นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้พิจารณาพ.ร.ก.กู้เงิน ในส่วนของกรอบการใช้เงินฟื้นฟูเยียวยาเศรษฐกิจ วงเงิน 4 แสนล้านบาท โดยพิจารณาจากสถานการณ์ภายนอกและภายในประเทศ จากเดิมที่ให้ความสำคัญเน้นการส่งออกและท่องเที่ยว แต่หลังจากเหตุการณ์โควิด-19 ได้ถอดบทเรียน และ ครม.ได้อนุมัติแนวทางการดำเนินการใช้เงินกู้ดังกล่าว ใน 2 ด้าน คือ หนึ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งภายในเพื่ออนาคตของประเทศ รองรับแรงงานจำนวนมากที่จะกลับสู่ภูมิภาค และสองเน้นความยั่งยืน ด้วยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือ สร้างงาน สร้างรายได้แก่ประชาชน
"เราไม่เน้นเชิงปริมาณ ไม่เน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วเหมือนเดิม แต่เน้นความมั่นคงยั่งยืนของประเทศ ที่ทำให้ทุกคนสามารถยืนได้ด้วยความมั่นคง เพราะต่อไปชีวิตวิถีใหม่ หรือ new normal จะมีความเปลี่ยนแปลงไปเยอะ และการวางแผนการใช้เงินกู้ก้อนนี้จะทำให้เศรษฐกิจไทยและสังคมไทยในอนาคตสามารถยืนอยู่ได้ในระบบใหม่ที่จะเกิดขึ้น" นายทศพร กล่าง
การใช้เงินกู้จึงต้องเป็นหัวเชื้อเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของทิศทางการพัฒนาประเทศ โดยคาดการณ์ว่าเงินกู้จะเริ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจภายในเดือน ก.ค. หรือช่วงไตรมาส 3/2563 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องไปถึงงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564-2565 เป็นการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป และเงินกู้จะรองรับสถานการณ์ภัยแล้งต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่นการช่วยสร้างแหล่งน้ำชุมชนต่างๆ เป็นต้น
"กรอบวงเงิน 4 แสนล้านบาทนี้ ไม่ต้องใช้หมด แต่เลือกเฉพาะโครงการสำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ โดยการใช้จ่ายเงินเน้นความโปร่งใส มีระบบตรวจสอบทั้งระบบออนไลน์ การนำข้อมูลต่างๆ เผยแพร่บนเว็บไซต์ มีผู้ตรวจราชการลงไป มีผู้ตรวจภาคประชาชนนิสิตนักศึกษาที่เข้าร่วมทำงานในระดับพื้นที่และเป็นกลไกเป็นหูเป็นตา ดูแลให้มีความโปร่งใสมากขึ้น เราต้องการให้เกิดโฉมใหม่การฟื้นฟูประเทศผ่านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมไทยให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป" นายทศพร กล่าว
ทั้งนี้ การใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาทจะพยายามสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชน โดยเน้น 2 เรื่องหลัก คือ 1.สร้างความเข้มแข็งอนาคตของประเทศ จากสถานการณ์โควิด เน้นเรื่องการสร้างความได้เปรียบเกี่ยวกับเกษตรแปรรูปและเรื่องอาหาร 2.สร้างแรงกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ และรักษาทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ
"เราจะใช้เงินก้อนนี้ ทำให้เกิดเกษตรสมัยใหม่ และเน้นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ รักษาธรรมชาติ นอกจากนั้นอีกจุดที่สำคัญคือให้ความสำคัญเกี่ยวกับเศรษฐกิจฐานราก เรามองว่าแรงงานส่วนหนึ่งจะกลับภูมิลำเนา จึงจำเป็นต้องมีการสร้างงานรองรับ จึงต้องใช้เงินกู้สร้างเศรษฐกิจชุมชุน เพื่อให้เกิดการรวมกลุ่มวิสาหกิจเพื่อชุมชน รองรับแรงงานกลับเข้าสู่ภูมิลำเนาต่อไป" นายทศพร กล่าว
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในที่ประชุม ครม. นายกรัฐมนตรีกำชับเรื่องการใช้เงินวงเงินกู้ 4 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมว่า ต้องทำความเข้าใจกับประชาชน ฝ่ายนิติบัญญัติว่าการทำงานทุกอย่างต้องมีเป้าหมายชัดเจน มีเกณฑ์ที่ชัดเจน และแนวทางปฏิบัติที่แต่ละส่วนราชการนำไปปฏิบัติได้อย่างพร้อมกัน โดยเน้นการสร้างงานในระดับชุมชนฐานราก ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของแผนการใช้เงินกู้ก้อนนี้
"เงินก้อนนี้จะมีความสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนประเทศในยุค post covid หรือ หลังโควิด-19" น.ส.รัชดา กล่าว
ทั้งนี้ คาดว่า พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินวงเงิน 1 ล้านล้านบาท จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในช่วงวันที่ 24-27 พ.ค. นี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :