ไม่พบผลการค้นหา
‘ชัชชาติ’ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เข้าพบ ‘ปวีณา’รับฟังแนวคิดปัญหาเด็กและสตรีในพื้นที่กรุงเทพฯ ชี้ต้องจัดทำสายด่วนรับร้องทุกข์ปัญหาสังคม เตรียมเปิดแคมเปญพัฒนากรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่ ขณะที่ ‘ปวีณา’ เสนอแนะ กทม.จัดตั่งศูนย์ช่วยเหลือสังคมเร่งด่วน 24 ชม.

วันที่ 24 ก.พ. 2565 ที่มูลนิธิปวีณา หงสกุลเพื่อเด็กและสตรี จ.ปทุมธานี ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และ ดร.ยุ้ย-เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ทีมนโยบายเด็กและสตรี หารือแนวทางสร้างเมืองน่าอยู่เพื่อเด็กและผู้หญิง ร่วมกับ ปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณา หงสกุลเพื่อเด็กและสตรี 

โดย ชัชชาติ กล่าวว่า ตนเห็นว่าปัญหาเด็กและสตรีเป็นเรื่องใหญ่ที่ กทม.ต้องเข้ามาดูแล และเนื่องจากเคยมีประสบการณ์ทำงานร่วมกับ มูลนิธิปวีณา หงสกุล มาตั้งแต่สมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี วันนี้จึงตัดสินใจชวนทีมงานเพื่อนชัชชาติมาฟังแนวคิดจากผู้มีความเชี่ยวชาญที่ทำเรื่องนี้มาโดยต่อเนื่องและยาวนาน เพื่อหารือว่านโยบายเกี่ยวกับเด็กและสตรีในพื้นที่กทม.ควรจะเป็นอย่างไร 

โดยจากการพูดคุยกับมูลนิธิในวันนี้ เห็นพ้องกันว่า สิ่งที่สามารถทำได้เลย คือ ศูนย์เด็กแรกเกิด สำหรับช่วงอายุ 0-3 ปี เพราะ กทม.ยังมีช่องว่างตรงนี้อยู่ และให้ทำงานแบบบูรณาการร่วมกันกับศูนย์ผู้สูงอายุ เพราะคนเหล่านี้ถือเป็นสมบัติของชุมชน สามารถทำคุณประโยชน์ได้มาก นอกจากนี้ ต้องมีการการจัดทำสายด่วนรับเรื่องราวร้องทุกข์เกี่ยวกับปัญหาสังคม รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์ปรึกษาปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตด้วย

ชัชชาติ ปวีณา เกษรา -ED47-42E2-85E9-6685175D2447.jpegชัชชาติ -494872096F28.jpeg

ด้าน ดร. เกษรา ย้ำว่า ทีมงานเพื่อนชัชชาติให้ความสำคัญกับเรื่องเด็กและสตรี เพราะในปัจจุบัน พบว่า ตัวเลขปัญหาทางสังคมเกี่ยวกับเด็กและสตรีเพิ่มขึ้นตามปัญหาเศรษฐกิจ และในฐานะที่กทม.เป็นเจ้าบ้าน ก็ถือเป็นความรับผิดชอบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งกทม.ต้องเข้าไปช่วยเหลือชุมชนในเชิงรุกมากขึ้น คือนอกจากการให้ชุมชนช่วยเหลือตัวเองแล้ว กทม.จะต้องเข้าไปให้การสนับสนุนเพิ่มเติม โดยหัวใจสำคัญอีกอย่างที่ต้องมี คือ การแก้ไขปัญหาให้ได้ทันท่วงทีเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น

ตอนท้าย ชัชชาติ เปิดเผยว่าเตรียมจัดงานแถลงเปิดนโยบายพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่ของทุกคน พร้อมเปิดตัวเครือข่ายอาสาเพื่อนชัชชาติเบื้องหลังนโยบาย ในวันจันทร์ที่ 28 ก.พ. 2565 เวลา 17.00 น. ผู้สนใจสามารถติดตามบรรยากาศสดได้ทางเฟซบุ๊กไลฟ์ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” นอกจากนี้ เตรียมเปิดตัวเว็บไซต์อย่างเป็นทางการ เร็วๆ นี้ เพื่อให้คนกรุงเทพฯ ได้ศึกษานโยบายจากกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน และการลงพื้นที่ กทม. ของชัชชาติตลอดกว่า 2 ปีที่ผ่านมา 

ด้าน ปวีณา กล่าวว่า เป็นเรื่องน่ายินดีที่ได้พูดคุยกับทีมงานเพื่อนชัชชาติ ต้องยอมรับว่าปัญหาเกี่ยวกับเด็กและสตรีเป็นปัญหาสังคมที่ส่งผลกระทบระดับชาติโดยในพื้นที่ กทม. รวมถึงในหลากหลายจังหวัดทั่วประเทศ อัตรารับเรื่องราวร้องทุกข์เข้ามาที่มูลนิธิก็สูงเป็นอันดับหนึ่ง ไม่ว่าจะปัญหาอาชญากรรมทางเพศ ความรุนแรง หรือปัญหายาเสพติด ซึ่งทางมูลนิธิก็ทำงานร่วมกับหลายหน่วยงานของรัฐ อาทิ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงยุติธรรม รวมทั้งภาคเอกชน และสื่อมวลชนมาโดยตลอด ดังนั้น ภายใต้ความร่วมมือกับ กทม. หากสามารถจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือสังคมเร่งด่วน 24 ชม. ทำงานแบบบูรณาการกันกับหน่วยงานอื่นขึ้นมาได้ก็เป็นเรื่องดี 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปวีณา หงสกุล เคยลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในนามอิสระ เมื่อปี 2547 โดย ปวีณา ได้รับคะแนนเสียง 619,039 คะแนนจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2547 มาเป็นอันดับ 2 โดยครั้งนั้น อภิรักษ์ โกษะโยธิน จากพรรคประชาธิปัตย์ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. สมัยแรก

ปวีณา หงสกุล -7F11-4FBA-8CAE-A846EA2F68BD.jpegปวีณา หงสกุล -3E53B8DFF98B.jpegชัชชาติ ปวีณา  499D2BC99BC5.jpeg