คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าของสหรัฐฯ หรือ The Federal Trade Commission (เอฟทีซี) ยื่นฟ้องเฟซบุ๊กเมื่อ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา ข้อหา 'กระทำการผูกขาดตลาดโซเชียลเน็ตเวิร์คส่วนบุคคลเป็นระยะเวลาต่อเนื่องหลายปีผ่านกระบวนการต่อต้านการแข่งขันอย่างเสรี'
ในแถลงการณ์ของเอฟทีซีที่ระบุว่ามีการสืบสวนสอบสวนประเด็นดังกล่าวเป็นระยะเวลานานทั้งยังได้รับความร่วมมือจากอัยการสูงสุดจากทั้ง 46 รัฐ ชี้ว่า ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา เฟซบุ๊กดำเนินธุรกิจด้วยกลยุทธ์กำจัดคู่แข่งทางการค้าในตลาด เริ่มด้วยการเข้าซื้ออินสตาแกรมเมื่อปี 2555 (2012) ด้วยมูลค่าสูงถึง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเอฟทีซีระบุว่า เป็นการควบรวมกิจการที่กำลังจะกลายไปเป็นคู่แข่งในอนาคต (up-and-coming rival)
เท่านั้นยังไม่พอ อีก 2 ปีต่อมา (2557) แพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ของโลกยังเข้าควบรวมกิจการกับแอปพลิเคชันติดต่อสื่อสารที่สามารถทั้งส่งข้อความและโทรศัพท์หากันอย่าง 'วอตส์แอปป์' เพิ่ม โดยใช้เงินไปถึง 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 5.7 แสนล้านบาท
ทั้งยังเอาเปรียบ (imposition) บริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อป้องกันความเสี่ยงเรื่องคู่แข่งในทางตลาด โดย 'เอฟทีซี' ชี้ว่า การกระทำข้างต้นของเฟซบุ๊กเป็นการทำร้ายการแข่งขันในตลาด ส่งผลให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการใช้งานแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียส่วนบุคคลน้อยลง ทั้งยังเป็นการลดทอนทางเลือกของเหล่าบริษัทโฆษณา
คำยื่นฟ้องต่อศาลรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ ครั้งนี้มีข้อเรียกร้องสำคัญบังคับเฟซบุ๊กต้องแบ่งขายบริษัทในมืออย่างอินสตาแกรมและวอตส์แอปป์ออกสู่ตลาด ทั้งยังห้ามมิให้เฟซบุ๊ก ลิดรอนตลาดการแข่งขันของบริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ อีกทั้ง หากเฟซบุ๊กต้องการเข้าซื้อหรือควบรวมกิจการในอนาคต จำเป็นต้องของอนุญาตก่อนเท่านั้น
เลทิเชีย เจมส์ อัยการสูงสุดของรัฐนิวยอร์ก ระบุในงานแถลงข่าวว่า "วันนี้เราส่งสารอย่างเป็นทางการถึงเฟซบุ๊กและบริษัทอื่นๆ ที่มีความพยายามบั่นทอนการแข่งขัน, ทำร้ายบริษัทขนาดเล็ก, ลดทอนนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ รวมไปถึงการบั่นทอนการปกป้องความปลอดภัยส่วนบุคคล ว่าพวกคุณจะเจอกับทีมเต็มกำลังของเราแน่"
ขณะเดียวกัน เจนนิเฟอร์ นิวเสตด รองประและที่ปรึกษาทั่วไปของเฟซบุ๊ก โต้กลับว่า สาเหตุที่บริษัทขนาดเล็กเลือกเข้ามาโฆษณากับแพลตฟอร์มไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่มีทางเลือก แต่เพราะเฟซบุ๊กเป็นแอปพลิเคชันที่ตอบโจทย์และคุ้มค่ากับเงินมากที่สุด
ความพยายามในการบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้าเพื่อป้องกันการผูกขาด หรือที่รู้จักกันในชื่อ antitrust law ของสหรัฐฯ ไม่ได้เกิดขึ้นกับเจ้าตลาดโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กเท่านั้น ราวเดือนที่ผ่านมา กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ ยังยื่นฟ้อง 'กูเกิล' ในข้อหาคล้ายคลึงกัน หลังเชื่อได้ว่าบริษัทใช้วิธีพิเศษในการครองตลาดค้นหาและกิจการโฆษณาบนวงการเสิร์ชเอนจิน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง;