ไม่พบผลการค้นหา
'ชัยชนะ' เชิญ 'ตร.' แจงขยายผลดำเนินการปม 'ขบวนเสด็จฯ' อย่างไร พร้อมขุดข้อเท็จจริงระเบียบราชทัณฑ์-ค่ารักษาตัว 'ทักษิณ' แง้มยกโครงการฝายเอลนีโญเข้าถลกในศึกซักฟอก

วันที่ 22 ก.พ. ที่อาคารรัฐสภา ชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยก่อนเข้าประชุมคณะกรรมาธิการฯ โดยระบุว่า วาระการประชุมวันนี้เป็นการติดตามความคืบหน้ามาตรการรักษาความปลอดภัยขบวนเสด็จ โดยได้เชิญสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ในส่วนของกองบัญชาการที่เกี่ยวข้อง มาสอบถามข้อมูลกรณีมีบุคคลกระทำพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่อขบวนเสด็จ เมื่อวันที่ 4 ก.พ. ที่ผ่านมา มีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร และแนวทางป้องกันเหตุในอนาคต การปรับเปลี่ยนแก้กฎหมายให้เข้มแข็งขึ้นเป็นอย่างไร การออกหมายจับบุคคลที่กระทำความผิดจะต้องสืบสวนขยายผลว่ามีผู้อยู่เบื้องหลังหรือไม่   

ส่วนกรณีที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้รับการพักโทษและกลับมาพักอาศัยที่บ้านแล้วนั้น คณะกรรมาธิการฯ ชัยชนะ ระบุว่า สิ่งที่ต้องการ คือ เอกสารจากกรมราชทัณฑ์ที่คณะกรรมาธิการฯ ได้ทำหนังสือสอบถามไปเกี่ยวกับระเบียบที่ราชทัณฑ์ เคยชี้แจงด้วยวาจาว่าค่ารักษาพยาบาล ทักษิณ เป็นการใช้สิทธิตามสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 

"โดยอยากทราบว่ามีระเบียบใดรองรับ การชี้แจงเกี่ยวกับกระบวนการการเข้ารับโทษทั้งหมด ตั้งแต่เริ่มต้น การกรอกข้อมูลประวัติต่าง ๆ การไม่ตัดผม เป็นเพราะเหตุใด เนื่องจากสังคมสงสัยว่ากระบวนการที่เกิดขึ้นถูกต้องหรือไม่ ต้องการทราบความเป็นจริง หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงได้ก็จบ แต่หากชี้แจงไม่ได้ก็ไม่จบ ยกตัวอย่าง ค่ารักษาพยาบาล 180 วัน ค่าห้องพัก ค่าแพทย์ ค่ายา รวม 5 ล้านบาท สปสช. จ่ายได้ทั้งหมดหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นญาติผู้ต้องขังคนอื่นก็จะสามารถใช้สิทธิ์นี้ได้ ซึ่งตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 สิทธิผู้ต้องขัง บัญญัติว่ามีสิทธิเข้ารับการรักษาตั้งแต่วันที่ถูกจองจำ หากศึกษาขั้นพื้นฐาน ราชทัณฑ์จะออกค่าใช้จ่ายให้ แต่หากสูงกว่าการขั้นพื้นฐานสามารถใช้เงินส่วนตัวได้ โดยสิ่งที่ราชทัณฑ์ต้องทำ คือ ออกมาชี้แจงว่า สิทธิที่จะใช้เงิน สปสช. ได้นั้น อยู่ในมาตราใดและบัญญัติไว้ในกฎหมายใด ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ได้ทำหนังสือไปสอบถามไป 2 ครั้ง มีกรอบเวลาให้ชี้แจง 90 วันหากไม่มีการดำเนินการก็จะพิจารณาว่าจะทำอย่างไร" ชัยชนะ กล่าว

ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ประเด็น ทักษิณ จะเป็นจุดเริ่มของพรรคประชาธิปัตย์ หรือไม่ ชัยชนะ มองว่าประเด็นนี้ไม่ใช่ปัญหาเรื่องการทำงานของรัฐบาล แต่เป็นปัญหาที่สังคมสงสัยว่ามีการดำเนินการแบบ 2 มาตรฐานหรือไม่ ปัญหาของรัฐบาลมีหลายอย่าง เช่น โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งผ่านมากว่า 9 เดือนแล้ว ที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้คำมั่นว่าจะแจกเงินให้กับผู้ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปและไม่กู้เงิน ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ซึ่งกระทรวงแรงงานระบุว่าทำได้สูงสุดไม่เกิน 400 บาท เงินเดือนระดับปริญญาตรี 25,000 บาท เป็นต้น 

ชัยชนะ มองว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจต้องวิจารณ์ผลงานและการทำงานของรัฐบาล ซึ่งนโยบายที่ได้ยกตัวอย่างไป อยากถามนายกรัฐมนตรีว่าจำได้หรือไม่ ส่วนกรณีที่รัฐบาลอ้างว่าไม่มีงบประมาณในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยหากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2567 ผ่านวาระ 2 และ 3 จะรอดูว่ารัฐบาลจะอ้างอย่างไรอีก จะอ้างว่าแผนการใช้จ่ายงบฯ ไม่ได้คิดเอง เป็นแผนมาตั้งตั้งแต่สมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยตนในฐานะอนุกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ทราบว่า มีการใช้ไปพลางแล้วกว่า 1 ล้านล้านบาท ซึ่งขอตั้งข้อสังเกตว่างบฯ จำนวนนี้ใช้ไปกับอะไร เหตุใดจึงกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้    

นอกจากนี้ ชัยชนะ ยังตั้งคำถามถึงการตั้งงบฯ โครงการก่อสร้างฝายรับมือสถานการณ์เอลนีโญ ที่อยู่ในส่วนของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ว่า มีการตั้งงบฯ ไว้ที่ฝายละไม่เกิน 500,000 บาท (480,000-490,000 บาท) แบ่งเป็นกว่า 100 โครงการทั่วประเทศ รวมกว่า 100 ล้านบาท ใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างแบบเฉพาะเจาะจง ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่าสถานการณ์เอลนีโญจะส่งผลกระทบพร้อมกันทั่วประเทศเลยหรือไม่ ทั้งนี้ ตนจะติดตามอย่างต่อเนื่องว่าบริษัทที่ได้รับโครงการฯ นี้ จะมีกี่บริษัท และเป็นบริษัทที่จดทะเบียนเมื่อไหร่ ซึ่งขอฝากไปถึงอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น หากดำเนินการอย่างโปร่งใสก็อยากให้ชี้แจง