สำนักข่าวไทยรายงาน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์เรื่องที่ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด หนึ่งในนั้นคือ คดีที่มีการกล่าวหา พล.ต.ต.กฤษฏิ์ เปียแก้ว เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผบก.น.5, พ.ต.อ.สุคุณ พรหมายน รอง ผบก.น.5, พ.ต.อ.ไตรเมต อู่ไทย รอง ผบก.น.5, พ.ต.อ.ชุมพล พุ่มพวง ผกก.สน.ทองหล่อ, พ.ต.อ.สัมฤทธิ์ เกตุแย้ม, พ.ต.ท.วิบูลย์ ถิ่นวัฒนากูล และ พ.ต.ท.วิรดล ทับทิมดี ฐานกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีสอบสวนช่วยเหลือนายวรยุทธ ทายาทเครือธุรกิจ "กระทิงแดง" ไม่ให้ถูกดำเนินคดีขับรถขณะเมาสุรา ขับรถเร็วเกินกว่าอัตรากฎหมายกำหนด และไม่ดำเนินการออกหมายจับ เพื่อให้ได้ตัวมาส่งพนักงานอัยการฟ้องดำเนินคดีตามกฎหมาย เป็นเหตุให้ผู้ต้องหาหลบหนี
โดย ป.ป.ช. มีมติว่ามีมูลความผิดแยกเป็นกรณี ประกอบด้วย
ป.ป.ช. มีมติว่า พ.ต.ท.วิรดล ทับทิมดี มีมูลความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความตั้งใจอุตสาหะ เพื่อให้เกิดผลดีหรือความก้าวหน้าแก่ราชการ ระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของทางราชการ และประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ
ส่วนกรณีละเว้นไม่ดำเนินการออกหมายจับนายวรยุทธ ป.ป.ช. มีมติว่า พ.ต.อ.ชุมพล พุ่มพวง พ.ต.อ.สัมฤทธิ์ เกตุแย้ม พ.ต.ท.วิบูลย์ ถิ่นวัฒนากูล และ พ.ต.ท.วิรดล ทับทิมดี มีมูลความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ
กรณีคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนร่วมลงนามสำนวนการสอบสวนคดีจราจรของ สน.ทองหล่อนั้น ป.ป.ช. มีมติว่า พล.ต.ต.กฤษฏิ์ เปียแก้ว พ.ต.อ.สุคุณ พรหมายน และ พ.ต.อ.ไตรเมต อู่ไทย ในฐานะผู้บังคับบัญชา ไม่กำกับดูแล ติดตาม เพื่อให้การสอบสวนเป็นไปโดยถูกต้องรอบคอบ เป็นความบกพร่อง ซึ่งมีมูลความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง ทั้งนี้ ป.ป.ช. มีมติให้ส่งรายงานสำนวนการไต่สวนเอกสารหลักฐานและคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัย
สำหรับคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อเดือน ก.ย. 2555 นายวรยุทธ หรือบอส ลูกชายคนเล็กของนายเฉลิม อยู่วิทยา มหาเศรษฐี ทายาทเจ้าของเครื่องดื่มชูกำลัง ขับรถสปอร์ตเฟอร์รารี่ ชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่ ป.สน.ทองหล่อ ขณะขี่จักรยานยนต์ตราโล่ เสียชีวิตห่างจากจุดเกิดเหตุ 200 เมตร ปากซอยสุขุมวิท 49 พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น. ขณะนั้น นำตำรวจ 200 นาย ล้อมบ้าน ต่อมาตำรวจท้องที่ได้นำตัวพ่อบ้านซึ่งมีหน้าที่ดูแลรถมามอบตัว
ปรากฏว่าคดีนี้ปี 59 ตำรวจสรุปสำนวนให้อัยการสั่งฟ้องได้เพียง 2 ข้อหาคือ ข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และข้อหาไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือผู้ถูกชน ขณะที่ข้อหาขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนดเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต หมดอายุความตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย. 2556 หลังเกิดเหตุ 1 ปี และตำรวจไม่ฟ้องข้อหาขับรถโดยขณะมึนเมาด้วย แม้จะมีคำสั่งฟ้องคดีดังกล่าว แต่ทีมทนายขอเลื่อนนัดต่อเนื่องถึง 7 ครั้ง ส่งผลให้คดีขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดฯ ซึ่งเป็นความผิดลหุโทษ มีอายุความ 1 ปี หมดอายุความ