ไม่พบผลการค้นหา
แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์ SME มองสถานการณ์ของผู้ประกอบการรายย่อย โดยเฉพาะเรื่อง 'ภาระหนี้สิน' และ ‘ต้นทุนการผลิต’ และวิเคราะห์ 7 ความเสี่ยงเศรษฐกิจ-SME ไทย ปี 67

เศรษฐกิจไทยวิกฤตหรือไม่วิกฤต ? กลายเป็นประเด็นถกเถียงกันมาพักใหญ่ สืบเนื่องจากนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล

การถกเถียงบางส่วนเป็นเรื่อง ‘การเมือง’ บางส่วนเป็นการต่อสู้ทาง ‘ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์’ อีกบางส่วนเป็นวิธีมอง วิธีนิยามว่า ‘วิกฤต’ คือ หายนะเฉพาะหน้าที่เกิดขึค้นแล้ว หรือหายนะที่คาดหมายได้ว่าจะเกิดในอนาคตอันใกล้

ผู้ประกอบการรายย่อย หรือ SME  ซึ่งมีอยู่ 2.7 ล้านราย จ้างงานคนกว่า 5.5 ล้านคน คือภาคส่วนที่ผูกพันกับระบบเศรษฐกิจอย่างแนบแน่น และอยู่ในชั้นฐานราก จึงน่าจะให้คำตอบในเรื่องนี้ได้ดี

แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์ SME ไทย นิยามว่า “ตอนนี้เศรษฐกิจไทยกำลังจะเดินไปสู่วิกฤตแล้ว” และ “ผู้ประกอบการรายย่อยอยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วง” ทำไมเขาจึงคิดเช่นนั้น

แสงชัยอธิบายว่า ถ้าโฟกัสที่ตัว GDP ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดหมายว่าจะะเติบโตที่ราว 4.4% แต่หากมองไส้ในจะพบว่า SME มีสัดส่วนในความเติบโตนั้นเพียง 3% 

“เศรษฐกิจในภาพรวมอาจดูสวยและไปได้อยู่ แต่ผู้ประกอบการรายย่อยมีสัดส่วนรายได้ที่น้อยมาก หากลองเอามูลค่า 3% ของจีดีพี (ประมาณ 5 แสนล้านบาท) มาหาร 2.7 ล้านผู้ประกอบการ แล้วหาร 12 เดือน เฉลี่ยแล้วได้ประมาณรายละ 10,000 กว่าบาท หากรวมต้นทุนแล้วประมาณรายละ 15,000 กว่าบาท” แสงชัยกล่าว

เขาย้ำว่า สถานการณ์ของผู้ประกอบการรายย่อยน่าเป็นห่วง หากไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ SME อาจประสบปัญหาเรื่องรายได้ไม่พอค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะเรื่อง 'ภาระหนี้สิน' และ ‘ต้นทุนการผลิต’ ที่มากขึ้น ขณะเดียวกัน SME ก็ผลักภาระไปให้ผู้บริโภคผ่านการขึ้นราคาได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากมีคู่แข่งเยอะ ผู้ประกอบการรายใหญ่มีขีดความสามารถในการแข่งขันดีกว่า

หากมองแยก sector แสงชัยอธิบายว่า

ภาคการส่งออก

ปี 2566 ขาดดุลการค้าเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ด้วยปัจจัยเรื่องการนำเข้า เรื่องการปรับตัวของราคาต้นทุนต่างๆ ค่อนข้างสูง 

SME ที่อยู่ในภาคการส่งออกทางตรง มีอยู่ราวๆ 22,000 ราย และมีสัดส่วนของการส่งออกอยู่ประมาณ 13% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด

“เรามองว่า ขีดความสามารถของเอสเอ็มอีภาคการส่งออก ส่วนใหญ่แล้วจะเป็น Supply Chain ให้กับกิจการขนาดใหญ่ เรื่องการส่งออกจะต้องมีการปรับตัวเรื่องขีดความสามารถที่จะขยายตลาดใหม่ๆ ออกไป”

ภาคการท่องเที่ยว 

แม้ปริมาณนักท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น แต่เรื่องมูลค่าการท่องเที่ยวนั้น แสงชัยมองว่าสิ่งสำคัญในปีถัดไปคือ การส่งออกสินค้าและบริการสร้างสรรค์  เพราะจากตัวเลขจีดีพีของประเทศที่สภาพัฒน์ฯ ประกาศว่าขยายตัวเพียง 2.4-2.5%  ซึ่งถือว่าต่ำมาก แต่การขยายตัวของภาคบริการสร้างสรรค์นั้นเป็นไปได้ดี

“ถ้าเรามียุทธศาสตร์ในการส่งออกสินค้าและบริการสร้างสรรค์ ในความหมายคือ เราทำเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ แต่ในทีนี้หมายถึงการส่งออก ไม่ใช่แค่เรื่องการตั้งรับรอนักท่องเที่ยวเข้ามาเสพซอฟพาวเวอร์ในประเทศเท่านั้น สินค้าที่เป็นศิลปะ วัฒนธรรม อาหาร กีฬา แฟชั่น สิ่งทอ ฯลฯ ทำอย่างไรในการรุกตลาดไปยังนานาประเทศได้ ประกอบกับคุณภาพ มาตรฐานการบริการต่างๆ และความปลอดภัยในการท่องเที่ยวที่ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวต่างชาติให้ได้” 

ภาคการค้า

แสงชัยมองว่า ปี 2566 ค่อนข้างซบเซา สังเกตจากช่วงปีใหม่ก็พอรู้ว่าไม่คึกคักเท่าที่ควร เพราะประชาชนล้วนมีรายจ่ายมากกว่าหรือเบียดๆ กับรายรับ ภาวะหนี้สินซึ่งสะท้อนผ่านหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น สถานการณ์ NPL (หนี้เสีย) ที่เรามีมากกว่า 3 ล้านราย มูลค่า 300,000 กว่าล้าน ทำให้ตัวเลขกำลังซื้อหายไป ขณะที่ต้นทุนสินค้าต่างๆ ปรับตัวสูงขึ้น

ภาคการเกษตร

แสงชัยถือว่า เป็นพระเอก เพราะมีสถานการณ์ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากสัญญาณการส่งออกสินค้าเกษตรที่เติบโตขึ้นทุกปี และมีดุลการค้าเป็นบวกทุกปีเช่นกัน แต่ยังมีความเสี่ยงเรื่องภัยพิบัติ ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง ปรากฏการณ์เอลนีญโญที่ต้องจัดการน้ำให้ดี

SME มองถ้าปล่อยอย่างนี้ ไม่กระตุ้น เศรษฐกิจจะวิกฤติ 

“ถ้าเรารอให้วิกฤติแล้วแก้ปัญหา ก็เหมือนกับผีหนีเข้าป่าช้า แต่ถ้าเรามองว่า วันนี้เศรษฐกิจกำลังจะเกิดวิกฤติ เราบอกกันว่าจีดีพีเติบโต-การบริโภคเพิ่ม แต่ผมอยากจะให้ย้อนกลับไปดูนิดหนึ่งว่า เราพูดแต่เรื่องจีดีพี แต่เราไม่เคยดูไส้ในของการกระจายรายได้” 

“จีดีพีโต มันโตจากกิจการขนาดใหญ่  เกิดจากการขยายตัวการลงทุนของกิจการขนาดใหญ่ ส่วนการกระจุกตัวของความจน การกระจุกตัวของรายได้ต่ำ จะอยู่ที่ภาคเศรษฐกิจฐานราก ผู้ประกอบการรายย่อย เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน”

“วันนี้เรามีผู้ประกอบการรายย่าย 2.7 ล้านราย มีเกษตรกรประมาณ 10 ล้านครัวเรือน มีวิสาหกิจชุมชนอีก 80,000 กว่าราย ความเหลื่อมล้ำมันเป็นเรื่องของการกระจายรายได้ เหมือนกับว่า เศรษฐกิจยิ่งโต ทำไมคนยิ่งจน”

“มันสามารถเปรียบเทียบได้ง่ายๆ ว่า แบงก์ทำกำไรมหาศาล ขณะที่ดอกเบี้ยที่ประชาชน เอสเอ็มอี เกษตรกรต้องแบกรับ มันก็ท่วมท้นเช่นกัน” 

แสงชัยยืนยันว่า ในฐานะ SME มองว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจตอนนี้เป็นเรื่องจำเป็น

“จำเรื่องแบงก์ชาติออกกองทุน 4 แสนล้านได้ไหม เพื่อไปพยุงหุ้นกู้ แต่พอจะกระตุ้นเศรษฐกิจ 5 แสนล้าน ทำไมแบงก์ชาติถึงตื่นเต้นจังเลย หาก 5 แสนล้านนี้ ประชาชนได้ประโยชน์ กับหุ้นกู้ 4 แสนล้านที่นักลงทุนมีเงินได้ประโยชน์ ผมถามหน่อยว่า แทนที่จะช่วยกันคิดหาวิธีให้กลไกและมาตรการต่างๆ เป็นไปได้มากขึ้น ทำไมถึงค้านกันจัง” แสงชัยกล่าว

7 ความเสี่ยงเศรษฐกิจ-SME ไทย ปี 2567 

1.สงคราม

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในหลายภูมิภาคของโลก ทั้งยูเครน-รัสเซีย, อิสลาเอล-ปาเลสไตน์, การระเบิดใหญ่ในอิหร่าน รวมถึงความตึงเครียดที่เกิดจากเกาหลีเหนือระดมยิงปืนใหญ่ใกล้กับเกาะของเกาหลีใต้ หรือแม้กระทั่งสงครามการค้าระหว่างสองยักษ์ใหญ่ จีน-สหรัฐอเมริกาที่มีมายาวนาน เหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ ทั้งโลจิสติกส์ ความผันผวนของราคาพลังงงาน ปัจจัยการผลิตและเครื่องจักร

2. เศรษฐกิจ

ผู้บริโภควิตกังวลต่อความผันผวนของโลก โควิด19 ยังอยู่กับเราเพราะบอบช้ำมาตั้งแต่ปี 2563-65 การฟื้นตัวต้องใช้เวลา , งบประมาณก็ติดขัดมาตั้งแต่ปี 2566 ปีนี้คาดหวังว่าจะดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว เพราะงบประมาณกำลังจะผ่าน แต่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือมาตรการกระจายรายได้ภาครัฐ ต้องออกแบบและเป็นนวัตกรรมที่สร้างผลกระทบเชิงบวกกับเศรษฐกิจฐานรากมากยิ่งขึ้น

ที่น่าห่วงคือ ปัญหาหนี้ทั้งระบบ หนี้ครัวเรือนของไทยสูงมากและต้องจัดการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อลดหนี้เสียและหนี้นอกระบบ รัฐบาลกำลังพยายามทำเรื่องหนี้แบบครบวงจร ตรงนี้เป็นทิศทางที่ SME สนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชน

อีกจุดที่สำคัญคือ การรุกคืบของธุรกิจต่างชาติ ที่มาพร้อมแต้มต่อทางภาษีการส่งเสริมการลงทุนต่างๆ รวมถึงการหลบเลี่ยงภาษีผิดกฎหมาย หลายย่านเจอการขยายธุรกิจของชาวต่างชาติแบบที่ส่งผลกระทบกับ SME และทำให้เกิดสงครามการแข่งขันด้านราคา เพราะ SME มีต้นทุนด้านภาษี ต้นทุนการนำเข้า แข่งกับธุรกิจหลบเลี่ยงภาษีหรือผิดกฎหมายไม่ได้ ถ้าภาครัฐไม่ดำเนินการเข้มงวดกับการดำเนินกิจการของต่างชาติให้เกิดความเท่าเทียมกัน จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลลบ

3. สังคม

เราเผชิญทั้งปัญหายาเสพติด การพนันออนไลน์ ทุจริตคอร์รัปชัน รวมถึงการที่ผู้ถือกฎหมายเข้าไปมีส่วนร่วมทำให้เกิดกระบวนการทางยุติธรรมที่บิดเบี้ยว ประชาชนขาดความเชื่อมั่น ตามมาด้วยปัญหาอาชญากรรมที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจด้วย

4.สิ่งแวดล้อม

เราจะพลิกวิกฤตสิ่งแวดล้อให้เป็นโอกาสของ SME อย่างไร ประเด็นคาร์บอนเครดิต คาร์บอนยูทิลิตี้ กรีนอีโคโนมี ฯลฯ ภาครัฐทำอะไรให้กับเกษตรกร SME ในการส่งผ่านความรู้ความตระหนัก กลไกที่จะรองรับสินค้าและบริการของผู้ประกอบการที่จะได้รับผลกระทบของ CBAM หรือมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป ในอนาคตเรายังต้องเผชิญกับมาตรการภาษีสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นทั้งในและต่างประเทศด้วย อยากให้หน่วยงานรัฐร่วมกับเอกชน จัดระเบียบกลไก ในการเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาเรื่องเหล่านี้ เพื่อการแข่งขันในเวทีโลก ซึ่งต้องการการจัดการอย่างเป็นระบบ

5. สุขภาพ

ทั้งสุขกายและสุขภาพจิตของคนไทย วันนี้เรายังต้องเผชิญกับ PM2.5 ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ปรากฏการณ์เรื่องสุขภาพทำให้เกิดภาวะการเจ็บป่วย คุณภาพการรักษาพยาบาลที่ยังเหลื่อมล้ำ รัฐบาลกำลังจะทำ 30 บาทโปร ก็เป็นกลไกหนึ่งที่จะพัฒนาระบบให้ดีขึ้น และเราอยากเข้าสู่สังคมสูงวัยที่มีคุณภาพที่ต้องการรักษาพยาบาล ต้องการการอยู่อย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรี สิ่งเหล่านี้จะเป็นผลกระทบในระยะต่อไป ถ้าไม่มีการเตรียมการ

6.การศึกษา

การสร้างคนเพื่อแข่งขันกับโลก ระบบการศึกษาเรามีหลักสูตรที่รองรับทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมแล้วหรือยัง ทันต่อความต้องการของนักลงทุนและผู้ประกอบการหรือไม่ วันนี้ก็ยังไม่ทัน และคุณภาพการศึกษาก็ยังเหลื่อมล้ำไม่ใกล้เคียงกัน เราอยากให้รัฐบาลทำเป็นวาระแห่งชาติ เพราะต้องเร่งเพิ่มขีดความสามารถของกำลังคนภายในประเทศ

7. เสถียรภาพทางการเมือง

มองว่านโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเชิงรุกหลายอย่างเป็นแนวโน้มที่ดี ถ้าสามารถทำได้ดีเสถียรภาพทางการเมืองก็จะไปได้ดี แต่เราต้องดุความผันผวนในแง่การเลือกตั้ง สว. ที่จะหมดวาระกลางปีนี้ว่าทิศทางจะเป็นอย่างไร การแก้ไขกฎหมายเร่งด่วนจะมีอันหยุดชะงักหรือไม่ผ่านอย่างไรหรือไม่