ไม่พบผลการค้นหา
งานวิจัยที่ทำในในออสเตรียและอิตาลีชิ้นใหม่เปิดเผยว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายจากอาการป่วยไปแล้วประมาณ 3 เดือน มีอัตราประสบปัญหาความวิตกกังวลเพิ่มขึ้นราว 2-4 เท่า และมีอัตราประสบปัญหาภาวะซึมเศร้าเพิ่มขึ้นราว 3-5 เท่าเมื่อเทียบกับก่อนการติดเชื้อ สร้างคำถามต่ออาการสุขภาพจิตที่เป็นผลพวงมาจากอาการป่วยโควิด-19

คาทารีนา ฮูฟนาร์ จากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ จิตบำบัด จิตสรีระ และจิตวิทยาการแพทย์มหาวิทยาลัยอินส์บรุคของออสเตรีย พร้อมคณะนักวิจัยเปิดผลการวิจัยศึกษาความเสี่ยงต่อสุขภาพจิตหลังการติดโควิด-19 ก่อนที่จะเปิดเผยว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ในระยะพักฟื้นมีความเสี่ยงที่จะป่วยด้วยโรคทางจิตเวชซ้ำ หรืออาการป่วยทางจิตเวชที่มีอยู่ก่อนหน้าย่ำแย่ลง

การศึกษาในครั้งนี้จัดทำขึ้นโดยอาศัยการเปิดแบบสอบถามออนไลน์แก่ผู้เคยป่วยโควิด-19 โดยเป็นผู้ร่วมทำแบบสอบถามจากออสเตรีย 1,157 คน และจากอิตาลีอีก 893 คน จากผลสำรวจพบว่า อาการซึมเศร้าและวิตกกังวลในกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามก่อนการติดเชื้อมีอยู่ที่ อิตาลี 4.6% และออสเตรีย 6%

หลังจากคณะวิจัยได้กำหดค่ามัธยฐานเวลาหลังจากการหายป่วยของผู้ตอบแบบสอบถามในออสเตรียที่ 79 วัน และในอิตาลีที่ 96 วันพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามในออสเตรียมีอาการวิตกกังวลเพิ่มขึ้นเป็น 12.4% และในอิตาลีที่ 19.3% เช่นเดียวกันกับอาการซึมเศร้าที่เพิ่มขึ้นจากผู้หายป่วยในออสเตรียที่ 17.3% และอิตาลีที่ 23.2%

จากการประเมินสุขภาพจิตโดยรวมด้วยตนเองของผู้ทำแบบสอบถาม หนึ่งในห้าของผู้ตอบแบบสอบถามประเมินสุขภาพของจิตตัวเองอยู่ในระดับปานกลางถึงย่ำแย่ โดยกลุ่มผู้หายป่วยโควิด-19 เกิดความเครียดทางจิตสังคม การสูญเสียสมรรถภาพทางร่างกายแบบเฉียบพันหรือกึ่งเฉียบพัน ซึ่งเกี่ยวเนื่องหลังจากการติดโควิด-19 โดยเฉพาะในกลุ่มอาการขาดสมาธิ สับสน และหลงลืม สะท้อนให้เห็นว่าอาการป่วยของโควิด-19 มีความสัมพันธ์กับสุขภาพจิตที่เสื่อมโทรม ตลอดจนคุณภาพชีวิตที่ตกต่ำอยู่อย่างมาก 

นอกจากนี้ ผู้ที่มีอาการป่วยวิตกกังวลหรือซึมเศร้าก่อนการป่วยโควิด-19 ยังมีความเสี่ยงสูงที่จะเพิ่มผลของอาการป่วยทางจิตเวชด้วย

ทีมวิจัยระบุว่า ผลของงานวิจัยชี้ชัดว่าอาการป่วยของโควิด-19 เชื่อมโยงกับสุขภาพจิตของผู้คน ก่อนจะย้ำเตือนว่าอาการป่วยของโควิด-19 จะเป็นสัญญาณอันตรายต่อภาวะเสื่อมถอยทางสุขภาพจิต ซึ่งจะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 ที่อาจมีอาการซึมเศร้าและวิตกกังวล ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากการเข้ามารักษาอาการทางจิตวิทยาและจิตเวชในช่วงเริ่มแรกได้ทันกาล

ที่มา:

https://www.readcube.com/articles/10.3389/fmed.2022.792881