ไม่พบผลการค้นหา
เนื่องในวันที่ 26 มิ.ย.ของทุกปีเป็นวันช่วยเหลือเหยื่อจากการทรมานสากล หรือวันต่อต้านการทรมาน ตัวแทนอดีตพลทหารจึงร่วมมือกับ 'แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย' แสดงพลังเรียกร้องให้รัฐบาลแจงความคืบหน้าการผลักดัน ก.ม.ป้องกันการทรมานและการอุ้มหาย หลังจากไทยให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ สากลตั้งแต่ปี 59

ในช่วงเดือน ก.ค. - ส.ค. นี้ การคัดเลือกทหารกองประจำการณ์หรือการเกณฑ์ทหารจะเวียนมาบรรจบอีกวาระหนึ่ง ประกอบกับรายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลที่ได้เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ แม้เพียงชื่อของรายงานก็สะกิดหัวใจและกระตุ้นให้ฉันได้หวนนึกถึงประสบการณ์ของตนเองและเพื่อน ๆ ที่ต้องประสบพบเจอในค่ายทหาร ฉันเองก็ขอเน้นย้ำอีกครั้งตามชื่อเรื่องของรายงานว่า "เรา (พลทหาร) ก็เป็นแค่ของเล่นของพวกเขา"

ฉัน อดีตทหารเกณฑ์ที่ได้ใช้ชีวิตอยู่ภายในค่ายทหารหนึ่งปีเต็ม เป็นหนึ่งปีที่ยังคงยืนยันเสมอว่าเป็นช่วงเวลาที่ฉันรู้สึกไร้คุณค่ามากที่สุดในชีวิต เป็นขวบปีที่สูญเปล่าและน่าเสียดายอย่างยิ่งในฐานะมนุษย์ที่มีศักยภาพที่แบ่งปันกับประเทศและโลกใบนี้ด้วยความรู้ความเชี่ยวชาญที่ฉันมี

หนึ่งปีตรงนั้นคือหนึ่งปีที่ฉันถูกพรากสิทธิที่สำคัญอย่างยิ่งยวดในฐานะมนุษย์ คือสิทธิที่จะ “เลือก” และกำหนดชีวิตโดยเจตจำนงค์อิสระของฉันเอง การมีอยู่ของพ.ร.บ.การเกณฑ์ทหารทำให้ฉันถูกรึงรัดไว้ด้วยข้อกฎหมายที่ป่าเถื่อน กฎหมายที่ละเมิดและขืนใจมนุษย์เพศชายให้สมยอมกับอำนาจซึ่งไร้เหตุผลในกองทัพ ด้วยการมีอยู่ของกฎหมายนั้นทำให้ 1 ปีตรงนั้น ฉันถูกส่งไปในค่ายทหารในนามของ “รัฐ” เพื่อถูกกระทำย่ำยี อย่างไร้คุณค่า ถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจให้เหลือแค่เครื่องพูด "ครับ" อัตโนมัติเพียงเท่านั้น

มันน่าประหลาดใจเหลือเกินที่เมื่อคุณก้าวเท้าเข้าไปในรั้วของค่ายทหารแล้ว บรรยากาศและสภาพแวดล้อมตรงนั้นมันบอกคุณว่า “ชีวิตของคุณจะไม่ใช่ของคุณอีกต่อไป” คุณมีหน้าที่แค่ “ทำตามคำสั่ง” อย่างคำขวัญที่คุณต้องท่องทุกเช้าค่ำเสมือนการสะกดจิตหมู่เพื่อควบคุมกำกับคุณว่า "ไม่มีอะไรที่ทหารใหม่ทำไม่ได้ ทำไม่ไหว ทำไม่ทัน รับคำสั่ง ทำทันที ทำดีที่สุด"

รายงานแอมเนสตี้ จับใบดำใบแดง ทหารเกณฑ์.JPG
  • ภาพจากรายงานของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

ฉัน ในฐานะพลทหารที่เปิดเผยตัวชัดเจนว่าเป็นเกย์นั้นต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างมาก ฉันต้องตกเป็นเครื่องมือในการสร้างให้เกิดความสนุกสนานในกองร้อย ฉันมักถูกเรียกให้ออกไปเต้นหน้าห้องอบรมเพื่อสร้างเสียงหัวเราะให้คนอื่น รุ่นพี่ครูทหารใหม่มักเข้ามาหาฉันด้วยคำพูดที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ ถามว่าฉันอยากอมอวัยวะเพศของใครบ้าง หลายครั้งที่รุ่นพี่มักโชว์อวัยวะเพศของเขาให้ฉันดูอย่างจงใจ หลายครั้งที่ฉันต้องอุทิศหัวนมและก้นให้พวกเขาจับเล่นราวกับว่าเป็นสิ่งสาธารณะ และครั้งที่รุนแรงที่สุดคือครั้งที่ฉันมีรุ่นพี่ทหารใหม่มุดเข้ามาในมุ้ง และมีอีกหลายคนมุงอยู่นอกมุ้ง โดยมีหนึ่งคนชักอวัยวะเพศเขาออกมานอกกางเกงและพยายามชี้มาที่ปากของฉัน

1 ปีนั้นฉันได้เรียนรู้ว่าวาทกรรมและการโฆษณาชวนเชื่อของทหารนั้นเป็นสิ่งที่น่าขันเพราะฉันเองสามารถมีวินัย และสามารถเรียนรู้วินัยได้โดยโลกปกติข้างนอก โดยไม่ต้องเข้ามาเป็นทหารให้คนอื่นย่ำยี ฉันเองสามารถรับใช้ชาติได้ตามความรู้ความสามารถที่ฉันเรียนมา โดยไม่ต้องทิ้งความรู้ทุกอย่างให้สูญเปล่าอย่างน่าเสียดายโดยมีอีกหลายคนต้องเสียโอกาสจากการได้รับประโยชน์จากความรู้ความสามรถของฉันเพราะมีกฎหมายบังคับให้ฉันต้องเขามา "พูดครับ" และรับคำสั่งอย่าง "เชื่องเชื่อ"

ฉันยังโชคดีที่ประสบการณ์การถูกละเมิดของฉันหยุดอยู่ที่การถูกละเมิดโดยวาจา ถูกคุกคามทางเพศ และถูกพรากสิทธิและเสรีภาพในการใช้ชีวิตตามเจตจำนงค์อิสระของตนเองอย่างที่ฉันอยากเป็น แต่สำหรับหลายคนแล้วการเข้ามาอยู่ในค่ายทหารอาจหมายถึง การที่ครอบครัวขาดเสาหลัก การสูญเสียรายได้ การสูญเสียคนรัก การเสียชีวิตและลมหายใจ เพราะการถูกทารุณกรรมโดยการปราศจากการตรวจสอบและวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดที่เรามักเห็นตามข่าว

ฉันเคยมีเพื่อนที่ต้องถูกสั่งขังเป็นสัปดาห์เพราะถูกสงสัยว่าขโมยสร้อยคอของภรรยานายพลท่านหนึ่ง โดยคำอธิบายของเขาไม่ถูกรับฟัง และให้หลังต่อมาภรรยานายพลก็พบสร้อยนั้นด้วยตัวเอง โดยสิ่งที่แลกมาคืออิสระภาพที่ต้องสูญเสียไปเกือบอาทิตย์ แต่นั่นเป็นอิสระภาพที่เหลือน้อยนิดหลังจากที่ต้องสูญเสียอิสรภาพจากกฎหมายเกณฑ์ทหารมาแล้วขั้นหนึ่ง เหตุการณ์ในนั้นทำให้ฉันเห็นกรงซ้อนกรงที่ชีวิตของพลทหารเสมือนสิ่งของที่ถูกกักขัง และถูกจับวางที่ไหนก็ได้ ตามอำเภอใจของผู้บังคับบัญชา

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล รายงานพลทหาร เราก็เป็นแค่ของเล่นเขา ทหารเกณฑ์ ซ้อมทรมาน อุ้มหาย.JPG

ชีวิตพลทหารจึงเหมือนจุดต่ำสุดของกองทัพ จุดต่ำสุดที่ใครจะทำอะไรกับคุณก็ได้ จุดที่คุณจะรู้ว่าเสียงของคุณถูกพรากไป ระบบยุติธรรมและการร้องเรียนปกติจะไม่ได้ช่วยต่อลมหายใจและสร้างความยุติธรรมให้คุณ เพราะคุณรู้ดีว่าสิ่งสูงสุดของทหารคือ "คำสั่งจากผู้บังคับบัญชา" และสังคมพวกพ้องและการอุปถัมป์ที่ฝังลึกนั้นจะไม่ทำให้คนตัวเล็กตัวน้อยอย่างคุณได้หายใจ

ถ้าคุณโกรธไม่พอ หรือไม่มีลู่ทางคุณก็ต้องตกอยู่ในสถานะจำยอม และจำนนในชะตาชีวิต ซึ่งแท้ที่จริง ไม่ใช่ชะตาชีวิต แต่คือการกดขี่ และรีดนาทาเร้นที่เป็นระบบโดยรัฐและกฎหมาย

ถ้าคุณโกรธมากจนหมดหนทางและขาดสติคุณอาจเลือกปล้นคลังแสง ออกไปกราดยิง อย่างเช่นนายสิบที่เป็นข่าว

ถ้าคุณทนไม่ไหวกับการทุจริตและความอยุติธรรมในกองทัพ แล้วเลือกช่องทางฟ้องร้องปกติ คุณเองก็อาจจะโดนวัฒนธรรมของกองทัพกลับมาเล่นงานคุณอย่างเช่นหมู่อาร์ม

และถ้าคุณไม่ลุกขึ้นทำอะไรเลยคุณก็อาจอยู่ระหว่างสองฝั่งคน หนึ่งก็คือผู้ที่ได้ประโยชน์จากระบบนี้ และสองคือผู้ที่ถูกแสวงประโยชน์ที่ถูกทำให้เชื่อว่าไร้เรี่ยวแรงจนคุณเองก็คิดว่าคุณทำอะไรไม่ได้

แต่กระนั้นปัญหาของการเกณฑ์ทหารมิใช่อยู่แค่วิถีการปฏิบัติหรือวัฒนธรรมความรุนแรงที่ถูกฝังรากหยั่งลึกลงในรั้วทหารเพียงเท่านั้น แต่ปัญหาเชิงหลักการใหญ่คือการ "บังคับ" ให้คนต้องตกอยู่ใน "สภาวะ" และ "สถานะ" ที่เขาไม่ได้เลือก และหนทางในการแก้ไขก็คงเป็นการเปลี่ยนรูปแบบการเกณฑ์ทหารให้เป็นรูปแบบสมัครใจ การปฏิรูปวัฒนธรรมการปฏิบัติต่อกันและการฝึกในกองทัพ และการเพิ่มสวัสดิการเงินเดือน การลดขนาดกองทัพและอัตรานายพลอย่างที่หลายฝ่ายเสนอไว้

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล รายงานพลทหาร เราก็เป็นแค่ของเล่นเขา ทหารเกณฑ์ ซ้อมทรมาน อุ้มหาย-2.JPGแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล รายงานพลทหาร เราก็เป็นแค่ของเล่นเขา ทหารเกณฑ์ ซ้อมทรมาน อุ้มหาย-3.JPG

เพราะถ้าเราไม่ทำอย่างนั้น เพราะถ้าในทุกปีที่กฎหมายนี้ยังคงอยู่ เราไม่อาจมั่นใจได้เลยว่า จะมีพ่อแม่กี่คนที่ต้องคอยทวงถามความยุติธรรมกับลูกที่ต้องตายไป จะมีชายหนุ่มวัยแรงงานอีกกี่ชีวิตที่ต้องขาดโอกาสในการพัฒนาตัวเองและประเทศชาติตามความรู้ความสามารถที่เขามี จะมีอีกกี่คนที่ถูกละเมิดย่ำยีภายในค่ายทหารที่เต็มไปด้วยระบบชนชั้นที่สืบทอดมาหลายรุ่นและยากที่จะกะเทาะออกอย่างที่เราได้เห็นตามข่าว

เมื่อพูดถึงตรงนี้ ภาพที่เห็นเด่นชัดคือ การ “ถูกบังคับ” โดยรัฐและระบบกฎหมายโครงสร้างที่ทำให้คนถูกกดขี่ แต่อย่างน้อยการถูกบังคับในลักษณะนี้พ่อแม่ ครอบครัวยังสามารถรับรู้ชะตากรรมชีวิตของลูกหลานตัวเองได้ แต่สิ่งที่น่ากลัวและโหดร้ายทารุณกว่านั้นคือการ “การถูกบังคับให้สูญหาย”

ตามความหมายของอนุสัญญาคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการถูกบังคับให้สูญหาย ค.ศ. 2006 แล้ว "การถูกบังคับให้สูญหาย" เป็นการกระทำของ “รัฐ” หรือ “ผู้มีอำนาจ” ที่ทำให้รัฐนั้นเพิกเฉย ละเลย ไม่ใส่ใจ ต่อการที่บุคคล หรือกลุ่มบุคคล ถูกจับกุม คุมขัง ถูกลักพาตัว หรือถูกลดทอนเสรีภาพในรูปแบบอื่น รวมกระทั่งการที่รัฐไม่รับรู้ หรือไม่พูดถึง หรือปฏิเสธการมีอยู่ของการริดรอนสิทธิเสรีภาพของกลุ่มหรือบุคคลดังกล่าว หรือกระทั่งการปกปิดถิ่นที่อยู่หรือชะตากรรมของผู้สูญหาย ทำให้ผู้นั้นไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย

เรื่องนี้เป็นการกระทำที่ร้ายแรง และลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลอย่างยิ่ง เพราะชะตาชีวิตของมนุษย์คนหนึ่งถูกปิดบัง และบังคับให้ถูกลืมไปจากโลกโดยที่ผู้ที่อยู่เบื้องหลัง เช่นครอบครัว หรือคนในสังคม จะรับรู้ชีวิตและชะตากรรมของพวกเขาได้เพียงแค่ “ข่าวลือ” หรือการ "คาดคะเน" เอา คนที่อยู่ข้างหลังจะเผชิญปัญหาและมีชีวิตอยู่กับความไม่แน่นอน คาบเกี่ยวอยู่ระหว่างความหวังและความสิ้นหวัง

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เป็นอาชญากรรมร้ายแรงต่อมนุษยชาติ ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง มันคือเรื่องของทุกคน เพราะมันสามารถเกิดขึ้นได้เสมอกับเพื่อนของเรา ญาติของเรา คนที่เรารู้จัก หรืออาจจะตัวเรา เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ “รับไม่ได้” ทั้งในชีวิตของปุถุชนธรรมดาทุกคนและในแง่กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

จึงเป็นที่มาของ “อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ” ค.ศ. 2006 (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) ซึ่งหลัก ๆ คือการเรียกร้องให้รัฐทำให้การบังคับบุคคลสัญหายที่เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐหรือมีส่วนรู้เห็นหรือเพิกเฉยจากรัฐเป็นการกระทำผิดตามกฎหมายอาญา และมีการกำหนดโทษในความผิดดังกล่าว ประเทศไทยได้ลงนาม (Signature) ในอนุสัญญาดังกล่าวต่อองค์การสหประชาชาติแล้วเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 แต่ถือเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทยที่มีความตั้งใจจริงในการส่งเสริม ปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งเห็นความสำคัญของการแก้ไขปัญหาการบังคับให้บุคคลสูญหาย

และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีมติเห็นชอบในหลักการการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญา ICPPED เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2559 และเมื่อวันที่ 10 มี.ค.2560 ตามลำดับ โดยที่ผ่านมากระทรวงยุติธรรมได้มีความพยายามนำเสนอร่างกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในปี 2562 แต่ด้วยขั้นตอนของการแก้ไขปรับปรุงและการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะการเปิดประชาพิจารณ์และรับฟังความคิดเห็นสาธารณะทำให้ยังมีความล่าช้าในการออกกฎหมายดังกล่าวออกมาบังคับใช้

จากการหายตัวไปของคุณวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ทำให้สังคมกลับมาตั้งคำถามว่า ร่างกฎหมายป้องกันการทรมาน-อุ้มหายนั้นได้ถูกดำเนินการไปถึงไหนแล้ว และย้ำชัดอีกครั้งว่าการมีอยู่ของกฎหมายนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการปกป้องคุ้มครองชีวิตมนุษย์ และยืนหยัดในคุณค่าสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สิทธิในการมีชีวิตอยู่”

เนื่องในวันที่ 26 มิ.ย.ของทุกปี เป็นวันที่สหประชาชาติกำหนดให้เป็น “วันช่วยเหลือเหยื่อจากการทรมานสากล” (International Day in Support of Victims of Torture) หรือที่ประเทศไทยมักคุ้นเคยกันในนาม “วันต่อต้านการทรมานสากล” ฉันเองก็หวังว่าไฟแห่งการเห็นคุณค่าของสิทธิมนุษยชนผ่านการจับเคลื่อนทางสื่อสังคมออนไลน์อย่าง #Saveวันเฉลิม จะยังคงโหมกระพือลุกโชนในหัวใจของคนไทย จนสามารถสร้างแรงกระเพื่อมไปยังรัฐสภาในฐานะ “ผู้แทนปวงชนชาวไทย” ให้สามารถออกกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องคุ้มครองปวงชนจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำของรัฐที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและทำให้บุคคลต้องสูญหายได้สักที่

(ผู้สนใจรายงาน "เรา (พลทหาร) ก็เป็นแค่ของเล่นเขา" สามารถดาวน์โหลดได้ ที่นี่)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: