ไม่พบผลการค้นหา
การศึกษาพบว่า โครงการปลูกป่าในพื้นที่ขนาดใหญ่มักเป็นการปลูกพืชชนิดเดียว และมักมีการปลูกต้นไม้แทนพื้นที่ป่า ซึ่งจะทำลายสิ่งแวดล้อมมากกว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

การศึกษาจำนวนมากเคยระบุว่า ต้นไม้จะช่วยดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนได้ปริมาณมหาศาล ซึ่งจะช่วยโลกปัญหาโลกร้อนและสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงได้ จึงทำให้หลายประเทศเห็นว่า การปลูกป่าจะช่วยแก้ไขวิกฤตนี้ได้ ปัจจุบันมีประมาณ 40 ประเทศที่อนุมัติโครงการและแคมเปญปลูกป่า 

อย่างไรก็ตาม นิตยสารทางวิชาการ “ความยั่งยืนของธรรมชาติ” เพิ่งตีพิมพ์งานวิจัย 2 ฉบับที่เตือนว่า การปลูกป่าขึ้นมาใหม่จะต้องทำอย่างระมัดระวังมาก ไม่เช่นนั้นจะเกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม

นักวิทยาศาสตร์จากแสตนฟอร์ดเตือนไม่ให้ประเทศต่างๆ รีบไปปลูกป่าขนาดใหญ่ เพราะเกือบร้อยละ 80 ของการปลูกต้นไม้ในแคมเปญชวนปลูกป่าอย่าง Bonn Challenge เป็นการปลูกพืชชนิดเดียวหรือพืชไม่กี่ชนิด ซึ่งมีผลผลิต เช่น ผลไม้หรือยาง มากกว่าจะเป็นการฟื้นฟูป่าธรรมชาติ และการปลูกป่าทำให้การดูดซับคาร์บอนน้อยลงและการสร้างถิ่นที่อยู่ของสัตว์ป่าน้อยกว่าป่าธรรมชาติอย่างมีนัยสำคัญ

นักวิจัยได้สังเกตการให้เงินกระตุ้นเจ้าของที่ดินให้ปลูกต้นไม้ และพบว่าการให้เงินกระตุ้นเป็นปัจจัยสำคัญให้มีจำนวนต้นไม้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น ชิลีมีการสนับสนุนเงินร้อยละ 75 ของการปลูกป่าตั้งแต่ปี 2517-2555 ถือเป็นนโยบายเพิ่มพื้นที่ป่าที่กลายเป็นแบบอย่างของหลายประเทศทั่วโลก แต่เนื่องจากกฎหมายไม่ได้ครอบคลุมป่าที่มีอยู่เดิม ทำให้เจ้าของที่ดินบางคนตัดต้นไม้เดิม แล้วปลูกต้นไม้ใหม่เข้าไปเพื่อให้ได้กำไรมากขึ้น

การศึกษานี้พบว่า โครงการให้เงินปลูกป่าเพิ่มพื้นที่ที่ปกคลุมด้วยต้นไม้ได้มากขึ้น แต่กลับลดพื้นที่ที่เป็นป่าดั้งเดิม จากที่ป่าดั้งเดิมของชิลีมีระบบนิเวศน์ที่อุดมสมบูรณ์และกักเก็ยก๊าซคาร์บอนได้ปริมาณมหาศาล โครงการช่วยเงินปลูกป่ากลับไม่ช่วยกักเก็บคาร์บอนเพิ่ม และยิ่งทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลงอย่างรวดเร็วขึ้นด้วย

ศ.เอริก แลมบิน ผู้ร่วมเขียนงานวิจัยจามหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดกล่าวว่า หากออกแบบนโยบายใช้เงินกระตุ้นการปลูกต้นไม้ไม่ดีหรือนำนโยบายมาปฏิบัติไม่ดี ก็มีความเสี่ยงที่จะสูญเสียเงินภาษีโดยที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนมากขึ้นและสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นผลตรงข้ามกับจุดประสงค์ของนโยบายเหล่านี้

อีกงานวิจัยหนึ่งคำนวณว่า ป่าที่เพิ่งปลูกใหม่สามารถดูดซับปริมาณก๊าซคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศได้เท่าไหร่ โดยนักวิจัยระบุว่า จากการเก็บตัวอย่างดินกว่า 11,000 ชุดในพื้นที่ทางตอนบนของจีนที่รัฐบาลสั่งให้มีการปลูกป่าอย่างจริงจัง เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงและลดฝุ่นจากทะเลทรายโกบี พบว่า การปลูกต้นไม้ใหม่ๆ ในดินที่มีคาร์บอนต่ำช่วยเพิ่มความหนาแน่นของก๊าซคาร์บอนได้ แต่การปลูกต้นไม้ใหม่ในดินที่อุดมด้วยก๊าซคาร์บอนอยู่แล้ว จะทำให้ความหนาแน่นของก๊าซคาร์บอนลดลง ดังนั้น สมมติฐานที่เคยมีการประเมินว่า การปลูกต้นไม้ใหม่จะดูดซับก๊าซคาร์บอนได้เท่าไหร่ก็มีแนวโน้มว่าจะเป็นการประเมินสูงเกินจริง

ดร.เฉินอันผิง หัวหน้าทีมวิจัยนี้จากมหาวิทยาลัยมลรัฐโคโลราโดกล่าวว่า พวกเขาหวังว่า คนจะเข้าใจเรื่องการปลูกป่าไม่ใช่เรื่องการปลูกต้นไม้เทานั้น การปลูกป่าเกี่ยวข้องกับรายละเอียดทางเทคนิคหลายอย่าง การรักษาสมดุลด้านต่างๆ และไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องสภาพภูมิอากาศได้ทั้งหมด

ที่มา : BBC, Science Daily

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: