ไม่พบผลการค้นหา
'นพดล' ชี้รัฐบาลอย่าชะล่าใจว่าเอเปคจะทำให้การค้า การลงทุนหรือเศรษฐกิจไทยดีขึ้นโดยอัติโนมัติ ปัญหาความยากจน เหลื่อมล้ำ ความสามารถแข่งขันยังคงอยู่ แนวคิดเศรษฐกิจบีซีจี ไม่ผิด แต่ประเทศอื่นทำไปไกลแล้ว

วันที่ 20 พ.ย. 2565 นพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่าการประชุมเอเปค 2022 ได้จบลงแล้ว สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือประเทศมีคนเดินทางมามากขึ้นในระหว่างการประชุม ทั้งทีมงานผู้นำ นักธุรกิจและสื่อมวลชน และภาพการเยี่ยมวัดและเดินถนนของผู้นำจะช่วยเพิ่มการรับรู้สถานที่ท่องเที่ยวของประเทศไทยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอย่าลิงโลดกับการจัดประชุมมากนัก เพราะการประชุมพหุภาคีในระดับนานาชาติก็เป็นเช่นนี้ เต็มไปด้วยความปรารถนา ความตั้งใจ ส่วนจะแปลเป็นการกระทำและผลสัมฤทธิ์ก็เป็นเรื่องของแต่ละประเทศ ในทำนอง คิดระดับโลกแต่ทำในท้องถิ่นของประเทศนั้นๆ Think globally, act locally.

โดยเฉพาะแนวคิด BCG เศรษฐกิจชีวภาพ หมุนเวียนและสีเขียวที่รัฐบาลไทยผลักดันนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายประเทศเขาเดินหน้าไปไกลมากแล้ว เช่นอุตสาหกรรมอาหารที่ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ล้ำไปไกล และอุตสาหกรรมรถยนตร์ไฟฟ้า ทั้งสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น หรือแม้แต่เพื่อนบ้านเช่นอินโดนีเซีย หรือเวียดนามเขาผลิตส่งมาขายไทย ดังนั้นเราเพิ่งพูด แต่ชาติอื่นเขาทำไปไกลแล้ว ตนคิดว่าสิ่งที่รัฐบาลนี้นำเสนอไม่ผิด แต่ไม่ทันเขา เวลาไปแนะนำคนอื่น ทำให้ตนนึกถึงเรื่องเล่าช่างทำบั้งไฟไปแนะนำวิศวกรนาซ่าในการทำจรวด

นพดล กล่าวต่อว่า การที่คนในรัฐบาลบอกว่าเอเปคจะช่วยการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจไทยนั้น มันไม่ใช่เรื่องที่เอเปคจะช่วยได้โดยอัตโนมัติ เราต้องช่วยตนเอง หลายเรื่องยังไม่ได้ทำ เช่น การเรื่องการค้า ยังไม่ได้ช่วยให้ผู้ส่งออกมีแต้มต่อในตลาดประชาคมยุโรปด้วยการทำข้อตกลงการค้าหรือเอฟทีเอกับอียู ยิ่งตกใจมากที่นายกรัฐมนตรีบอกจะรื้อฟื้นการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-อียู ซึ่งช้าไปมาก การเจรจาเริ่มตั้งแต่สมัย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี คนไทยถามว่า 8 ปีทำอะไรอยู่ ถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลตั้งเป้าเจรจาให้เสร็จภายใน 12 เดือนเพื่อช่วยเปิดตลาดอียูกำลังซื้อมหาศาลให้ผู้ส่งออกไทย บอกสนับสนุนเศรษฐกิจชีวภาพ แต่ไม่สนับสนุนสุราพื้นบ้าน บอกต้องการเป็นแหล่งผลิตอาหารโลก แต่ขาดโครงสร้างพื้นฐานระบบน้ำ จึงเกิดน้ำท่วม น้ำแล้งซ้ำซาก บอกต้องการดึงดูดการลงทุน แต่การพัฒนาทักษะแรงงานและการศึกษาอยู่รั้งท้าย และถดถอยลงต่อเนื่อง ล่าสุดความสามารถภาษาอังกฤษคนไทยอยู่ในระดับต่ำมาก อันดับ 100 แพ้เวียดนาม เมียนมาร์ กัมพูชา ปัญหาทุนมนุษย์เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนไปประเทศอื่นไม่มาไทย

“เอเปคจบไปแล้ว แต่ความท้าทายสำคัญของไทยยังคงอยู่ เช่น ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ความถดถอยในเรื่องความสามารถในการแข่งขัน และคุณภาพชีวิต เนื่องจาก 8 ปีที่ผ่านมาประชาชนยากจน หนี้ท่วม ประเทศแบกหนี้ ไทยแข่งขันในเวทีโลกลำบาก ส่วนรัฐบาลนี้เวลาเหลือไม่กี่เดือนก่อนเลือกตั้ง ที่ประชาชนจะตัดสินว่าที่ผ่านมาทำงานเป็นอย่างไร รัฐบาลหน้าหลังเลือกตั้งจึงมีงานที่ต้องทำอีกมาก พรรคเพื่อไทยพร้อมนำเสนอแคนดิเดทนายกฯ นโยบายที่ตอบโจทย์และผู้สมัครคุณภาพเพื่อเดินหน้าแลนด์ไสด์ต่อไป” นายนพดล กล่าว