วันที่ 9 พ.ย. 2566 ที่อาคารรัฐสภา รอมฎอน ปันจอร์ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ชี้แจงกรณีเมื่อวานนี้ (8 พ.ย.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้จัดเสวนาความมั่นคงเพื่อตอบโต้เรื่องประเด็นการยุบ กอ.รมน. และได้เชิญ รอมฎอน ไปร่วม แต่ไม่ได้ไป โดยระบุว่า เพิ่งรู้ว่าตัวว่าได้รับคำเชิญจากรุ่นพี่ที่ทำงานอยู่ใน กอ.รมน. มาแสดงความเห็นในเฟซบุ๊กใต้โพสต์
รอมฎอน กล่าวว่า ตนเองนึกว่าเป็นการชวนขำๆ ให้มาร่วมเสวนาแบบไม่เป็นทางการ ซึ่งตนมีภารกิจประชุมเรื่องคณะกรรมาธิการวิสามัญสันติภาพชายแดนใต้ ตอบรับก็ลำบาก แต่ยินดีอย่างยิ่ง ที่จะไปร่วมงานครั้งหน้า อีกครั้งถ้ามีการจัด ตอนนี้กำลังหารือในคณะกรรมาธิการ ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่คนสนใจ ไม่แน่ว่าจะจัดเสวนาที่สภาฯ และเชิญหน่วยปฏิบัติ พร้อม กอ.รมน. มาสนทนากับเรา ซึ่งวันนี้ในกมธ.ความมั่นคงฯ เราได้สอบถามหน่วยงานข้างเคียง ให้ช่วยประเมิน กอ.รมน. ทั้งที่เห็นด้วยจะยุบหรือไม่ยุบ แต่ไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด
ส่วนข้อคำถามที่ว่ามีการตั้งประเด็นจากทางกอ.รมน. ว่าไม่เห็นความชัดเจนถึงประเด็นที่กล่าวหาว่าทหารใหญ่กว่าพลเรือน นั้น รอมฎอน ระบุ เราดีเบตได้ ซึ่งบ่ายวันนี้ก็จะชี้แจงผ่านข้อเขียนออกมา ทั้งนี้ ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ให้คำรับรองร่างกฏหมาย แล้วโยนกลับมาให้สภาฯ พิจารณาต่อ
รอมฏอน ยังย้ำว่า จากการที่ตนได้พูดคุยกับหลายหน่วยงานรวมถึงคนของ กอ.รมน. เอง เห็นตรงกันว่าถ้าเราสนับสนุนขีดความสามารถของหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้เป็นแม่งาน ในการประสานงาน อาจจะมีประสิทธิภาพกว่ากองทัพ และ กอ.รมน.เองด้วยซ้ำ เพราะรู้งานมากกว่า และรู้ความละเอียดซับซ้อนของงานมากกว่า
ส่วนกังวลว่าการที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็น ผอ.รมน. จะทำให้ร่างกฎหมายล่าช้าหรือไม่ รอมฎอน ระบุว่า ไม่ได้กังวลขนาดนั้น เข้าใจดีว่าตามโครงสร้าง ผอ.รมน. ต้องเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ท่าทีของท่านต่อร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ อาจจะเป็นปัญหา เพราะอาจจะเร็วไปซักนิด คิดว่าถ้ารัฐบาล มีที่ปรึกษาที่ตรงไปตรงมา มีคนที่รับผิดชอบงานความมั่นคงอย่างจริงจังอย่างรอบด้าน คิดว่าท่าทีของรัฐบาลจะต้องระมัดระวังพอสมควร ต้องแยกแยะและให้ความสำคัญกับรัฐบาลพลเรือนกับกองทัพว่าต้องทำอย่างไร และจะแบ่งบทบาทระหว่างฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติอย่างไร
ถ้าจะถกเถียงกัน ควรเป็นอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร ปัญหาติดที่ว่าประธานสภาผู้แทนราษฎร ตีความว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเงิน ความจริงไม่เกี่ยวข้องกับงบประมาณขนาดนั้น ซึ่งไม่กังวลเศรษฐา มาเป็น ผอ.รมน. ต้องระมัดระวัง
ส่วนข้อเสนอไม่ยุบ กอ.รมน แต่ให้เปลี่ยนบทบาทนั้น รอมฎอน ระบุว่า ก็รับฟังได้ และพร้อมจะถกเถียง แต่สำหรับพรรคก้าวไกลไม่เห็นความจำเป็นขนาดนั้น เพราะภารกิจที่ว่ามา หน่วยงานอื่นสามารถทำได้ และสามารถพัฒนาขีดความสามารถได้ถ้ายังไม่พอ ทหารต่างหากที่ควรมีหน้าที่เป็นมืออาชีพ ทำงานที่มีเชี่ยวชาญเฉพาะ
รอมฏอร ยกข้อความที่ อดิศร เพียงเกษ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปรัฐบาล เขียนไว้ว่า"คืนทหารให้ทหาร" คือคำถามว่าทหาร ปกติทำอะไร จึงเป็นข้อเรียกร้อง
"ผมได้ยินเสียงสนทนาจากเพื่อนๆ พี่ๆ ที่เป็นทหารเองหรือแม้แต่ กอ.รมน. ว่าสิ่งที่ควรจะทำ ไม่ได้ทำ สิ่งที่ควรจะเน้น ไม่ได้เน้น เราต้องการทหารมืออาชีพ และมีความเชี่ยวชาญเฉพาะ มีภารกิจที่จำกัดแน่นอน แต่ตอนนี้ไม่ได้เป็นอย่างนั้น คำถามคือต้องย้อนกลับ มาว่าหัวใจ จริงๆ ของกองทัพคืออะไร งานภารกิจหลักคืออะไร คงจะมีประโยชน์ และสามารถถกเถียงกันได้" รอมฏอน กล่าว