ไม่พบผลการค้นหา
ถ้าวันนี้ (19 ส.ค. 2563) 'บรรหาร ศิลปอาชา' อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ยังมีชีวิตอยู่ มังกรการเมืองผู้มีบทบาทสำคัญในการเมืองไทยจะมีอายุครบ 88 ปี เทียบเท่ากับชีวิตพัฒนาการระบอบ 'ประชาธิปไตย' ของไทยที่มีอายุเข้าสู่ปีที่ 88

88 ปีที่แล้ว 'บรรหาร ศิลปอาชา' อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย และอดีตประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา เกิดเมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2475 ที่ห้องแถวไม้ 2 ชั้นที่เปิดเป็นร้านขายผ้าเล็กๆ ภายในตลาดทรัยพ์สิน ต.ท่าพี่เลี้ยง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมาได้เพียง 2 เดือนกว่าเท่านั้น

เจ้าของฉายา 'มังกรการเมืองแห่งสุพรรณฯ' อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดทางการเมืองด้วยการเป็นประมุขฝ่ายบริหารของประเทศ หลังนำพรรคชาติไทย ชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2538 นำพรรคครองเสียง ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร มากที่สุด 92 ที่นั่ง รองลงมาคือ พรรคประชาธิปัตย์ 86 ที่นั่ง พรรคความหวังใหม่ 57 ที่นั่ง พรรคชาติพัฒนา 53 ที่นั่ง พรรคพลังธรรม 23 ที่นั่ง พรรคกิจสังคม 22 ที่นั่ง พรรคประชากรไทย 18 ที่นั่ง พรรคนำไทย 18 ที่นั่ง พรรคเสรีธรรม 11 ที่นั่ง พรรคเอกภาพ 8 ที่นั่ง และพรรคมวลชน 3 ที่นั่ง

รัฐบาลบรรหาร ประกอบด้วยพรรคร่วมรัฐบาล 6 พรรค คือ พรรคชาติไทย พรรคความหวังใหม่ พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย พรรคพลังธรรม และพรรคมวลชน

ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปี 2538 พรรคชาติไทย ภายใต้การนำของ 'บรรหาร' ได้ชูธงจะปฏิรูปการเมืองด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534

หนังสือ 'บรรหาร ศิลปอาชา เล่าเรื่องครั้งสุดท้าย' ซึ่งตีพิมพ์เมื่อเดือน พ.ย. 2559 เรียบเรียงและสัมภาษณ์โดย 'ภัทระ คำพิทักษ์' และ 'อินทรชัย พาณิชกุล' ได้เขียนบันทึกประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญผ่านการสัมภาษณ์ 'บรรหาร' ก่อนที่ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 21 จะถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2559

บรรหาร -B1FA-4F71-8084-048FA1B7FE3B.jpeg
  • มรดกทางการเมืองทรงคุณค่า ผ่าน หนังสือ ‘บรรหาร ศิลปอาชา เล่าเรื่องครั้งสุดท้าย’

"นโยบายปฏิรูปการเมือง" คือคำตอบที่ 'บรรหาร' ได้บอกว่าก่อนถึงแก่อนิจกรรมกับหนังสือเล่มดังกล่าวว่า นี่คือปัจจัยที่ทำให้เขาได้เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2538

ด้วยความคิดเรื่องปฏิรูปการเมืองเกิดขึ้นหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2534 ไอเดียเกิดจาก 'ศ.อมร จันทรสมบูรณ์' อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาได้นำเสนอข้อเขียนเรื่อง 'รัฐธรรมนูญ : โครงสร้างและกลไกกฎหมาย' ซึ่งเห็นว่ารัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ขณะนั้นล้าหลังกว่าที่ควรจะเป็นถึง 50 ปี

เมื่อ 'บรรหาร' นำพรรคชาติไทยรณรงค์หาเสียงโดยประกาศว่าจะปฏิรูปการเมืองด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 เพื่อเป็นกุญแจดอกสำคัญในการเปิดประตูไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

"หากเลือกพรรคชาติไทยเป็นรัฐบาล ผมจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 เพื่อดำเนินการปฏิรูปการเมือง" เป็นสัญญาประชาคมที่ 'บรรหาร' ได้ประกาศไว้ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2538

เมื่อ 'บรรหาร' ได้เป็นนายกรัฐมนตรี เขาได้แถลงนโยบายของรัฐบาลต่อที่ประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2538

'บรรหาร' ได้ประกาศเป็นสัญญาประชาคมในที่ประชุมรัฐสภาเป็นข้อแรกไว้ว่า 1.1การพัฒนาสถาบันการเมืองและกาารจัดทำแผนพัฒนาการเมือง

