เว็บไซต์ Bloomberg สื่อด้านธุรกิจการเมือง เผยแพร่ข่าว Former Thai WHO Chief Calls for New Virus Testing Strategy อ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของ 'วิลเลียม แอลดิส' อดีตผู้แทนองค์การอนามัยโลก (WHO) ประจำประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันเป็น ผศ.วุฒิคุณ ที่คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเตือนว่า ก่อนที่รัฐบาลไทยจะตัดสินใจผ่อนผันมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อให้กิจการบางประเภทกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง อาจต้องปรับเปลี่ยนวิธีตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19
บลูมเบิร์กระบุว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ตรวจคัดกรองประชากรไปแล้วมากกว่า 100,000 ครั้ง ทั้งยังยกระดับการตรวจคัดกรองรายวันเพิ่มเป็น 20,000 ครั้ง แต่ยังคงพุ่งเป้าเฉพาะผู้ที่แสดงอาการป่วยหรือผู้ที่มีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มผู้ป่วยหรือผู้ที่ติดเชื้อ ซึ่งแอลดิสระบุว่า วิธีนี้อาจจะทำให้ไทยมีข้อมูล 'ไม่เพียงพอ' ในการประเมินสถานการณ์ในอนาคต
แอลดิสเสนอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้วิธีเก็บข้อมูลโควิด-19 แบบ Sentinel Surveillance ซึ่งจะเป็นการเฝ้าระวังตามพื้นที่หรือเลือกกลุ่มตัวอย่างที่จะเฝ้าระวังขึ้นมาเป็นการเฉพาะ โดยแนะนำว่า แต่ละจังหวัดจะต้องคัดเลือกกลุ่มเฝ้าระวังขึ้นมา เพื่อคอยสังเกตอาการและเก็บข้อมูลระบาดวิทยา แต่ไม่ควรพุ่งเป้าเฉพาะผู้ที่มีอาการป่วย หรือผู้ที่กลับจากพื้นที่เสี่ยง หรือผู้ที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วย-ผู้ต้องสงสัยติดเชื้อเพียงอย่างเดียว
ด้าน นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข บอกกับบลูมเบิร์กว่า ประเทศไทยเล็งว่าจะใช้วิธีตรวจคัดกรองแบบเฝ้าระวังเฉพาะกลุ่มหรือเฉพาะพื้นที่เช่นกัน แต่ขณะนี้ยังมุ่งเน้นที่กลุ่มผู้มีอาการเข้าข่ายและกลุ่มผู้ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อไปก่อน
ก่อนหน้านี้ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC) ได้เผยแพร่รายงาน Rapid Sentinel Surveillance for COVID-19 — Santa Clara County, California, March 2020 ว่าด้วยการตรวจคัดกรองผู้ติดโควิด-19 โดยเลือกกลุ่มเสี่ยงหรือพื้นที่เสี่ยงเพื่อเฝ้าระวังที่เขตซานตาคลารา มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่เคยเดินทางออกนอกประเทศเป็นรายแรกเมื่อปลายเดือน ก.พ. ทำให้รัฐสันนิษฐานว่าเป็นการติดต่อจากคนสู่คนภายในประเทศ
หลังจากนั้น CDC และหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ได้คัดเลือกพื้นที่เฝ้าระวังโดยเลือกตามภูมิศาสตร์และกลุ่มประชากรที่แตกต่างกันไป 4 กลุ่มในเขตซานตาคลารา โดยอาศัยความร่วมมือกับโรงพยาบาลและหน่วยแพทย์เฝ้าระวังและสำรวจอาการของผู้ที่เข้าข่ายว่าอาจติดเชื้อโควิด-19 ทำให้พบผู้ติดเชื้อเพิ่มเติมและสามารถนำตัวไปกักกันเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดได้
อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วสหรัฐฯ อาจไม่ได้ใช้วิธีเดียวกันนี้อย่างเคร่งครัด ทำให้สถิติผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯ สูงเป็นอันดับ 1 ของโลก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: