ไม่พบผลการค้นหา
'ชินวรณ์' ยันพรรคร่วมรัฐบาลไม่ถอยไปหาบัตรใบเดียว มองบัตร 2 ใบ ช่วยเสริมประชาธิปไตย ปัดข่าวล้มร่างกฎหมายลูกของฝ่ายค้าน

วันที่ 24 ก.พ.2565 ชินวรณ์ บุณยเกียรติ รองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ว่า ยังเป็นไปตามที่ได้หารือร่วม 3 ฝ่าย ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าจะมีการแปรญัตติกลับไปสู่บัตรเลือกตั้งใบเดียว ตนขอย้ำในฐานะที่พรรคประชาธิปัตย์ได้เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 81 และ 93 ซึ่งมีบทบัญญัติชัดเจนว่า การเลือกตั้งครั้งถัดไปต้องเป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ จึงไม่สามารถที่จะเปลี่ยนกลับไปเป็นระบบบัตรใบเดียวได้ และเน้นย้ำว่า ในนามพรรคร่วมรัฐบาลจะเห็นชอบร่างกฎหมาย 2 ฉบับนี้ให้เป็นไปตามการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ฉบับที่ 1 เท่านั้น 

ส่วนร่างอื่นๆ ที่มีหลายพรรคการเมืองเสนอเข้ามานั้น เนื่องจากมีรายละเอียดที่แตกต่างกันในเชิงหลักการ วิปพรรคร่วมรัฐบาลจึงเห็นว่าควรรวมการอภิปรายไว้ทั้งหมดก่อน แล้วจึงค่อยแยกการลงมติ เพื่อให้มีความเข้าใจในเหตุผลอย่างชัดเจน ก่อนที่จะตัดสินใจลงมติกัน สำหรับร่างของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และร่างของพรรคร่วมรัฐบาลนั้น ก็มีความชัดเจนว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 เท่านั้น 

ส่วนกรณีที่มีหลายประเด็นที่ยังเป็นข้อถกเถียง เช่น ร่างกฎหมายของพรรคเพื่อไทยในมาตรา 28 และ 29 ให้บุคคลภายนอกสามารถเข้ามาแสดงความคิดเห็น และให้คำปรึกษากับพรรคการเมืองได้ ตรงกันข้ามกับร่างเดิม ที่ห้ามให้บุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคเข้ามาครอบงำทั้งโดยตรง และโดยอ้อม หรือข้อเสนอของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ที่พูดถึงการจัดตั้งพรรคการเมือง ซึ่งไม่ค่อยมีความเกี่ยวข้องกับวาระ รวมไปถึงข้อเสนอของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ให้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวข้องกับการยุบพรรค และเงินบริจาค ซึ่งก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เนื่องจากพรรคของท่านก็เคยถูกยุบมาแล้ว โดยชินวรณ์ ระบุว่าว่า การแก้ไขกฎหมายลูกดังกล่าวไม่ได้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของนักการเมืองหรือพรรคการเมือง การแก้ไขระบบเลือกตั้งเป็นบัตร 2 ใบ ก็เพื่อให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ลดอิทธิพลการซื้อเสียง และส่งเสริมให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง 

ส่วนกระแสข่าวว่า จะมีการคว่ำร่างกฎหมายดังกล่าวนั้น ตนมองว่าเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล เพราะแต่ละร่างสำคัญหมด ต้องฟังเหตุผลในการอภิปรายให้ชัดเจน และจะขอไปแก้ไขในขั้นกรรมาธิการ ที่บัญญัติไว้ว่า เมื่อประธานบรรจุระเบียบวาระต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน