ไม่พบผลการค้นหา
อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เผยสูบบุหรี่ในบ้าน หากมีคนได้รับผลกระทบ เกิดปัญหาสุขภาพและยืนยันได้ว่าเกิดจากการได้รับควันบุหรี่ ถือว่าผู้สูบมีความผิดในฐานของการก่อความรุนแรงในครอบครัว

นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) กล่าวภายในการประชุมวิชาการบุหรีกับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 18 “Tobaco and Lung Health”ว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2562 จะมีผลบังคับใช้หลังประกาศ 90 วัน จึงจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 ส.ค.2562 

โดยพ.ร.บ.ฉบับนี้จะเน้นการป้องกันความรุนแรงในครอบครัว ส่งเสริมครอบครัว และคุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลต่างๆ โดยในส่วนของความรุนแรงในครอบครัว กำหนดไว้ชัดเจนว่าเป็นการกระทำใด ๆ ที่บุคคลในครอบครัวได้กระทำต่อกันโดยเจตนาให้เกิดหรือในลักษณะที่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ สุขภาพ เสรีภาพ หรือชื่อเสียงของบุคคลในครอบครัว ซึ่งครอบครัวมี 3 ลักษณะ คือ ตามสายโลหิต ตามพฤตินัย/นิตินัย และบุคคลที่ต้องพึ่งพาอาศัยและอยู่ในครัวเรือนเดียวกัน

นายเลิศปัญญา กล่าวอีกว่า ในส่วนของการสูบบุหรี่ในบ้านของบุคคลในครอบครัวจะส่งผลเสีย คือ 

1.ทำให้สัมพันธภาพครอบครัวเริ่มลดลง เพราะลูก เมียไม่อยากที่จะเข้าใกล้ หรือลูกเกิดพฤติกรรมเลียนแบบด้วยการสูบบุหรี่ 

2.เมื่อไม่ได้สูบบุหรี่แล้วจะเกิดอาการหงุดหงิด ก้าวร้าวด้วยท่าทางและวาจา นำสู่การก่อความรุนแรงทางกายหรือจิตใจ

3.คนในบ้านได้รับควันบุหรี่มือสองและมือสาม ซึ่งในกรณีนี้หากคนในบ้านได้รับผลกระทบ โดยเกิดปัญหาสุขภาพและยืนยันได้ว่าเกิดจากการได้รับควันบุหรี่ ตามพ.ร.บ.ใหม่นี้จะถือว่าผู้ที่สูบบุหรี่ในบ้านมีความผิดในฐานของการก่อความรุนแรงในครอบครัว เพราะทำให้เกิดอันตรายแก่สุขภาพของคนในครอบครัว อาจจะต้องขึ้นศาลเพื่อพิจารณาความผิด 2 ศาล คือ ศาลอาญา กรณีที่มีการทำร้ายทางกาย ได้รับโทษตามกฎหมายอาญา และศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ซึ่งศาลอาจมีคำสั่งให้คุ้มครองคนในครอบครัวและสั่งบังคับให้ผู้ที่สูบบุหรี่และทำให้เกิดปัญหาในบ้านเข้ารับการบำบัดและเลิกบุหรี่ เพื่อไม่ให้ทำพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความรุนแรงอีก