้องไม่เป็นการเพิ่มรายจ่ายประจำ ทั้งนี้ ด้วยข้อจำกัดของวงเงินงบประมาณขอให้ใช้โอกาสนี้ร่วมมือกันเปลี่ยนแปลงการทำงานของภาครัฐ ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดทำงบประมาณ และการใช้จ่ายงบประมาณ ให้เป็นไปอย่างประหยัด และคุ้มค่าที่สุด เกิดประโยชน์ทุกบาททุกสตางค์กับประชาชนอย่างแท้จริง รวมทั้งขอให้ทุกคนปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 24 ธันวาคม 2567 เรื่องแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2569 - 2672) อย่างเคร่งครัด ดังนี้
(1) ให้กระทรวงการคลัง ดำเนินการจัดเก็บรายได้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยให้เทียบเคียงการดำเนินการ กับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใกล้เคียงกับประเทศไทย เพื่อให้ภาครัฐมีงบประมาณที่เพียงพอ สำหรับการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญต่าง ๆ
(2) ให้หน่วยรับงบประมาณ ใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลมากที่สุด เพื่อให้มีความคุ้มค่า ประหยัด และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ทั้งนี้ ในการจัดทำคำขอรับการจัดสรรงบประมาณ ให้เสนอขอรับงบประมาณเท่าที่จำเป็นเท่านั้น โดยให้ความสำคัญกับโครงการลงทุนของภาครัฐ ด้วย
(3) ให้หน่วยรับงบประมาณ ที่มีเงินนอกงบประมาณ เงินรายได้ หรือเงินสะสม นำเงินดังกล่าวมาใช้ดำเนินโครงการ ภารกิจในความรับผิดชอบเป็นลำดับแรก รวมทั้งพิจารณาแหล่งเงินอื่น เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินโครงการตามความเหมาะสมด้วย เช่น เงินกู้ PPP เพื่อลดภาระงบประมาณในภาพรวมของประเทศ
(4) ให้กระทรวง และรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งให้รัฐวิสาหกิจ พิจารณาลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อจูงใจให้ภาคเอกชน และนักลงทุนจากต่างประเทศ เข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มมากขึ้นด้วย
“สิ่งสำคัญที่พูดคุยกันในวันนี้ ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องการจัดทำงบประมาณของปี พ.ศ. 2569 แต่ยังรวมถึงเป้าหมาย และวิธีการ ที่ราชการจะช่วยกันเปลี่ยนงบประมาณของประเทศ ให้เป็นความหวัง และโอกาสของประเทศชาติ และประชาชน ทำให้ประชาชนเชื่อมั่นว่า ข้าราชการเกือบ 2 ล้านคน จะดูแลคนไทยทั้ง 66 ล้านคนด้วยความใส่ใจ โดยการใช้จ่ายเงินงบประมาณทุกบาททุกสตางค์อย่างคุ้มค่า ซึ่งหวังว่าการจัดทำงบประมาณ และบูรณาการ งบประมาณในมิติพื้นที่จะทำให้แผนงานโครงการของงบประมาณปี 2569 เป็นงบประมาณที่ช่วยเติมความหวัง สร้างโอกาส และวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาว” นายกรัฐมนตรีให้นโยบาย