พื้นที่บริเวณขั้วโลกเหนือแถบมหาสมุทรอาร์กติกกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวจากหลายประเทศในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จำนวนเรือสำราญที่เพิ่มมากขึ้นเพื่อนำนักท่องเที่ยวไปเยี่ยมชมสัตว์ป่าที่หายาก ทิวทัศน์ของทุ่งน้ำแข็ง รวมไปถึงการชมน้ำแข็งละลายบริเวณขั้วโลกเหนือ กำลังคุกคามหมู่บ้านของชนพื้นเมืองอินูอิตและสิ่งแวดล้อมทางทะเลในอาร์กติก
ข้อมูลจากโครงการเศรษฐศาสตร์มหาสมุทรแห่งชาติ (NOEP) ระบุว่าในปี 1990 มีนักท่องเที่ยวจากเรือสำราญเข้าไปเที่ยวผ่านเส้นทางไอซ์แลนด์เพื่อไปยังบริเวณขั้วโลกเพียง 7,950 คน ขณะที่ในปี 2016 จำนวนเรือสำราญได้เพิ่มขึ้นกว่า 250,000 คน
อาร์เวด ฟุชส์ (Arved Fuchs) นักผจญชาวเยอรมันระบุว่า เขาสังเกตเห็นในบางวัน หมู่บ้านของชาวอินูอิตที่อาศัยอยู่ในอาร์กติกนั้นเต็มไปด้วยนักเที่ยวจำนวนมาก แต่คนที่ได้ประโยชน์ที่สุดจากการท่องเที่ยวในอาร์กติกกลับไม่ใช่ชาวพื้นเมือง แต่เป็นนักท่องเที่ยวที่เข้าไปหาประสบการณ์แปลกใหม่
ศูนย์การขนส่งทางตอนเหนือระบุด้วยว่า ผู้โดยสารของเรือสำราญที่แล่นในทะเลอาร์กติกปล่อยน้ำเสียและสิ่งปฏิกูลประมาณ 8 แกลลอน ทั้งยังปล่อยน้ำมันที่เกิดจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงลงสู่แหล่งน้ำทะเลมากกว่า 9,500 ลิตรต่อวันเช่นกัน
เดอะการ์เดียนซึ่งรายงานข่าวเรื่องนี้ได้อ้างอิงบทความ S.O.S ของสื่อเยอรมัน แดร์ชปีกัล ระบุว่า ขณะที่ผู้คนล่องเรือสำราญในอาร์กติก ดูน้ำแข็งขั้วโลกละลายไปพร้อมกับการจิบไวน์โพรเซกโคอย่างสบายใจ แต่แท้จริงแล้ว "เส้นทางการเดินเรือของเรือสำราญเหล่านั้นล้วนเป็นสาเหตุของการทำลายสิ่งแวดล้อม"
"บริษัทเรือสำราญเหล่านี้ต่างพยายามหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีชดเชยการทำลายสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายของสหภาพยุโรป (EU) ทำให้เรือสำราญพวกนี้ต้องออกมาแล่นเรือนอกพื้นที่ที่กฎหมายของ EU ครอบคลุมถึง"
ธุรกิจเรือสำราญกำลังได้รับความนิยมทั่วโลกในแต่ละปีนักท่องเที่ยวที่ออกไปท่องเรือรำราญขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นจาก 11 ล้านคนในปี 2009 เป็น 28.5 ล้านคนในปี 2018 ขณะที่ในบางเมืองของยุโรปอย่างเมืองเวนิสของอิตาลี ได้ออกกฎห้ามเรือสำราญชนาดใหญ่แล่นเข้าไปในเมืองเวนิส หลังจากที่เวนิสประสบกับปัญหานักท่องเที่ยวล้นเกินจากการท่องเที่ยวที่มากับเรือสำราญขนาดใหญ่
ที่มา The Guardian / Ship-Technology