1.1.1 จัดทำแผนพัฒนาการเมืองที่สอดคล้องกับนโยบายแห่งรัฐและปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยดำเนินการปฏิรูปการเมืองเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารราชการแผ่นดินและตรวจสอบทางการเมือง

1.1.2 สนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 211  ทั้งนี้โดยคำนึงถึงข้อเสนอของคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย

บรรหาร สมัคร ชวลิต 9-4232-92BB-736366B2786D.jpeg
  • รัฐบาลผสม บรรหาร ศิลปอาชา กับ 6 พรรคร่วมรัฐบาล (ภาพจาก หนังสือ 'บรรหาร ศิลปอาชา เล่าเรื่องครั้งสุดท้าย')

หลังเข้ารับตำแแหน่งนายกฯ 'บรรหาร' ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 118/2538 แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง (คปก.) เพื่อจัดทำแผนพัฒนาการเมืองให้สอดคล้องกับแนวนโยบายแห่งรัฐและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และให้เสนอแนวทางและวิธีการปฏิรูปการเมืองและดำเนินการแก้ไขประเด็นการปฏิรูปการเมืองเร่งด่วนและให้พิจารณาแนวทางดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 211 โดย คปก. มี 'ชุมพล ศิลปอาชา' เป็นประธาน คปก. กรรมการ คปก.มีทั้งหมด 35 คน

'บรรหาร' เคยออกปากในห้องทำงานนายกรัฐมนตรีถึงความคืบหน้าการปฏิรูปการเมืองว่า "ทำไมไม่เร่งรัดเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เร็วกว่านี้"

ทว่าทีมงานบางคนระบุุว่า "เรื่องนี้เป็นเรื่องยากผลักดันไปก็อาจจะไม่สำเร็จ ควรจะค่อยๆ ทำกันไปจนกว่าจะหมดรัฐบาลก็ได้"

แต่ 'บรรหาร' ตอบกลับไปว่า "เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมได้พูดออกไปแล้ว จำเป็นต้องทำให้สำเร็จให้จงได้ ไม่เช่นนั้นแล้ว ผมจะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน ให้เร่งรัดดำเนินการเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน ไม่ใช่เป็นเพื่อการหาเสียง สิ่งที่เราพูดไปตอนหาเสียงนั้น ถึงอย่างไร เราก็ต้องทำให้สำเร็จ ผมพูดไปแล้ว ต้องทำได้ให้"

นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินหน้าแก้ไขมาตรา 211 เพื่อเปิดทางให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ด้วยความเป็นผู้นำของ 'บรรหาร'

แม้ครั้งหนึ่ง 'บรรหาร' จะเคยถูกโจมตีว่า 'บรรหารตระบัดสัตย์ ไม่จริงใจแก้ไขรัฐธรรมนูญ' ภายในหอประชุมเล็ก ม.ธรรมศาสตร์ แต่ในที่สุด คปก. ที่ 'บรรรหาร' ตั้งขึ้นมาก็ได้ยกร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 211 ส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) นำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาได้

แผนพัฒนาการเมืองของ คปก.ได้เสนอ 4 กรอบ อาทิ เรื่องการเข้าสู่อำนาจของ ส.ส. ส.ว. รัฐมนตรี ฝ่ายตุลาการและข้าราชการประจำระดับสูง 

คปก.ยังเสนอระบบและวิธีการเลือกตั้งใหม่โดยปรับเปลี่ยนให้ระบบเลือกตั้ง ส.ส. เป็นแบบระบบเขตเดียวคนเดียวเสียงข้างมากสูงสุดรอบเดียว ผสมกับระบบสัดส่วนบัญชีรายชื่อของผู้สมัครของพรรคการเมือง โดยเชื่อว่าระบบนี้จะทำให้พรรคการเมืงอเข้มแข็งขึ้นและเปิดโอกาสให้คนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาสู่ระบบการเมืองได้มากขึ้น พร้อมทั้งขยายอำนาจให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นองค์กรอิสระ

บรรหาร 1935_1309529745740421_3763482738083261501_n.jpg
  • บรรหาร ศิลปอาชา นายกฯ คนที่ 21 กับ 'โภคิน พลกุล' รมต.ประจำสำนักนายกฯ

เมื่อรัฐสภาได้พิจารณาร่างของ คปก. ก็มีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมายกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมี 'ชัยอนันต์ สมุทวณิช' เป็นประธาน

แม้ช่วงท้ายของรัฐบาลบรรหาร จะต้องเผชิญกระแสกดดันของพรรคร่วมรัฐบาลระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น แต่ทว่า 'บรรหาร' ก็ยังมุ่งมั่นผลักดันเรื่องการปฏิรูปการเมืองด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 211

กระทั่งที่ประชุม ครม.เห็นชอบให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยให้มีคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย ผู้แทนประชาชน กลุ่มสาขาอาชีพต่างๆ ผู้แทนพรรคการเมือง ส.ว. นักวิชาการ รวม 67 คน มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

โรดแมปการนำเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในรัฐบาลบรรหารได้ประสบผลสำเร็จ เมื่อที่ประชุมรัฐสภาได้ลงมติรับหลักการในวาระแรก เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2539 และที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบในวาระที่สองเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2539

ในที่สุุดการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 ก็สำเร็จในวาระที่สามเมื่อครั้งการประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ 3 สมัยวิสามัญ ครั้งที่หนึ่ง เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2539  โดยมีการเลือก 'สภาร่างรัฐธรรมนูญ' มาทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

สภาร่างรัฐธรรมนูญ ชุดนี้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 99 คน มี 'อุทัย พิมพ์ใจชน' เป็นประธาน ส.ส.ร.

แม้รัฐบาลบรรหารจะสิ้นสุดลงจากการยุบสภาเมื่อปี 2539 แต่สภาร่างรัฐธรรมนูญชุดดังกล่าวก็ยังทำหน้าที่และยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้เป็นผลสำเร็จจำนวน 339 มาตรา

โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่เป็นผลผลิตจากนโยบายปฏิรูปการเมืองอย่างแข็งขันของ 'บรรหาร' ก็รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในวันที่ 7-8 พ.ค. 2540 ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ โดยมีมติเห็นชอบ 89 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 33 คน เพื่อพิจารณาในวาระที่สอง โดยมี 'อานันท์ ปันยารชุน' เป็นประธาน มี 'บวรศักดิ์ อุวรรณโณ' เป็นเลขานุการ

15 ส.ค. 2540 สภาร่างรัฐธรรมนูญมีมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญที่ปรับลดเหลือ 336 มาตราด้วยมติเห็นชอบ 92 เสียง ไม่เห็นชอบ ไม่มี และงดออกเสียง 4 เสียง

4-10 ก.ย. 2540 ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ และรอการพิจารณาลงมติไว้อีก 15 วัน กระทั่งวันที่ 27 ก.ย. 2540 รัฐสภาจึงลงมติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ... ด้วยมติเห็นชอบ 578 เสียง ไม่เห็นชอบ 16 เสียง และงดออกเสียง 17 เสียง

11 ต.ค. 2540 'วันมูหะมัดนอร์ มะทา' ประธานรัฐสภาขณะนั้น 'มีชัย ฤชุพันธุ์' ประธานวุฒิสภา พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี 'ชวน หลีกภัย' ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร 'อุทัย พิมพ์ใจชน' ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทูลเกล้าฯ ถวายร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา โดยมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 11 ต.ค. 2540 เป็นต้นไป

เพื่อไทย สมพงษ์ ฝ่ายค้าน ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ  เสรีรวมไทย ประชาชาติ 98-484A-92F6-B4367EE099F3.jpeg
  • พรรคร่วมฝ่ายค้านในปัจจุบันยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เปิดทางตั้ง ส.ส.ร.อีกครั้ง

ด้วยกระแสกดดันจากธงเขียวทั่วประเทศมีส่วนผลักดันให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 211 จนเกิดเป็นรัฐธรรมนููญ ฉบับปี 2540 ซึ่งถือเป็นกฎหมายสูงสุดฉบับที่ 16 ของประเทศ

แม้จะมีอายุการใช้เพียง 8 ปี 11 เดือน 9 วัน และเป็นเหตุให้สิ้นสุดถูกฉีกลงจากการรัฐประหารโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549

ทว่า รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 ก็ถูกยกย่องว่าเป็นฉบับของประชาชน และดีที่สุดอีกฉบับหนึ่ง ซึ่ง 'บรรหาร' มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ขึ้นมา

ถือเป็นมรดกทางการเมืองชิ้นสำคัญก่อนที่ 'มังกรการเมืองจะคืนสู่ฟ้า' ทั้งที่ในอีกไม่กี่เดือน ‘มังกรการเมืองสุพรรณฯ’ จะมีอายุครบ 84 ปี

อ้างอิง - หนังสือ 'บรรหาร ศิลปอาชา เล่าเรื่องครั้งสุดท้าย (ตีพิมพ์เมื่อ พ.ย. 2559)

บรรหาร -4B2A-9C1F-B1E646EB7EA2.jpeg
  • ภาพประกาศเชิญร่วมบำเพ็ญกุศล 88 ปีชาตกาล 'บรรหาร'

ข่าวที่เกี่ยวข้อง