“ไม่น่าเป็นไปได้อย่างยิ่ง ที่เหตุการณ์เหล่านี้จะเป็นเรื่องบังเอิญ” กรานโฮล์มกล่าว แม้จะไม่ได้มีการให้หลักฐานประกอบคำกล่าวอ้างนี้ก็ตาม ทั้งนี้ รัสเซียได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาของสหรัฐฯ โดยกล่าวว่าคำกล่าวอ้างดังกล่าวนั้น “โง่เง่าและแปลกประหลาด”
ในบทสนทนาทางโทรศัพท์กับ เรเจป ทายยิป แอร์โดอัน ประธานาธิบดีตุรกีนั้น วลาดีเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียกล่าวว่า ความเสียหายดังกล่าวเป็น “วินาศกรรมที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน อันที่จริงอาจเรียกได้ว่า เป็นการก่อการร้ายข้ามชาติ” ทั้งนี้ รัสเซียกำลังวางแผนที่จะนำประเด็นดังกล่าวขึ้นมาหารืออย่างเร่งด่วนในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้กระทรวงการต่างประเทศของรัสเซียเองได้เคยกล่าวหาสหรัฐฯ ว่า สหรัฐฯ ได้รับประโยชน์จากการที่ท่อส่งก๊าซใช้การไม่ได้ เนื่องจากสหรัฐฯ จะสามารถเพิ่มยอดขายก๊าซธรรมชาติของตนได้ โดยจากข้อกล่าวหาในครั้งนั้น สหรัฐฯ ได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวอ้างของรัสเซียเช่นกัน
“มันเป็นไปได้ที่สุดที่จะเป็นการจงใจก่อวินาศกรรม” ไมค์ ฟูลวูด จากสถาบันพลังงานศึกษาแห่งอ็อกซ์ฟอร์ด ให้ความเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ในครั้งนี้ “สาเหตุที่เป็นไปได้ที่สุด คือ การทอดสมอเรือลงน้ำและลากไปตามท่อส่งก๊าซ”
ทั้งนี้ รัสเซล จอห์นส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมจากมหาวิทยาลัยรัฐเพนซิลเวเนีย ระบุว่า ความดันน้ำที่สูงในบริเวณก้นมหาสมุทร ทำให้การแก้ไขปัญหาท่อส่งก๊าซรั่วทำได้ยากขึ้น “มันดูเป็นไปไม่ได้ที่รัสเซียจะทำลายท่อส่งก๊าซของตัวเอง พวกเขาสามารถที่จะตัดการส่งก๊าซจากต้นทางได้หากพวกเขาต้องการหยุดการส่งก๊าซ” จอห์นส์กล่าว
อย่างไรก็ตาม รัสเซียได้หยุดการส่งก๊าซผ่านท่อไปแล้ว ตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา โดยอ้างว่าท่อส่งก๊าซจำเป็นต้องได้รับการซ่อมแซม ในกรณีนี้ กรานโฮล์มกล่าวว่าความสัมพันธ์ด้านพลังงานระหว่างรัสเซียและยุโรปนั้นอยู่ในลักษณะที่ “รัสเซียเป็นหุ้นส่วนที่ไว้ใจไม่ได้”
“ไม่มีประเทศไหนอยากรับความเสี่ยงในการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย ดิฉันคิดว่าสิ่งนี้จะผลักดันให้สหภาพยุโรปหันมาใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดการพึ่งพาจากรัสเซีย” กรานโฮล์มกล่าว
สงครามในยูเครนมีส่วนสำคัญในการเพิ่มราคาพลังงานทั่วโลก ซึ่งนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อในสหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้เกิดการชะลอตัวของการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกได้
“ทุกประเทศกำลังพิจารณาความเสี่ยง ในการพึ่งพาพลังงานจากแหล่งพลังงานเดียวมาก หรือการพึ่งพาพลังงานจากเผด็จการพลังงานมากเกินไป ทุกคนกำลังมองหาวิธีการที่จะมีอิสรภาพทางพลังงานมากขึ้น” กรานโฮล์มกล่าว ทั้งนี้ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานนิวเคลียร์ เป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ที่หลายประเทศพยายามเร่งพัฒนา เพื่อตอบรับกับเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในข้อตกลงปารีส
อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ของมหาวิทยาลัยโคลัมเบียระบุว่า รัสเซียมีส่วนแบ่ง 46% ในตลาดการเสริมสมรรถนะนิวเคลียร์โลก และองค์กรพลังงานระหว่างประเทศยังได้เตือนว่าจีนมีส่วนแบ่ง 80% ในกระบวนการผลิตแผงพลังงานแสงอาทิตย์ทุกขั้นตอน เมื่อถามกรานโฮล์มว่า สหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ จะมีมาตรการอย่างไร ไม่ให้การใช้พลังงานทางเลือกเหล่านี้สร้างภาวะการพึ่งพิงรัสเซียและจีนมากเกินไป เธอกล่าวว่า “การเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดอาจเป็นส่วนหนึ่งของแผนการสันติภาพ และจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจและความมั่นคงทางพลังงานได้”
ทั้งนี้ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สวีเดนได้ค้นพบการรั่วไหลของท่อส่งแก๊สระหว่างรัสเซียและยุโรปอีกครั้ง ทำให้ตลอดทั้งสัปดาห์มีการค้นพบรอยรั่วไปแล้ว 4 รอย หลังจากที่เดนมาร์กและสวีเดนพบการรั่วไหลของแก๊สในท่อนอร์ดสตรีม 1 และ 2 ในช่วงต้นสัปดาห์
บยอร์น ลุน จากศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติสวีเดนกล่าวว่า “มีเหตุระเบิดเกิดขึ้นอย่างแน่นอน” หลังนักแผ่นดินไหววิทยาเปิดเผยว่ามีการสั่นไหวใต้ผิวน้ำก่อนจะเกิดรอยรั่วขึ้น
ผู้นำประเทศในสหภาพยุโรปกล่าวว่า การโจมตีโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงานของยุโรปจะต้องถูกตอบโต้ด้วย “มาตรการที่รุนแรงที่สุด” ในขณะเดียวกัน นอร์เวย์ซึ่งอยู่นอกสหภาพยุโรปกล่าวว่าตนจะส่งหน่วยทหารเพื่อปกป้องท่อส่งก๊าซเหล่านั้นเช่นกัน
ที่มา: