ไม่พบผลการค้นหา
รมว.สาธารณสุข เตรียมนำโฆษณาเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ เข้าสู่การประชุมฯ เพื่อตีความว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือไม่

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า การโฆษณาเบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์ถือว่าผิดกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพราะไม่ได้ถือว่าเป็นเบียร์ จึงใช้คำว่าเบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์ไม่ได้ แต่เป็นเครื่องดื่มมอลต์ก็ต้องใช้ว่าเครื่องดื่มมอลต์ปราศจากแอลกอฮอล์

คาดว่าจะมีการนำเรื่องเบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์เข้าสู่การประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ เพื่อตีความว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 หรือไม่ โดยให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา กรมควบคุมโรค หารือกันให้เรียบร้อย และไปศึกษาแนวทางการดำเนินงานให้รอบคอบ ก่อนนำกลับมาเสนอที่ประชุมในครั้งหน้า

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการหารือร่วมกับ อย. เบียร์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์เข้าข่ายว่ามีลักษณะโฆษณาโอ้อวดกับโฆษณาเกินจริง ซึ่งทางเลขาธิการ อย. รับทราบแล้ว และคาดว่าจะออกแนวทางการดำเนินการให้ชัด แต่หากส่วนไหนที่เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วโฆษณาอย่าง ไม่ถูกต้อง จึงจะมาเข้า พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ก่อนหน้านี้ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหาร และยา เปิดเผยว่า การโฆษณาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่สกัดแอลกอฮอล์ออก/ลดปริมาณแอลกอฮอล์ที่เป็นการโฆษณาสรรพคุณ คุณประโยชน์ต้องขออนุญาตโฆษณากับ อย. ก่อนจึงจะสามารถเผยแพร่ได้

การโฆษณาแจกแจงคุณประโยชน์ของสารอาหารที่เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์อาหารจะสามารถกระทำได้ต่อเมื่อมีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่ามีคุณประโยชน์ตามที่กล่าวอ้างจริง และต้องแสดงข้อมูลบนฉลากโภชนาการเพื่อให้ผู้บริโภคทราบด้วย

และการโฆษณาดังกล่าวต้องไม่สื่อในทำนองที่ทำให้เกิดความเชื่อมโยงถึงเบียร์หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่น ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม พร้อมแสดงข้อความ “เครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์/สกัดแอลกอฮอล์ออก” ปรากฏคู่กับการแสดงภาพเครื่องดื่มดังกล่าวทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในสาระสำคัญของผลิตภัณฑ์

หากตรวจพบการโฆษณาสรรพคุณ คุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท และหากพบการเชื่อมโยงกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือชักจูงให้ผู้บริโภคดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทั้งทางตรงและทางอ้อม หรือการแสดงคุณภาพ สรรพคุณ คุณประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ทำให้เข้าใจว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย

โดยใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ ที่ยังไม่ผ่านการประเมินการกล่าวอ้างทางสุขภาพจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เป็นต้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับกรณีผลิตภัณฑ์ที่เป็นข่าว อย. ตรวจสอบแล้วพบเป็นการรีวิวผลิตภัณฑ์ ซึ่งเข้าข่ายเป็นการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต และ อย. จะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้รีวิวต่อไป