ไม่พบผลการค้นหา
กรมสุขภาพจิต แนะพ่อแม่ผู้ปกครองให้ปฏิบัติตามคำแนะนำจากองค์การอนามัยโลกล่าสุด เน้นให้ลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง เพิ่มการเคลื่อนไหวทางกายภาพ และควบคุมการใช้จออย่างเข้มงวดในเด็กก่อนอายุ 5 ปี

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า จากรายงานขององค์การอนามัยโลก พบว่า ผู้ใหญ่มากกว่าร้อยละ 23 และวัยรุ่นมากกว่าร้อยละ 80 มีกิจกรรมทางกายภาพที่ไม่เพียงพอและพฤติกรรมเนือยนิ่งมากเกินไป กรมสุขภาพจิตขอแนะนำผู้ปกครองที่ดูแลบุตรหลาน ปฏิบัติตามคำแนะนำจากองค์การอนามัยโลกฉบับล่าสุดที่ออกประกาศใช้เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมุ่งเน้นการละพฤติกรรมเนือยนิ่ง เช่น การนั่งเฉยๆ ไม่ทำอะไร การนั่งติดกับสายรัดกับรถเข็นเด็ก หรือการนั่งดูโทรทัศน์หรือเครื่องมือสื่อสารที่มีหน้าจอประเภทต่างๆ 

แต่ควรเพิ่มพฤติกรรมที่มีการเคลื่อนไหว ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และต่อเนื่องระหว่างช่วงเวลาที่เด็กตื่น เน้นการหลับอย่างมีคุณภาพ และการควบคุมเวลาหน้าจออย่างเข้มงวด เพื่อพัฒนาการทางด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีของเด็ก

โดยในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปีควรมีกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวหลายครั้งต่อวัน โดยเฉพาะการเล่นบนพื้น หากยังเคลื่อนไหวได้ไม่ดี ควรมีการนอนคว่ำแบบตะแคงหน้าอย่างน้อยครั้งละ 30 นาทีหลายครั้งต่อวัน ในช่วงเวลาที่ตื่นไม่ควรให้นอนนิ่งๆ หรือล็อกติดกับรถเข็นเด็กนานเกิน 1 ชม. นอนหลับรวม 14 - 17 ชม. ในเด็ก 0 - 3 เดือน และ 12 - 16 ชม. ในเด็ก 4 - 11 เดือน มีควรใช้หน้าจออย่างเด็ดขาดทั้งโทรทัศน์ และเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ประเภทต่างๆ

ส่วนเด็กอายุ 1 - 2 ปี ควรมีกิจกรรมทางกายอย่างน้อย 180 นาทีต่อวัน หรือมากกว่า ไม่ควรให้นั่งนิ่งๆ หรือ ล็อกติดกับเก้าอี้ หรือรถเข็นเด็กนานเกิน 1 ชม. ควรนอนหลับรวม 11 - 14 ชม. ต่อวัน ไม่ควรใช้หน้าจออย่างเด็ดขาดในเด็กอายุ 1 ปี สำหรับเด็กอายุ 2 ปี ควรจำกัดเวลาไม่เกิน 1 ชม.ต่อวัน โดยยิ่งใช้เวลาหน้าจอน้อยยิ่งส่งผลดีต่อเด็ก และในเด็กอายุ 3 - 4 ปี ควรนอนหลับรวม 10 - 13 ชม. ต่อวัน ตลอดจนควรจำกัดเวลาหน้าจอไม่เกิน 1 ชม.ต่อวัน โดยยิ่งใช้เวลาหน้าจอน้อยยิ่งส่งผลดีต่อเด็ก

ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิต ได้แนะนำพ่อแม่ให้ชักชวนให้ลูกเล่นมากขึ้นแทนการอยู่หน้าจอ การเล่นของเด็กจะเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาวามฉลาดทางปัญญา อารมณ์ และสังคมไปพร้อมกัน เน้นการส่งเสริมกระตุ้นให้เด็กได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เช่น อ่านหนังสือ หรือเล่านิทานให้เด็กฟัง เล่นบทบาทสมมติโดยใช้อุปกรณ์ต่างๆ รอบตัว เล่นต่อเพลงหรือต่อนิทานคนละประโยค เล่นของเล่นอย่างอิสระ ออกไปสัมผัสธรรมชาติภายนอก

นอกจากนี้ ควรฝึกให้ลูกรู้จักการสังเกต ตั้งคำถาม และคอยตอบคำถามของลูกด้วยความใส่ใจและความรัก การส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมทางสุขภาพที่ดี ควรทำตั้งแต่เด็กเล็ก เพื่อให้เกิดพฤติกรรมติดตัวที่จะส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต