ไม่พบผลการค้นหา
'เครือข่ายเทใจให้เทพา' และ 'เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น' ขอร้องรัฐบาลผ่าน 'ประวิตร' ลงพื้นที่ สงขลา ให้หยุดโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน - นิคมฯ จะนะ ที่อาจสร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชน

วันที่ 6 พ.ย. 2564 สำนักสื่อวาร์ตานีเผยแพร่แถลงการณ์ของ 'เครือข่ายเทใจให้เทพา' และ 'เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น' ถึงคณะรัฐบาลที่นำโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกว่าการกระทรวงกลาโหม มีกำหนดการลงพื้นที่ตรวจติดตามงานด้านการพัฒนาและด้านความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในพื้นที่ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา ในวันนี้ว่า

ให้รัฐบาลทบทวนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน นิคมอุตสาหกรรมจะนะ-เทพา ที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม รวมถึงขอให้หยุดดำเนินโครงการใดๆ ที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ขาดการใช้ข้อมูลและหลักวิชาการในการแก้ไขปัญหา

เทพา - จะนะ.jpeg

แถลงการณ์ทั้งหมดระบุว่า

ทางเครือข่ายเทใจให้เทพาและเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น มีข้อสังเกตการลงพื้นที่ครั้งนี้ของ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ ดังนี้

1.การลงพื้นที่ในครั้งนี้เน้นการพูดคุยกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนนำเสนอปัญหา และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาของภาครัฐและเอกชน ซึ่งประชาชนในพื้นที่เป็นผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง แต่รัฐบาลกลับเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นมากยิ่งขึ้นต่อไป

2.การเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนนำเสนอการพัฒนาพื้นที่บริเวณปากน้ำเทพา และบริเวณใกล้เคียงสะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนา ที่เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชนเท่านั้น แต่ผลกระทบก็ยังคงเป็นของชาวบ้าน เหมือนหลายๆครั้งที่ผ่านมา

3.การแก้ปัญหาการกัดเซาะชายหาดและปัญหาน้ำท่วมและน้ำหลากที่ผ่านมา มักอยู่บนพื้นฐานของการขยายคลอง ย้ายคนออกจากคลองและบริเวณคลองครั้งนี้ ยังมีแนวทางเหมือนที่ผ่านมา และเรื่องการกัดเซาะยังคงยึดแนวทางการถมหินในทะเลอีกหรือไม่ เพราะถ้ายึดแนวทางเดิมก็ยังเกิดการกัดเซาะต่อไป

4.การพยายามกีดกั้นและพยายามปิดข้อเรียกร้องของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบยังเป็นทิศทางของรัฐบาลนี้ จะยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้งและผลกระทบต่อชุมชนและคุณภาพชีวิตของประชาชน เป็นการพัฒนาที่ขาดการมีส่วนร่วม เน้นผลประโยชน์ภาคเอกชนและผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น

ทางเครือข่ายฯจึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลและ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ ดังนี้

1.หยุดดำเนินโครงการใดๆ ที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ขาดการใช้ข้อมูลและหลักวิชาการในการแก้ไขปัญหา

2.ขอให้หยุดและทบทวนการดำเนินโครงการที่มีผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ เช่น โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน นิคมอุตสาหกรรมจะนะ-เทพา รวมทั้งการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งโดยใช้โครงสร้างแข็ง เช่น กำแพงกันคลื่น การถมหินในทะเล

3.ทุกครั้งที่รัฐบาลลงมาในพื้นที่ขอให้หยุดแนวคิดและพฤติกรรมในการคุกคาม ควบคุมไม่ให้ประชาชนแสดงออกถึงปัญหาความเดือดร้อน ปัญหาผลกระทบจากนโยบายของรัฐและเปิดโอกาสให้เสนอปัญหาความเดือดร้อนอย่างตรงไปตรงมา