คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานก่อตั้งสถาบันสร้างไทย ให้สัมภาษณ์ก่อนร่วม เวทีสาธารณะ "บทบาทรัฐสภาในการโหวตแก้รัฐธรรมนูญ 7 ญัตติ กับจุดเปลี่ยนประเทศไทย" ว่า ตลอดระยะเวลาที่ทำงานการเมืองมาวิกฤตการเมืองครั้งนี้น่าหนักใจมาก เพราะไม่ใช่แค่การเมืองสีเสื้อแต่เป็นความขัดแย้งระหว่างช่วงวัยของคนในประเทศ ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจที่หนักหน่วงด้วย ขณะที่นายกรัฐมนตรีไม่รับฟังข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมหรือระหว่างก็ไม่ดำเนินการแก้ไข หากปล่อยไว้สุ่มเสี่ยงที่จะมีความรุนแรงและหากใช้วิธีการรุนแรงหรือรัฐประหาร ในการแก้ปัญหายิ่งจะซ้ำเติมวิกฤตให้ประเทศล่มสลายได้
โดยคุณหญิงสุดารัตน์ เสนอทางออกจากวิกฤตเป็นบันได 3 ขั้นคือ
1.) ต้องมีคณะกรรมการแสวงหาทางออกประเทศ โดยมีกฎหมายรองรับเพื่อความไว้เนื้อเชื่อใจ ให้เป็นเวทีคนเห็นต่างรวมถึงนายกรัฐมนตรีได้คุยกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะทำตัวเป็นคนกลางไม่ได้ เพราะเป็นคู่ขัดแย้ง โดยกำหนดเวลาขั้นตอนนี้ 3-5 เดือนให้ได้ข้อสรุป
2.) เร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยพิจารณาทั้ง 7 ร่าง ทั้งของรัฐบาลของฝ่ายค้าน และของภาคประชาชน ให้เเล้วเสร็จในต้นเดือนธ.ค. 2563 และเร่งเลือกตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)
3.) เมื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ตัดอำนาจสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในการเลือกนายกรัฐมนตรีผ่านวาระ 3 แล้ว นายกรัฐมนตรีควรลาออก และจัดเลือกตั้งใหม่ไม่เกินต้นปี 2564 โดยรัฐบาลใหม่ควรมีภารกิจเดียวคือ สนับสนุนให้มีการร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยและเป็นของประชาชน ในขั้นตอนนี้ควรใช้เวลาราว 8 เดือน เพื่อเลือกตั้งในช่วงปลายปี 2564
ด้าน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนร่วมเสวนาว่า ขณะนี้สัญญาณจากรัฐบาลยังสับสนต่อข้อเรียกร้องผู้ชุมนุม โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเข้าสภาวันที่ 17-18 พ.ย.นี้ ส่วนตัวคาดว่าจะไม่ผ่านทุกร่างที่ถูกเสนอเข้าไป ดังนั้นหากอยากได้กติกาใหม่ต้องร่วมกันผลักดัน แม้นายกรัฐมนตรีไม่ลาออกแต่ถ้าร่วมแก้ปัญหาและส่งสัญญาณให้ชัดเจนสถานการณ์ก็จะคลี่คลาย ส่วนข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบัน ก็ยังไม่มีท่าทีว่ารัฐบาลจะนำเรื่องนี้ออกมาจัดการ ดังนั้นหากสถานการณ์การเมืองยังเป็นเหมือนเดิม มีโอกาสสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรง
อ่านเพิ่มเติม