ในการประชุมคณะอนุกรรมการบริหาร การพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาพตะวันออก (กบอ.) ประจำวันที่ 27 เม.ย.พลเรือตรี เกริกไชย วจนาภรณ์ เลขานุการและกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ชี้ว่า หลังคณะกรรมการคัดเลือกใช้เวลาทำงานกว่า 1 ปี 6 เดือน ซึ่งแบ่งเป็นการประชุมคณะกรรมการคัดเลือก 17 ครั้ง และมีการประชุมคณะกรรมการเจรจาสัญญา 19 ครั้ง ที่ประชุมมีมติให้ กลุ่มกิจการร่วมค้า BBS ซึ่งประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS, บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ได้ชนะการเปิดซองประมูลราคา
พลเรือตรี เกริกไชย ชี้ว่า เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2562 ซึ่งเป็นวันยื่นซองประมูลโครงการ มีเอกชนเพียง 3 ราย จากทั้งหมด 42 รายที่เข้ามาซื้อซองประมูลก่อนหน้า เข้ามายื่นซองประมูล โดยแบ่งเป็นกลุ่ม BBS และอีก 2 กลุ่ม ได้แก่
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการคัดเลือก ได้เปิดซองประมูลซองที่ 3 คือซองเสนอราคาเงินประกันขั้นต่ำตลอดระยะสัญญาซึ่งกลุ่ม BBS เสนอสูงที่สุด หลังจากที่ก่อนหน้านี้ทั้ง 3 กลุ่มเอกชน ผ่านเกณฑ์ซองประมูลที่ 1 และ 2 คือ คุณสมบัติทั่วไป และด้านเทคนิคด้วยกันทั้งหมด
ล่าสุดวันที่ 13 เม.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการคัดเลือกเห็นชอบผลการะเจรจากับกลุ่มบริษัท BBS ตามที่คณะทำงานทั้งร่างสัญญาและทางด้านเทคนิคเสนอ และเห็นชอบให้เสนอต่อกองทัพเรือในฐานะหน่วยเจ้าของโครงการ พร้อมเสนอร่างสัญญาทั้งหมดให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาเพื่อเสนอเข้าคณะกรรมการนโยบายของอีอีซีและเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
โดยนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)ชี้ว่า น่าจะสามารถลงนามกับกลุ่มบริษัทเอกชนได้ในเดือน พ.ค.
นอกจากตัวโครงการพัฒนาอาคารผู้โดยสารสนามบินอู่ตะเภาที่กลุ่ม BBS ได้ไปนั้น นายโชคชัย ปัญญายงค์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อีอีซี ชี้ว่า โครงการดังกล่าวยังต้องมีภารกิจอีกหลายเรื่องที่ต้องดำเนินการไปพร้อมกัน
ภายใต้การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารดังกล่าวที่จะมีขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวของผู้โดยสารกว่า 60 ล้านคน/ปี นายโชคชัย ชี้ว่า ยังมีโครงการอย่าง ศูนย์ซ่อมอากาศยานของการบินไทย ที่ปัจจุบันต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายในการหาผู้ร่วมทุนรายใหม่ หลังบริษัทแอร์บัสประกาศถอนเม็ดเงินการลงทุนอันเนื่องมาจากวิกฤตโควิด-19 ที่บริษัทกำลังเผชิญอยู่ อย่างไรก็ตาม แอร์บัส ยังคงพร้อมที่จะสนับสนุนเรื่องเทคโนโลยีการซ่อมอากาศยานให้การบินไทยอยู่
โครงการดังกล่าวยังต้องทำงานร่วมกันกับโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (CPH) ประมูลได้ไป และเซ็นสัญญาไปตั้งแต่ปีที่แล้ว นอกจากนี้ โครงการด้านสาธารณูปโภค ไปจนถึงหอบังคับการบิน และศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรก็ต้องดำเนินการไปพร้อมๆ กับการสร้างอาคารผู้โดยสารเช่นเดียวกัน
นายคณิศ ปิดท้ายว่า ปัจจุบันแม้จะมีสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำลายความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยวลงไป แต่แผนการดำเนินการยังคงอยู่เช่นเดิม เนื่องจากกว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จและเปิดให้ใช้งานจริง ก็คาดว่าจะอยู่ในปี 2567 ซึ่งเป็นช่วงที่หลายฝ่ายมองว่าอุตสาหกรรมการบินจะกลับมาบ้างแล้ว โดยคาดการณ์ว่าธุรกิจการบินโลกจะกลับมาเป็นปกติได้ราวร้อยละ 50 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 และกลับมาประมาณร้อยละ 70 ในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า จึงเป็นไปได้ว่าเมื่อถึงเวลาเปิดใช้งานตามกำหนด ธุรกิจการบินจะกลับมาเป็นปกติแล้ว และจะยิ่งกลายบินโอกาสให้กับประเทศไทยมากยิ่งขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง;