30 ต.ค. 2566 เวลา 10:10 น. ที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม คณะกรรมาธิการ ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร นำโดย รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมธิการฯ พร้อมคณะ เดินทางมาร่วมประชุมหารือกับ สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เรื่องความมั่นคงในประเทศ
รังสิมันต์ กล่าวก่อนการประชุมหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่า การมาหารือวันนี้ เป็นหนึ่งแนวทางของคณะกรรมาธิการความมั่นคงฯ โดยก่อนหน้านี้เราไปกระทรวงยุติธรรม วันนี้เรามากระทรวงกลาโหม และต่อไปจะพิจารณาว่าไปหน่วยงานไหน โดยมีหลายประเด็นที่ต้องหารือ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาชายแดน อาทิ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือพื้นที่ตามตะเข็บชายแดนเมียนมา ที่ก่อนหน้านี้ มีปัญหาเรื่องของการค้ามนุษย์และการหลอกคนไทย รวมถึงการจัดซื้อจัดจ้างอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นอื่นๆ เช่น เรือดำน้ำ ซึ่งเปลี่ยนไปเป็นเรือฟริเกต (Frigate) รวมถึงนโยบายด้านความมั่นคง เช่น การเกณฑ์ทหาร โดยเราไม่ได้จำกัดว่าคำถามจะอยู่แค่เรื่องใด ความคาดหวังของเรา คือ อยากจะเข้าใจของทัพ กระทรวงกลาโหมมากขึ้น หากเรามีความเข้าใจในส่วนนี้เราจะช่วยอธิบายให้พี่น้องประชาชนเข้าใจว่าทิศทางความมั่นคงของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร รวมถึงเพื่อทำความเข้าใจและสนับสนุนการทำงานของกระทรวงกลาโหมให้สามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
โดยคาดหวังว่า เราจะมีความเข้าใจที่ดีต่อกัน ช่วยกันทำงานในอนาคตข้างหน้า และหากมีเหตุอะไรสักอย่างที่เราต้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานความมั่นคง อาจจะสามารถลดขั้นตอนการประสานงานผ่านการสามารถโทรศัพท์พูดคุยได้เลย เพราะหากทำหนังสือต่างๆ อาจไม่ทันการณ์ ไม่ทันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น เรื่องปัญหาชายแดน ถือเป็นปัญหาที่ท้าทายต่อความมั่นคงของประเทศ ดังนั้น โอกาสนี้จึงได้เรียนรู้ร่วมกันและทำความรู้จักกัน รวมถึงสนับสนุนการทำงานร่วมกันและกัน
ส่วนที่ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในฐานะประธานกรรมาธิการการทหาร ตั้งคำถาม 8 ข้อ ถึงการจัดซื้อเรือดำน้ำ รังสิมันต์ กล่าวว่า ตนคงไม่ได้มาทวงถามแทนใคร แต่กรรมาธิการความมั่นคงฯ ที่ประกอบจากหลายพรรคการเมือง หากมีคำถามในเรื่องเรือดำน้ำ ซึ่งตนเชื่อว่ามี แต่จะเป็นกี่ข้อนั้น ไม่สามารถที่จะระบุได้ในตอนนี้ ขึ้นอยู่กับการชี้แจง
อย่างไรก็ตาม เราจะให้โอกาสกระทรวงกลาโหมได้อธิบายข้อมูลให้เราเข้าใจรวมถึงวิธีคิดจากเดิมที่ตอนแรกเป็นเรือดำน้ำ และอาจจจะเปลี่ยนเป็นอื่นๆ เช่น เรือดำน้ำ ซึ่งเปลี่ยนไปเป็นเรือฟริเกต สะท้อนถึงวิถีคิดและมุมมองด้านความมั่นคงที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนไปหรือไม่ ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ
ส่วนเรือดำน้ำจะมีการถามประเด็นใดบ้าง เรื่องนี้ตนให้ความสนใจด้านความมั่นคง และเรื่องเรือดำน้ำนั้นมีโจทย์คืออะไร หากวันนี้ประเทศไทยไม่เอาเรือดำน้ำแล้วแสดงว่าโจทย์เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ เราจะได้รับฟังข้อมูลจากทางกองทัพเรือที่จะมาให้ข้อมูล และเหนือสิ่งอื่นใดคือที่ตนอยากจะจะทราบคือเรื่องของการเกณฑ์ทหารว่าสถานะจะเป็นอย่างไรต่อไป โดยเราจะได้มีการร่วมพูดคุย แต่การมาครั้งนี้อย่าเรียกว่ามาตรวจสอบ เป็นการมาแนะนำตัวกันและทำงานร่วมกัน และคาดหวังว่าจะทำงานอย่างสร้างสรรค์ร่วมกัน
ส่วนกรณีปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์และคาสิโนชายแดน รังสิมันต์ กล่าวว่า จะต้องมีการพูดคุย เพราะ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาเราใช้เวลาในการพิจารณาปัญหาชายแดนโดยเฉพาะผู้ลี้ภัย แต่ยอมรับว่าปัญหาชายแดนฝั่งเมียนมา ยังมีเรื่องของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยตนได้ทำข้อมูลในเรื่องนี้เยอะมาก ยกตัวอย่างที่บริเวณฝั่งตรงข้ามแม่สอด ก็มีปัญหาในเรื่องของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ต่างๆ ธุรกิจสีเทา หรือแม้ที่แม่สาย ก็มีปัญหามีลักษณะของการค้ามนุษย์ ซึ่งตนคิดว่า ปัญหาเหล่านี้จะต้องพูดคุยกันว่าจะมีวิธีแก้ปัญหาแก้อย่างไรเพราะในพื้นที่ความมั่นคงส่วนใหญ่อยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพ จึงคาดหวังว่าเราจะสามารถร่วมกันทำงานอย่างสร้างสรรค์ อย่างน้อยที่สุด คือ ช่วยเหลือคนไทยออกมาจากบรรดาการหลอกลวงของแก๊งต่างๆ ที่คนไทยอยู่ภายใต้การคุมตัวเป็นจำนวนมาก ส่วนประเด็น IO จะต้องดูว่าเวลาเพียงพอหรือไม่ ซึ่งเรามีหลายวาระที่ต้องพิจารณาร่วมกันวันนี้.