ไม่พบผลการค้นหา
จิฐิพร วงศ์วัชรไพบูลย์ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มธ. เสนอเครื่องมือป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กด้วยการพัฒนาและออกแบบอาคารที่อยู่อาศัย

เมื่อสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 อยู่ใกล้ตัวคนกรุงเทพฯ จนเเทบจะหลีกหนีไม่พ้น ยิ่งเป็นการรวมตัวกับสารพิษชนิดอื่นที่มาจากเครื่องยนต์ เช่น ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO), ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2), สารประกอบไฮโดรคาร์บอน (CHx) และอณูชีวภาพอื่นๆ ยิ่งทวีความอันตรายต่อสุขภาพร่างกาย

นอกเหนือจากจัดการต้นเหตุของปัญหา อีกด้านหนึ่งอาจถึงเวลาที่ ‘สถาปัตยกรรม’ ในเมืองใหญ่จะหันกลับมาให้ความสนใจและคำนึงถึงวิธีการออกแบบมากกว่าที่ผ่านมา

"ต้นเหตุสำคัญของฝุ่นละอองขนาดเล็กในกรุงเทพฯ คือปริมาณจราจรที่หนาแน่น ทำให้คนเดินถนนและอาคารบ้านเรือนที่ติดเกาะอยู่ริมถนน ใกล้ชิดกับแหล่งกำเนิดมากและหลีกหนีได้ยาก ฉะนั้นการประยุกต์ใช้เทคนิคและอุปกรณ์ป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก ในอาคารจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับปัจจุบันและอนาคต” ดร.จิฐิพร วงศ์วัชรไพบูลย์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการสร้างโอกาสเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมไทย

เธอเล่าว่า ที่ผ่านมาการออกเเบบสถาปัตยกรรม ที่อยู่อาศัยและอาคารทั่วฟ้าเมืองไทย มักไม่ได้คำนึงถึงปัญหาฝุ่นละออง แต่เลือกมุ่งเน้นไปที่ประโยชน์ในการใช้สอย ความสะดวกสบายและความสวยงามมากกว่า อย่างไรก็ตามเมื่อจำนวนประชากรหนาเเน่นมากขึ้น ระบบจราจรติดขัดจนนำไปสู่ปัญหามลพิษ การประยุกต์ใช้เทคนิคและอุปกรณ์ป้องกันฝุ่นละอองในอาคาร จึงเป็นเรื่องน่าสนใจ โดยผู้อยู่อาศัยและนักออกแบบสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบโดยอาศัยความรู้ความเข้าใจเชิงลึกกับคุณลักษณะของฝุ่นละอองขนาดเล็ก

ฝุ่นละออง.jpg

ต่อไปนี้คือรูปแบบการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมเพื่อการป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก

1. เปิดพื้นที่สีเขียว

การคัดแยกฝุ่นละอองออกจากก๊าซพิษโดยอาศัยพื้นที่สีเขียวโดยรอบอาคารทั้งแนวราบและแนวตั้ง พื้นที่สีเขียวจะช่วยกรองก๊าซพิษที่มาพร้อมกับการเผาไหม้เพื่อลดระดับความรุนแรงของผลกระทบที่จะเกิดกับร่างกายเราได้ สำหรับเทคนิคนี้ ผู้อยู่อาศัยในตึกแถวที่ใกล้ชิดกับถนนหนทางที่เป็นแหล่งกำเนิดของฝุ่นละอองขนาดเล็ก สามารถประยุกต์ใช้เป็นสวนแนวตั้งได้เพื่อการประหยัดพื้นที่หน้าอาคารได้ 

vertical-garden-975977_1920.jpg

2. เปลือกอาคาร 

การออกแบบเปลือกอาคารให้ยังสามารถใช้ลมธรรมชาติได้ จากเดิมรูปแบบการใช้ลมธรรมชาติในอาคารที่เน้นให้มีช่องว่างขนาดกว้างและตรงข้ามกัน จึงต้องมีการคิดค้นเรื่องการป้องกันฝุ่นจากช่องว่างที่เปิดกว้างเหล่านั้น โดยอาจใช้นวัตกรรมใหม่ ยกตัวอย่างเช่น เทคนิค Photocatalysis จากสารไทเทเนียมไดออกไซด์ (TiO2) หรือ ซิงค์ออกไซด์ (ZnO) ที่ใช้กันอยู่ในเครื่องฟอกอากาศทั่วไป สารนี้สามาถนำมาประยุกต์ใช้ในการเคลือบวัสดุกรองอากาศที่ช่องเปิดได้โดยอาศัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ดังเช่น มุ้งลวดกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กในเยอรมันนี เป็นต้น หรือในอีกทางหนึ่ง ผู้ออกแบบอาคารสามารถปรับรูปแบบช่องเปิดให้เป็นกับดักกรองฝุ่นในตัวได้ เช่น ออกแบบเปลือกอาคารสองชั้นให้เกิดการกรองฝุ่นไว้ที่เปลือกอาคารก่อนจะนำลมธรรมชาติไปใช้ในอาคาร ทั้งนี้เทคนิคดังกล่าวต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจของผู้ออกแบบและผู้อยู่อาศัยจริงร่วมกัน เพราะต้องมีการดูแลรักษาระบบเปลือกอาคารหลังการเข้าพักอาศัย

บันทึกแบบเต็มหน้าจอ 1812562 142033.jpg

(ตัวอย่างมุ้งลวดกรองฝุ่น http://www.ftene.com/product/b2c3.php )

3. จัดพื้นที่ภายในอาคารและติดตั้งระบบกรองอากาศ

การลดแหล่งกำเนิดของฝุ่นละอองขนาดเล็กภายในอาคาร โดยการแบ่งพื้นที่ใช้สอยที่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นไว้อย่างชัดเจน เช่น ครัว, พื้นที่จอดรถ เป็นต้น พื้นที่เหล่านี้ควรมีการจัดทำประตูและผนังแยกตัวจากพื้นที่ใช้สอยหลักอย่างชัดเจน ในส่วนพื้นที่ใช้สอยของกลุ่มคนเปราะบาง เด็กและผู้สูงอายุ อาจเสริมเครื่องปรับอากาศและระบบกรองอากาศที่มีประสิทธิภาพ พร้อมการดูแลรักษาความสะอาดของระบบอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเชื้อโรคต่อเนื่องไป

จิฐิพร วงศ์วัชรไพบูลย์

(จิฐิพร วงศ์วัชรไพบูลย์)

ผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรม ระบุทิ้งท้ายว่า สิ่งที่นำเสนอเบื้องต้นจะช่วยให้ผู้คนไม่ต้องปะทะกับฝุ่นละอองโดยตรงเสมือนอยู่ข้างถนน และเชื่อว่าจะลดผลกระทบจากมลพิษได้มากถึง 80 เปอร์เซนต์ อย่างไรก็ตามนอกเหนือจากการปกป้องตัวเองแล้ว อีกด้านรัฐบาลควรมีส่วนช่วยในการกำหนดคุณภาพวัสดุอุปกรณ์ ดูแลเรื่องนโยบายสนับสนุนจูงใจ เช่น การลดหย่อนภาษีสำหรับการออกแบบอาคารเพื่อป้องกันฝุ่นละออง 

“ปัญหาฝุ่นละออง วิธีการจัดการต้องวางแผนและดำเนินการป้องกันในระยะยาว ไม่เช่นนั้นเราจะเผชิญปัญหาที่หนักขึ้นกว่าเดิม” 

(ภาพจาก jan_nijman)