จับตาการประชุมร่วมกันของรัฐสภา วันที่ 10 ก.ย. 2564 เมื่อ ส.ส. และ ส.ว. มีคิวลงมติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91 ในวาระที่ 3 ขั้นสุดท้าย เปลี่ยนระบบเลือกตั้งใช้บัตร 2 ใบ แบ่งเป็น ส.ส.เขต 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน
การโหวตครั้งนี้ จะต้องได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา โดยสมาชิกรัฐสภามีทั้งหมด 730 คน เกินกึ่งหนึ่งคือ มากกว่า 365 เสียง นอกจากนี้ยังต้องมีเสียง ส.ว.เห็นชอบด้วย 1 ใน 3 หรือ 84 คน และเสียงของฝ่ายค้านและพรรคการเมืองที่มิได้มีรัฐมนตรีและประธาน-รองประธานสภาฯ ร่วมสนับสนุนเกิน 20 เปอร์เซ็นต์ด้วย
ตรวจเสียงโหวต ฝ่ายเห็นชอบ หลักๆ พรรคเพื่อไทย 134 เสียง พลังประชารัฐ 119 เสียง ประชาธิปัตย์ 48 เสียง ฝ่ายเห็นชอบมีแน่ๆ 301 เสียง
ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยหรืออาจจะงดออกเสียง ภูมิใจไทย 59 เสียง (เดิม 61 เสียง ฉลอ เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง ภูมิศิษฏ์ คงมี ส.ส.พัทลุง หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.) ก้าวไกล 53 เสียง รวมงูเห่า รวมพลังประชาชาติไทย 5 เสียง 7 พรรคเล็กประกอบด้วย พรรคพลังธรรมใหม่ พรรคพลเมืองไทย ครูไทย ไทรักธรรม ประชาธรรมไท พลังชาติไทย เพื่อชาติไทย ฝั่งนี้มีแน่ๆ 126 เสียง
ส่วน ส.ว.มีแนวโน้มว่าจะลงมติเห็นด้วยตามพรรคพลังประชารัฐ เพราะส่วนใหญ่เป็นสายทหาร แม้จะมี ส.ว.บางส่วนงดออกเสียงก็ตาม อีกทั้งในวาระที่1 ก็มี ส.ว.เห็นชอบรับร่าง 210 เสียง
สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อธิบายเหตุผลที่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้ได้พรรคเล็กพรรคน้อย เป็นเบี้ยหัวแตกเต็มไปหมด ได้รัฐบาลผสมมากที่สุดในโลก มีการย้ายพรรค ยุบพรรคแบบพิสดาร และที่ร้ายแรงที่สุดคือเปิดโอกาสให้มีการใช้เงินใช้ทอง ลักษณะประชาธิปไตยแบบกล้วยๆ แบบที่เพิ่งเห็นกันเมื่อไม่กี่วัน
พรรคเพื่อไทย มองว่า ระบบเลือกตั้งบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ได้รับการยอมรับจากประชาชนว่าเป็นระบบเลือกตั้งที่เหมาะกับสังคมไทยที่สุด นับตั้งแต่เราได้ทดลองระบบเลือกตั้งแบบต่างๆ มา ทำให้ได้รัฐบาลเสียงข้างมาก ที่มีเสถียรภาพ มั่นคงและเป็นที่ยอมรับ อีกทั้งที่มาของระบบเลือกตั้งแบบบัตรเลือกตั้งสองใบ ถูกออกแบบโดย สสร. ที่มาจากประชาชน ซึ่งทำให้การเมืองเข้ารูปเข้ารอย เป็นเอกภาพมีพลังในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาประเทศ
ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ กล่าวว่า ในทิศทางปฏิบัติของพรรคพลังประชารัฐ คือการเห็นไปในทิศทางเดียวกันและสนับสนุนต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ซึ่งเป็นแนวทางที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ สนับสนุน
ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะที่เป็นผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตั้งแต่วาระแรก ดังนั้น ในวาระที่ 3 พรรคก็พร้อมให้ความเห็นชอบ เพื่อเตรียมนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้ตามขั้นตอนต่อไป และหวังว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของทางออกการเมือง และแม้จะเป็นการแก้ไขระบบการเลือกตั้ง แต่เกี่ยวข้องกับบริบททางการเมืองที่สำคัญ และส่งเสริมพรรคการเมืองเข้มแข็ง ลดการรับผลประโยชน์ของ ส.ส.ได้
ชินวรณ์ ยังหวังว่า การลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 ฝ่ายค้าน และ ส.ว. จะร่วมลงมติให้ความเห็นชอบสำเร็จ และมั่นใจว่า ไม่มีเหตุผลใด ๆ ที่จะทำให้ ส.ส. และ ส.ว. ต้องเข้าชื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งหากจะมีผู้ยื่น ก็อาจตีความได้ว่า เป็นการยื่นเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง
ภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง และโฆษกพรรคภูมิใจไทย แสดงจุดยืนพรรคภูมิใจไทย ยังคงยืนยันในจุดยืนของพรรคเหมือนเดิม คือ ส.ส.ทุกคนของพรรคจะงดออกเสียง เพราะงดออกเสียงมาตั้งแต่การพิจารณาในวาระหนึ่งและวาระสองมาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง แต่เป็นการดำเนินการเพื่อพรรคการเมืองและนักการเมืองเท่านั้น อีกทั้งพรรคไม่มีความเห็นเรื่องบัตรเลือกตั้ง เพราะจะเป็นบัตรเลือกตั้งใบเดียวหรือบัตรเลือกตั้งสองใบ พรรคภูมิใจไทยก็มีความพร้อมทุกแบบ
ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล บอกว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นการนำระบบ 2540 มาใช้ และนำไปสู่ปัญหามากมาย เป็นการกินรวบของพรรคการเมืองพรรคใหญ่พรรคเดียว เราต้องการเห็นพรรคเล็กๆเข้าสู่สภา เพื่อเป็นปากเสียงให้กับคนกลุ่มเล็ก การแก้ไขครั้งนี้ประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไรแต่เป็นประโยชน์กับพรรคการเมืองใหญ่ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล
“ระบบพรรคการเมืองขยับใหญ่กินรวบนั้นจะตกอยู่ในมือใครระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรคเพื่อไทยก็ต้องดูกันต่อไป ผมต้องการที่จะสื่อสารไปยัง วุฒิสภาและนายกรัฐมนตรี ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำแบบลุกลี้ลุกลน และไม่เรียบร้อย และมีความขัดแย้งกันเอง ซึ่งส่วนตัวเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยแท้แต่เป็นประโยชน์กับพรรคการเมืองและมีกลไกต่างๆที่จะตัดสินโดยวุฒิสภาและนายกรัฐมนตรี วุฒิสภาและนายกรัฐมนตรีต้องตัดสินใจเองว่าจะทำอะไรได้หรือไม่”
พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ออกแถลงการณ์ 1. การเลือกตั้งโดยใช้บัตร 2 ใบ ขัดแย้งโดยตรงต่อหลัก “หนึ่งสิทธิ หนึ่งเสียง” (One Man, One Vote) 2. การเลือกตั้งโดยใช้บัตร 2 ใบ ทำให้พรรคการเมืองใหญ่ที่มีความได้เปรียบในด้านทุนรอนที่ใช้ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง 3. การเลือกตั้งที่ใช้บัตร 2 ใบ สำหรับบัตรที่เลือก ส.ส. เขต เมื่อมีผู้สมัครที่ได้คะแนนเป็นที่ 1 ไปแล้ว คะแนนเสียงที่ลงให้แก่ผู้สมัครรายอื่นๆ ย่อมถูกตัดโอกาส ไม่สามารถมีตัวแทนเป็นปากเสียงในสภาได้เลย
หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ นพ.ระวี มาศฉมาดล นำตัวแทน 7 พรรคเล็กร่วมรัฐบาลแถลงจุดยืนในการโหวต ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ว่า กลุ่มพรรคเล็กมีมติโหวตคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ด้วยเหตุผลว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 60 ผ่านการทำประชามติจากประชาชนแล้ว อีกทั้ง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยกเลิกระบบจัดสรรปันส่วนผสม ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนตัวเล็กๆเข้ามามีโอกาสทำงานในสภา รวมถึงล้มระบบ ส.ส.พึงมีที่ถือเป็นระบบที่ยุติธรรมที่สุด และยังล้มหลักการเรื่องคะแนนเสียงตกน้ำจากเดิมที่นำมารวมเป็นคะแนนของพรรคการเมืองได้ตกน้ำไป รัฐธรรมนูญปี 40 และ ปี 50 ที่ใช้ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ทำให้เห็นว่าเกิดรัฐบาลทักษิณ-สมัคร-ยิ่งลักษณ์ เกิดเผด็จการรัฐสภา มีการคอรัปชั่นเชิงนโยบายมโหฬารอย่างโจ่งแจ้ง
นิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) เผยว่า ที่ประชุมพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) เห็นพ้องให้ฟรีโหวต ให้เป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส. แต่ส่วนตัวจะให้ความเห็นชอบเรื่องบัตร 2 ใบ เพราะเห็นว่าจากรัฐธรรมนูญปี 2540 เราสามารถนำมาปรับปรุงใช้ในคราวนี้ได้ และหลักการนับคะแนนสามารถนำมาปรับปรุงให้ดีกว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 ได้ และยังสามารถแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งให้ดีกว่าเดิมได้ เป็นเหตุผลที่เห็นว่าควรสนับสนุน
เสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) เล่าว่า ส.ว.ไม่ได้มีการพูดคุยกันอย่างเป็นทางการ มีเพียงการพูดคุยกับเป็นกลุ่มๆ แต่ยังไม่มีความชัดเจน โดยการโหวตจะเป็นอิสระของ ส.ว.แต่ละคน ไม่ได้มีการนัดหมายว่าจะต้องโหวตไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง นอกจากนี้ ยังไม่มีสัญญาณใดๆจากคนในรัฐบาล ให้ ส.ว.ต้องโหวตอย่างใดอย่างหนึ่งด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง