นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกวุฒิสภา เปิดเผยว่า ตนจะยื่นหนังสือถึงประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ในวันที่ 27 เม.ย. 2563 เพื่อขอให้ไต่สวนโดยด่วนและส่งเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อพิจารณาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีมีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายหรือฝ่าฝืนหรือ ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง หรือไม่ จากกรณีทำจดหมายเปิดผนึกถึงมหาเศรษฐีประมาณ 20 ราย
โดยในหนังสือของตนความยาวเกือบ 6 หน้ากระดาษ ได้อ้างถึงคำแถลงออกรายการวิทยุโทรทัศน์และเนื้อหาในจดหมายเปิดผนึกลงวันที่ 20 เม.ย.2563 ขอให้มหาเศรษฐีให้ความร่วมมือระดับ ชาติช่วยเหลือรัฐบาลต่อสู้โรคระบาดโควิด-19 รวมทั้งการให้สัมภาษณ์สื่อต่าง ๆ จากการตรวจอย่างถี่ถ้วน รอบด้านทั้งรัฐธรรมนูญ กฎหมาย คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พบว่าเข้าข่ายกระทำความผิดและสมควรได้รับโทษเหมือนกับนักการเมืองในอดีตที่เคยโดนมาแล้ว ทั้งนี้ ประมวลสาระสำคัญการกระทำความผิดของพล.อ.ประยุทธ์ ที่ระบุในหนังสือคำร้องเป็นข้อๆ ดังนี้
ขัดรัฐธรรมนูญ 25660 มาตรา164, 165 มาตรา 164 บัญญัติว่า ในการบริหารราชการแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีต้องดำเนิน การตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาและต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ 4 ประการ เช่น ปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีความรอบคอบและระมัดระวังในการดำเนินกิจการต่างๆ, รักษาวินัยในกิจการที่เกี่ยวกับเงินแผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด, รัฐมนตรีต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนฯในเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของตน
มาตรา 165 บัญญัติว่า ในกรณีที่มีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่น ดินที่คณะรัฐมนตรี เห็นสมควรจะฟังความคิดเห็นของ ส.ส.และ ส.ว. นายกรัฐมนตรีจะแจ้งไปยังประธานรัฐสภาขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ รัฐสภาจะลงมติในปัญหาที่อภิปรายมิได้
ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 219 ที่เชื่อมโยงถึงมาตรฐานทางจริยธรรมซึ่งเข้าข่ายกระทำผิดอย่างร้ายแรง โดยมาตรา 219 บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้นบังคับใช้และให้ใช้บังคับแก่ ส.ส. ส.ว. และคณะรัฐมนตรีด้วย
สำหรับมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2561 หมวด 1 ข้อ 9 บัญญัติว่า "ต้องไม่ขอ ไม่เรียก ไม่รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดในประการที่อาจทำให้กระทบ กระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่" และข้อ 27 บัญญัติว่า "การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมในหมวด1 ให้ถือว่ามีลักษณะร้ายแรง"
นายเรืองไกร กล่าวว่า ในหนังสือคำร้องถึงประธานป.ป.ช.ระบุว่า จดหมายเปิดผนึกลงนามในฐานะนายกรัฐมนตรี แต่กลับไม่มีเลขที่หนังสือ สถานที่ออกหนังสือ กลุ่มมหาเศรษฐีที่ได้รับจดหมายดังกล่าว บางรายก็ได้ตอบสนองต่อคำขอในจดหมายแล้ว จึงถือได้ว่าการกระทำอาจเข้าข่ายความผิดที่สำเร็จแล้ว โดยเฉพาะในเรื่องการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกฯ ย่อมต้องทราบข้อเท็จจริงจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ผ่านมา อีกทั้งในฐานะผู้ตรา พ.ร.ก.รวม 3 ฉบับ วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท ส่วนหนึ่งก็อาจจะนำไปใช้เพื่อเอื้อประโยชน์บริษัทของกลุ่มคนดังกล่าวซึ่งสื่อมวลชนก็ได้วิพากษ์วิจารณ์ อย่างกว้างขวาง
"กลุ่มคนดังกล่าวบางรายยังมีธุรกิจที่รับสัมปทานจากรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจอันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน ทั้งนี้ไม่ว่าโดยทางตรง หรือทางอ้อมในโครงการต่างๆ เช่น โครงการรถไฟเชื่อมสามสนามบิน โครงการสนามบินพาณิชย์แห่งใหม่ โครงการสัมปทานสินค้าปลอดอากร โครงการ EEC โครงการต่อสัญญาสัมปทานทางด่วน โครงการรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ โครงการเกี่ยวกับกิจการยาสูบ เป็นต้น บางธุรกิจเคยถูกอภิปรายว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนกับตัวนายกฯ อาจมีเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจเหล่านี้ซึ่งเกิดขึ้นก่อนวิกฤตโควิด-19 ดังนั้น เมื่อเกิดวิกฤตโรคระบาดดังกล่าวขึ้นมา มีผลทำให้ธุรกิจต่างๆประสบปัญหาทางการเงินจนต้องร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล กรณีที่เกิดขึ้น จึงมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในลักษณะที่ส่อไปในทางทุจริตเชิงนโยบาย ซึ่งเนื้อความในจดหมายมีการสื่อความหมายว่า เป็นการขอความช่วยเหลือจากกลุ่มคนดังกล่าวก็ตาม แต่หากพิจารณาเปรียบเทียบกับมูลค่าที่กลุ่มธุรกิจเหล่านี้ได้ประโยชน์ไปจากรัฐ ย่อมทำให้เห็นเจตนาที่อาจแอบแฝงซ่อนอยู่ในลักษณะอำพรางไว้" นายเรืองไกร อ้างถึงข้อความในหนังสือ
รวมทั้ง คำพูดของพล.อ.ประยุทธ์ที่บอกกับนายคีรี กาญจนพาสน์ หนึ่งในมหาเศรษฐีที่พูดไว้ตอนหนึ่งว่า "เมื่อท่านมีปัญหา ผมก็จะรีบแก้ไขให้" คำพูดดังกล่าวที่ปรากฏในสื่อนั้น ส่อเป็นการกระทำที่พล.อ.ประยุทธ์ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจขัดต่อรธน. หรือฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่
นายเรืองไกร กล่าวต่อไปว่า ในหนังสือคำร้องได้อ้างถึงคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2กรณี กรณีแรกเมื่อปี 2551 ระบุกรณีการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม และกรณีที่สอง เมื่อปี 2560 ระบุว่าการใช้อำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีต้องถูกตรวจสอบโดยรัฐสภาและนายกฯที่ตกเป็นจำเลยในฐานะหัวหน้าฝ่ายปกครองต้องถูกตรวจสอบโดยองค์กรตุลาการ หรือศาลโดยเข้าสู่กระบวนการพิจารณาและพิพากษาดีโดยศาล
นอกจากนี้ในหนังสือคำร้องยังอ้างถึง ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยเมื่อต้นปี 2563 ในทำนองว่า การใดที่กฎหมายมหาชนไม่ได้ห้ามไว้โดยชัดเจน ย่อมแปลว่า การนั้นไม่ได้รับรองว่าให้กระทำได้
นายเรืองไกร กล่าวในตอนท้ายว่า พฤติการณ์ของพล.อ.ประยุทธ์ในฐานะนายกฯ ที่ขอความร่วมมือ ขอความสนับสนุน ช่วยเหลือจากมหาเศรษฐี เข้าข่ายเป้นการกระทำผิดขัดต่อ รธน. กฎหมาย มาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่ เป็นเรื่องที่ป.ป.ช.ต้องดำเนินการตามหน้าที่ด้วยการไต่สวนโดยเร็วแล้วส่งเรื่องไปให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ หากดำเนินการล่าช้าในลักษณะประวิงเวลา หรือหาเหตุมากล่าวอ้างวินิจฉัยเพื่อตัดตอนคดีไม่ให้ไปถึงศาลยุติธรรม ป.ป.ช.อาจถูกดำเนินการตาม รธน.มาตรา 236 ได้
"ฝากไปถึงรัฐมนตรีในรัฐบาล ถ้าออกมารับประกันว่าการออกจดหมายเปิดผนึกของนายกฯ ที่มีไปถึงมหาเศรษฐีเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ระวังจะเดือดร้อนไปด้วย เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และร้ายแรงมาก ควรปล่อยให้นายกฯ แก้ปัญหาไปเอง" นายเรืองไกร กล่าว
นายเรืองไกร กล่าวสรุปว่า ในเช้าวันที่ 27 เม.ย.นี้ ตนจะส่งหนังสือร้องไปยัง ป.ป.ช. ทางไปรษณีย์ EMS
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :