ไม่พบผลการค้นหา
‘ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย’ เสนอข้อเรียกร้อง เยียวยาอดีต ความขัดแย้ง เปิดพื้นที่แสดงความคิดเห็นในปัจจุบัน ก้าวสู่อนาคต แก้รัฐธรรมนูญ

ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย (ภรป.) เสนอข้อเรียกร้องต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณา เรื่อง 'เยียวยาอดีต เปิดพื้นที่ในปัจจุบัน ก้าวสู่อนาคตร่วมกัน : ข้อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณา โดย ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย' ระบุว่า เนื่องด้วยมีญัตติที่ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และการใช้อำนาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามมาตรา 44 ซึ่งรวมไปถึงการศึกษาผลกระทบและหาแนวทางแก้ไขผลจากประกาศและคำสั่งคณะปฏิวัติคณะต่าง ๆ และศึกษาผลกระทบและความเหมาะสมของกฎหมายที่บัญญัติโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อหาแนวทางปรับแก้ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองในปัจจุบัน ขณะที่ยังมีญัตติสำคัญที่ต้องพิจารณาในลำดับถัดไปคือ การขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งรวมไปถึงการศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน นั้น

ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยเห็นว่าทั้งสองเรื่องนี้มีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างสำคัญ โดยสะท้อนไว้ซึ่งเจตนารมณ์ที่ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย และยังเป็นหนทางสู่การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ในสังคมไทยภาคีฯ จึงขอเสนอหลักการต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณา ดังนี้

1. เยียวยาอดีต ความขัดแย้งทางการเมืองของไทยที่ผ่านมามีผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนไม่น้อย กระบวนการที่ผ่านมาไม่สามารถสร้างความปรองดองได้ ซ้ำร้ายยังกลายเป็นเงื่อนไขที่ทำให้การปรองดองไม่เกิดขึ้น ทั้งนี้ บาดแผลจากความรุนแรงดังกล่าวฉุดรั้งศักยภาพของผู้คนในสังคมให้จมอยู่กับความเจ็บปวดและไม่สามารถก้าวต่อไปข้างหน้าได้ ยิ่งไปกว่านั้นศักยภาพในการก้าวต่อไปข้างหน้าคือสิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดการปรองดอง คืนดี และให้อภัย ดังนั้น คณะกรรมาธิการชุดดังกล่าวจึงเป็นหนึ่งในกระบวนการที่สำคัญของการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ

2. เปิดพื้นที่ในปัจจุบัน การเปิดพื้นที่ในปัจจุบันนั้น ภาคีฯ เสนอให้สภาผู้แทนราษฎรจัดตั้ง “เวทีถกแถลงแห่งชาติเพื่อรัฐธรรมนูญของทุกคน” เพื่ออำนวยให้เกิดการแสดงออกอย่างเสรี เป็นธรรม และปลอดภัย โดยเวทีนี้จะมีหน้าที่สำคัญคือ จัดการถกแถลงรัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวางทุกจังหวัด และประมวลความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งรวมไปถึงความกังวล ความต้องการ และความคาดหวัง เพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรและสาธารณชน

และ 3. ก้าวสู่อนาคตร่วมกัน การก้าวสู่อนาคตร่วมกันก็หมายถึง การที่ทุกภาคส่วนเห็นพ้องต้องกันแล้วว่าจะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยจะได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการชุดหนึ่งขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้ในลำดับถัดไป แต่ทั้งนี้ การจะก้าวสู่อนาคตร่วมกันได้ก็ต่อเมื่อ เราได้เยียวยาอดีต และมีพื้นที่ทางสังคมที่เปิดกว้างให้กับทุกความเห็นต่างทางการเมืองในปัจจุบัน