ไม่พบผลการค้นหา
วงประชุม กมธ.พิจารณาแก้รัฐธรรมนูญประสานเสียง ชำแหละมาตรา 256 ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ยกร่างใหม่ทั้งฉบับ

พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค ประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.ศึกษาแก้ไข รธน.) พร้อมคณะกรรมาธิการแถลงว่า ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่าต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิและมีความเป็นเจ้าของมากขึ้น โดยมีหลายเรื่องที่จะต้องแก้ไข เพื่อให้เกิดการปฏิรูปบ้านเมืองและระบบกฎหมาย จึงมีความเห็นว่าจะต้องแก้ไขในมาตรา 256 ก่อน เนื่องจากหลักเกณฑ์ในมาตรานี้ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญยากลำบาก นอกจากนี้กรรมาธิการฯ ยังมีความเห็นตรงกันว่าหากเป็นไปได้จะต้องมีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และอาจจะต้องเสนอตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) หรืออะไรก็แล้วแต่ รัฐบาลจะพิจารณา และหากเป็นไปได้ทางกรรมาธิการฯ จะเพิ่มเติมหมวดการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเข้าไปอีกหนึ่งหมวด

โภคิน พลกุล ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯกล่าวว่าขณะนี้ประชาชน นิสิต นักศึกษาอยากเห็นรัฐธรรมนูญที่มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ดังนั้นการแก้ไข ม.256 จะทำให้การแก้รัฐธรรมนูญไม่ยุ่งยาก และมีความเห็นว่าควรตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เหมือนปี 2534 เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2540 ทำให้ออกจากวิกฤตพฤษภาทมิฬ ทางคณะกรรมาธิการฯ จึงขอให้กรรมาธิการทุกคนที่เป็นตัวแทนจากแต่ละพรรคไปพิจารณาประเด็นนี้ ซึ่งตนก็เสนอไปตั้งแต่ต้นแล้วว่าหากดำเนินการตามนี้จะได้ 2 อย่างคือ 1.สสร. 2.มีการแก้ไขเพิ่มเติมประเด็นปัญหาต่างๆไปได้เลยควบคู่กัน ซึ่งขั้นตอนนี้หากทุกพรรคการเมืองและ ส.ว.เห็นพ้องด้วยขั้นตอนนี้ก็จะเสร็จภายใน 5 เดือน ก็จะได้รัฐธรรมนูญฉบับที่มีการแก้ไขและจากนั้น สสร.ก็จะทำการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขอีก 390 วัน  

"ในอนาคตจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เห็นชอบโดยประชาชนและร่างโดยประชาชน ซึ่งระหว่างดำเนินการตรงไหนที่ไม่ดี ไม่เหมาะสมก็แก้ไขไป" โภคิน ระบุ

เมื่อถามถึงโมเดลของ สสร.โภคินอ้างถึง สสร.ปี 2534 โดยให้ทุกคนที่สนใจในแต่ละจังหวัดมาสมัครและทำการคัดเลือกกันเองให้เหลือจังหวัดละ 10 คนและให้รัฐสภาเลือกเหลือ 1 คน รวมกับนักวิชาการที่รัฐสภาจะเลือกมาอีกส่วนหนึ่งรวมเป็น 99 คน แต่ร่างที่กรรมาธิการฯเสนอไว้ให้เลือกคนมาเป็น สสร. 200 คน ต้องมีอย่างน้อยจังหวัดละ1 คน ถ้าจังหวัดใหญ่ก็มีได้หลายคน ซึ่งไม่มีใครทราบว่าบุคคลเหล่านี้จะเข้ามาแก้ไขอย่างไร และไม่มีใครเข้าไปแทรกแซงอะไรได้ เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปโดยเสรีและเป็นธรรม และหากรัฐสภาจะมีการแก้ไขปรับปรุงอะไรก็สุดแล้วแต่

อ่านเพิ่มเติม