ไม่พบผลการค้นหา
สสว. เตรียมขอวงเงินก้อนแรก 50,000 ล้าน จาก พ.ร.ก.กู้เงิน ส่วนของเยียวยาผลกระทบโควิด-19 เพื่อดูแลเอสเอ็มอีชายขอบกว่า 7 แสนรายที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ ตั้งเป้าเสนอ ครม.สัปดาห์หน้า

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ได้เตรียมแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และไมโครเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 โดยเฉพาะผู้ประกอบการชายขอบที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้  ซึ่งจะมีการจัดทำโครงการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ไม่เคยได้รับสินเชื่อกับสถาบันการเงิน และไม่มีสินเชื่อคงค้างกับสถาบันการเงิน วงเงิน 50,000 ล้านบาท ผ่านการขอใช้เงินกู้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา ชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ขณะนี้เหลือวงเงินอยู่ประมาณ 123,000 ล้านบาท

สสว ประชุม
  • วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

โดยเบื้องต้นจะช่วยเหลือผ่าน 3 แนวทาง คือ 1.เติมพลังฟื้นชีวิต เป็นการเยียวยาผู้ประกอบการโดยการปล่อยเงินกู้รายละ 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าร้อยละ 1 ต่อปี หรือผ่อนต่อเดือนไม่เกิน 500 บาท ต่อเนื่อง 14 ปี  2.การเพิ่มทุนและเพิ่มศักยภาพ โดยจะเป็นการเข้าไปร่วมทุนกับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และ 3.การปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการรายละไม่เกิน 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 1 ต่อปี หรือผ่อนต่อเดือนอยู่ที่ 9,182 บาทต่อเดือนต่อเนื่อง 14 ปี โดยคาดว่าจะช่วยเหลือเอสเอ็มอีชายขอบได้ประมาณ 500,000 ราย จากจำนวนเอสเอ็มอีที่ยังเข้าไม่ถึงการช่วยเหลือประมาณ 745,223 ราย คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะสามารถนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติได้

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผู้ประกอบการที่จะได้รับการช่วยเหลือจะต้องมีสถานประกอบการที่เป็นหลักแหล่ง โดยจะต้องมีคุณสมบัติหลักๆ 3 ข้อ คือ เป็นสมาชิก สสว. เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ไม่เคยมีสินเชื่อกับสถาบันการเงิน และไม่มีสินเชื่อคงค้างกับสถาบันการเงิน และผู้ขอเสินเชื่อต้องไม่ผิดนัดชำระหนี้ หรือค้างชำระค่างวดตามเงื่อนไขไม่เกิน 4 งวด ในโครงการพลิกฟื้นเอสเอ็มอี และโครงการฟื้นฟูเอสเอ็มอีของ สสว.

ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ประกอบการที่เหลือ สสว. อาจจะมีการขอใช้วงเงินเพิ่มเติมอีก 50,000 ล้านบาท รวมเป็น 100,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ครบทุกราย โดยเบื้องต้นคาดว่าหาก ครม.อนุมัติจะสามารถเติมเงินเข้าระบบผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐได้ภายในเดือน ส.ค. 2563