ไม่พบผลการค้นหา
สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี แนะผู้ปกครองยุคใหม่ต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้สั่งสอน ออกคำสั่ง มาเป็นเพื่อนที่เข้าใจ รับฟังปัญหา พร้อมให้ความเห็น เพื่อให้บุตรหลานได้คิด เรียนรู้ และเลือกตัดสินใจในการดำเนินชีวิตด้วยตนเอง

นายแพทย์ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในภาวะสังคมปัจจุบัน พ่อ แม่ ผู้ปกครองต้องต่อสู้เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของครอบครัว หมดเวลาไปกับการทำงานนอกบ้าน อาจเป็นเหตุให้ขาดการเอาใจใส่ดูแลบุตรหลานเท่าที่ควร ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม และเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ ที่เด็กและเยาวชนเข้าถึงได้ง่าย ก่อให้เกิดผลทั้งด้านบวกและด้านลบ

ดังนั้นพ่อ แม่ ผู้ปกครองยุคใหม่ จึงต้องเข้าใจบุตรหลานที่กำลังอยู่ในช่วงวัยรุ่น อยากเรียนรู้ อยากลอง ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากกลุ่มเพื่อน ซึ่งอาจเกิดการเรียนรู้ หรือแสดงพฤติกรรมในทางที่ผิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการใช้ยาและสารเสพติด

ซึ่งพบว่าผู้ติดยาเสพติดที่เข้ารับการบำบัดรักษามากที่สุดมีอายุ 18-24 ปี โดยเริ่มใช้ในช่วงอายุต่ำกว่า 18 ปี การที่พ่อแม่ปรับตัวให้เหมือนเป็นเพื่อนกับบุตรหลาน ทำความเข้าใจ ใช้เวลาพูดคุย ถามให้คิด และยอมรับฟังอย่างตั้งใจ ด้วยความรัก ความเมตตา พิจารณาพฤติกรรมอย่างมีเหตุผล โดยไม่ว่ากล่าวตำหนิติเตียน เท่ากับเป็นการป้องกันและช่วยแก้ไขปัญหา ก่อให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว ทำให้บุตรหลานกล้าปรึกษาปัญหา หรือแสดงความคิดเห็นอย่างไม่ปิดบัง

ซึ่งจะช่วยให้พ่อแม่ได้รับรู้ปัญหา สามารถหาทางแก้ไขได้อย่างทันท่วงที และยังเป็นการป้องกันการหลงผิดไปใช้ยาเสพติดได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ดังนั้นผู้ปกครองยุคใหม่ต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้สั่งสอน ออกคำสั่ง ห้ามให้ทำ มาเป็นเพื่อนที่รู้และเข้าใจ ยอมรับฟัง เปิดโอกาส ชี้ชวนให้คิด กระตุ้นให้พูดแสดงความคิดเห็น เลือกเรียนรู้อย่างมีเหตุผล และตัดสินใจในการดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสมด้วยตนเอง

ด้าน นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กล่าวเพิ่มเติมว่า หากพบว่าลูกหลานใช้ยาเสพติด การรู้และเข้าใจที่ถูกต้องของพ่อแม่ และบุคคลในครอบครัว รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการบำบัดรักษา ย่อมเป็นประโยชน์สูงสุดต่อการเลิกยาเสพติดของลูกหลาน

ต้องให้ความสำคัญในการแก้ไขทั้งด้านร่างกาย จิตใจ ที่สำคัญอย่างยิ่งคือสัมพันธภาพที่ดี และการใช้ชีวิตร่วมกันในครอบครัว เมื่อรู้ว่าลูกเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด

สิ่งที่ควรทำ คือ ตั้งสติ ใช้เหตุผล ร่วมพูดคุยถึงต้นเหตุปัญหาร่วมกันโดย ไม่ตำหนิ ดุด่า หรือลงโทษอย่างรุนแรง สร้างความเข้าใจกับทุกคนในครอบครัว ให้กำลังใจ แสดงความรัก ความห่วงใย ในเรื่องโทษภัยของยาเสพติด ที่มีต่อสุขภาพร่างกาย จิตใจ การเรียน และความผิดทางกฎหมาย ติดต่อปรึกษากับครูที่ปรึกษา พาลูกไปปรึกษาแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ให้เวลาพูดคุย หาเวลาว่างทำกิจกรรมร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ ติดตามและเฝ้าระวัง ไม่ใช้การจับผิด หรือระแวงไม่ไว้วางใจ แต่ช่วยประคับประคอง ให้เวลา และโอกาสเพื่อลูกได้เรียนรู้ที่แก้ไขปัญหา ลดละเลิกยาเสพติด และใช้ชีวิตในสังคมอย่างปกติด้วยตนเอง