แม้ภาพยนตร์เรื่อง Joker เพิ่งจะออกฉายทั่วโลกเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แต่ก็ถือว่าได้รับความนิยมจากแฟนหนังจำนวนมาก โดยรายได้รวมจากการฉายหนังทั่วโลกเป็นสัปดาห์ที่ 3 เพิ่มเป็น 738.6 ล้านดอลลาร์ อ้างอิงสถิติซึ่งรวบรวมล่าสุดและเผยแพร่ผ่านฟอร์บสเมื่อวันที่ 20 ต.ค.
นอกจากจะประสบความสำเร็จด้านรายได้ จุดที่เป็นฉากถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ก็กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยวเช่นกัน โดยเฉพาะบันไดระหว่างอาคารบนถนนสาย 167 ทางใต้ของเขตบรองซ์ในนครนิวยอร์กของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นจุดที่ใช้ถ่ายทำฉากสำคัญตอนที่ตัวละคร 'โจ๊กเกอร์' สวมชุดตัวตลกเต็มยศ เต้นรำลงมาตามขั้นบันได
ฉากดังกล่าวติดตาคนดูภาพยนตร์จำนวนมาก ทำให้บันไดแห่งนี้มีนักท่องเที่ยวและคนต่างถิ่นแวะไปถ่ายภาพเพื่อจะเผยแพร่ลงในสื่อสังคมออนไลน์ส่วนตัวเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา
เว็บไซต์ฟ็อกซ์นิวส์รายงานด้วยว่า ผู้โพสต์ภาพถ่ายที่บันไดดังกล่าวลงในอินสตาแกรมรวมกันแล้วมีจำนวนมากกว่าพันรูป พร้อมทั้งติดแฮชแท็ก 'บันไดโจ๊กเกอร์' หรือ #JokerStairs และในภาพเหล่านั้นมีทั้งผู้ที่สวมใส่ชุดเลียนแบบโจ๊กเกอร์ นักท่องเที่ยวที่ทำท่าทางเหมือนโจ๊กเกอร์ รวมถึงผู้ที่ไปบันทึกภาพบันไดดังกล่าวเป็นที่ระลึกเฉยๆ ซึ่งความนิยมเหล่านี้ทำให้มีผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์อื่นๆ ทั้งทวิตเตอร์-เฟซบุ๊ก โพสต์เตือนนักท่องเที่ยวให้ระมัดระวังเรื่องความปลอดภัย เพราะบรองซ์ไม่ใช่ย่านที่ 'เป็นมิตร' กับผู้คนมากนัก
ฟ็อกซ์นิวส์ยกตัวอย่างความเห็นของผู้ใช้ทวิตเตอร์ชื่อว่า Maybe: Candy ซึ่งอ้างตัวเป็นผู้อาศัยในย่านบรองซ์คนหนึ่ง โพสต์ว่า ตอนนี้บันไดบนถนนสาย 167 ถูกระบุในแผนที่กูเกิลแมปโดยใช้ชื่อว่า 'บันไดโจ๊กเกอร์' หรือ Joker Stairs เรียบร้อยแล้ว แต่ในฐานะคนที่อาศัยอยู่ในย่านบรองซ์ อยากเตือนว่า "อย่าเข้ามาแถวนี้" โดยเฉพาะคนที่ไม่เคยรู้อะไรเกี่ยวกับย่านบรองซ์มาก่อน
ช่วงหนึ่งของรายงานข่าวโดยฟ็อกนิวส์เตือนว่า ย่านบรองซ์มีคดีจี้ปล้นชิงทรัพย์และอาชญากรรมอื่นๆ เกิดขึ้นบ่อย พร้อมทั้งสรุปว่า นักท่องเที่ยวที่เข้าไปถ่ายภาพตรงบันไดดังกล่าวอาจทำให้ตัวเองตกอยู่ในอันตรายได้
ขณะเดียวกัน เว็บไซต์ Pop Dust ซึ่งเป็นสื่อสายวัฒนธรรมของสหรัฐฯ นำสถิติอาชญากรรมในรัฐนิวยอร์กมาโต้แย้งข่าวของฟ็อกซ์นิวส์ โดยระบุว่า นครนิวยอร์กเป็นเมืองใหญ่ ทั้งยังมี 'บรองซ์' ที่ถูกมองว่าเป็น 'แหล่งเสื่อมโทรม' รวมอยู่ด้วย แต่สถิติอาชญากรรมในนครนิวยอร์กยังน้อยกว่าสถิติอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในเมืองอื่นๆ ทั่วรัฐนิวยอร์ก ทั้งที่ภาพลักษณ์ของบางเมืองดูเหมือนจะเงียบสงบกว่า
ตัวชี้วัดที่เห็นได้ชัดคือสถิติคดีอาชญากรรมและฆาตกรรมต่อจำนวนประชากร พบว่าเมืองที่เกิดคดีอาชญากรรมมากที่สุด 10 อันดับแรกของรัฐนิวยอร์ก ได้แก่ บัฟฟาโล, นิวเบิร์ก, ซีราคิวส์, รอเชสเตอร์, พาวด์ริดจ์ทาวน์, ทรอย, แฮมป์สเตดวิลเลจ, โอนีออนทา ซิตี้, เกลนส์ฟอลส์ และออลบานี ซึ่งเป็นเมืองเอกของรัฐ
อย่างไรก็ตาม ดัชนีชี้วัดคุณภาพชีวิตในแต่ละเขตปกครองของสหรัฐฯ ระบุว่า 'บรองซ์' เป็นเขตปกครองที่มีคะแนนรวมด้านคุณภาพชีวิตต่ำที่สุดติดต่อกันเป็นปีที่ 7 โดยเป็นการเปรียบเทียบคะแนนกับอีก 62 เขตการปกครองทั่วรัฐนิวยอร์ก อ้างอิงข้อมูลด้านสุขภาพ, สถิติการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร, สิ่งแวดล้อม และระบบสาธารณูโภค ที่รวบรวมโดยหน่วยงานรัฐบาลส่วนท้องถิ่น
ผู้ที่อาศัยในเขตบรองซ์มีอายุขัยเฉลี่ยเพียง 80.4 ปี ขณะที่ประชากรในเขตอื่นๆ มีอายุขัยเฉลี่ยประมาณ 84 ปี และบรองซ์ยังเป็นเขตที่มีอัตราการเสียชีวิตของเด็กแรกเกิดสูงที่สุด เช่นเดียวกับสถิติผู้เป็นโรคอ้วน และสถิติผู้เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สูงที่สุดเมื่อเทียบกับรัฐอื่นๆ ทั้งยังมีปัญหามลพิษและระบบประปาชำรุดบ่อยที่สุดอีกด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: