ไม่พบผลการค้นหา
‘ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ’ เดินทางจากภาคใต้มายื่นหนังสือให้ รบ.ทบทวนโครงการนิคมอุตสาหกรรมที่เร่งจัดเวทีรับฟังความเห็นขณะยังคงไว้ซึ่ง 'พ.ร.ก.ฉุกเฉิน' ทั่วประเทศ ส่วนผู้ทักท้วงโครงการถูกทหารตำรวจบุกถึงบ้าน ส่อเค้า ‘ไม่ปกติ’ เยาวชนในพื้นที่จึงส่งเสียง ขอมีส่วนร่วมจัดการ 'ชุมชนบ้านเกิด'

“เขาบอกให้หนูกลับบ้านไปเรียน” ไครียะห์ ระหมันยะ วัย 17 ปี บอกกับ ‘วอยซ์ออนไลน์’ ซึ่งสอบถามความคืบหน้าจากการที่เธอเป็นตัวแทนชาวอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เข้ายื่นหนังสือถึงตัวแทนรัฐบาลให้ทบทวนโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เมื่อต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา

“หนูก็เลยบอกว่า หนูไม่มีสมาธิที่จะกลับบ้านไปเรียนในสถานการณ์ที่บ้านหนูยังเป็นแบบนี้อยู่”

การเดินทางของไครียะห์ เริ่มต้นที่ ‘สถานีรถไฟจะนะ’ ช่วงปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยมีมารดาและชาวอำเภอจะนะ ราว 6-7 คน เดินทางมาพร้อมกัน โดยมีปลายทางที่กรุงเทพมหานคร

"ก่อนหน้านี้ติดเรื่องโควิด แล้วตอนนี้มันก็ยังมีเรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่ เราก็เลยได้มากันน้อย แต่ที่จริงแล้วคนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ก็คอยสนับสนุนจัดทำเวทีให้ความรู้คนเกี่ยวกับเรื่องเมืองนิคมอุตสาหกรรมอยู่ค่ะ เขาก็ส่งแรงใจ ส่งกำลังใจมา เขาเกิดข้อกังวลว่าถ้าเกิดนิคมอุตสาหกรรมขึ้นมาแล้วมันก็จะส่งผลกระทบมาก"

เป้าหมายหลักของการเดินทาง คือ การเข้ายื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อสะท้อนความกังวลของคนจะนะ หลังจากที่ ครม. มีมติเมื่อวันที่ 7 พ.ค.2562 เห็นชอบให้พื้นที่ 3 ตำบลในอำเภอจะนะ ได้แก่ ต.นาทับ ต. ตลิ่งชัน และ ต.สะกอม เป็นพื้นที่ดำเนินโครงการนิคมอุตสาหกรรม ตามแผนพัฒนา ‘เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต’ ซึ่งจะรวมถึงการก่อสร้างท่าเรือและโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ด้วย

ส่วนมติ ครม. เมื่อวันที่ 21 ม.ค.2563 ระบุให้ ‘ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้’ หรือ ศอ.บต. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบผลักดันให้ อ.จะนะ เป็นเมืองต้นแบบฯ

แต่คนจะนะจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับมติ ครม.ทั้ง 2 ประเด็น โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีการสอบถามความคิดเห็นประชาชนใน 3 ตำบลและพื้นที่ใกล้เคียงมาก่อน ทั้งยังกังขาว่าเหตุใด ครม.จึงมีมติให้ ศอ.บต.เป็นผู้รับผิดชอบขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว ทั้งที่ไม่ได้มีประสบการณ์เพียงพอ

"หน้าที่เดิมๆ ของ ศอ.บต. เป็นการรักษาความสงบในชายแดนภาคใต้ ซึ่ง ศอ.บต.ไม่ได้มีบทบาทอะไรเลยเกี่ยวกับการบริหารทางเศรษฐกิจ แล้ว ศอ.บต.เองก็ไม่น่าจะมีความรู้ในเรื่องนี้" ไครียะห์อธิบาย


เวทีรับฟังความคิดเห็น...อ่อนการประชาสัมพันธ์

ไครียะห์ เป็นสมาชิกกลุ่มเยาวชนในเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ซึ่งเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ในอำเภอจะนะและพื้นที่ใกล้เคียง ทราบว่าจะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนเรื่องโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะในวันที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมา แต่การประชาสัมพันธ์ไม่ทั่วถึง ชาวบ้านหลายตำบลไม่ทราบเรื่องเวทีดังกล่าว

ด้วยเหตุนี้ ไครียะห์และตัวแทนชาวบ้านจำนวนหนึ่งจึงไปยื่นหนังสือที่ศาลากลางจังหวัดสงขลาเมื่อวันที่ 10 พ.ค. หรือ 2 วันก่อนถึงกำหนดจัดเวที เพื่อขอความชัดเจน ก่อนจะปักหลักข้ามคืนเพื่อรอคำตอบอยู่ที่หน้าศาลากลางฯ


“การที่จะทำโครงการใดโครงการหนึ่ง จะต้องมีเวทีประชาพิจารณ์ออกมาก่อน ซึ่งตามกฎหมายแล้วจะต้องประชาสัมพันธ์ก่อนล่วงหน้า... แต่การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้มันแปลกมาก เนื่องจากว่ามันมีการประชาสัมพันธ์อย่างไม่ชัดเจน


"ตัวหนูเองซึ่งเป็นคนในพื้นที่และชาวบ้านส่วนหนึ่งไม่ได้รับรู้ว่าเวทีวันที่ 12 (พ.ค.) มันคือเวทีอะไร เราก็เลยไปยื่นหนังสือที่ศาลากลางจังหวัดสงขลา... ศาลากลางจังหวัดสงขลาก็บอกว่า เขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ก็เลยส่งไปถาม ศอ.บต.ค่ะ ซึ่งให้ทางศาลากลางจังหวัดสงขลาเป็นสื่อกลาง”

“หนูคิดว่าถ้าเรารอคำตอบ กว่าหนังสือจะส่งไปถึง ศอ.บต. กว่าเขาจะพิจารณามันก็นาน มันจะไม่ทันแน่นอน เขาก็จะจัดเวทีแน่นอน ถ้าหนูกลับบ้านไปแล้วไม่รู้อะไรเลย ก็ไม่มีประโยชน์อะไร กลับไปแบบไม่รู้ว่าชะตากรรมของตัวเองในวันข้างหน้า... หนูก็เลยตัดสินใจปักหลักรอคำตอบอยู่ที่หน้าศาลากลางจังหวัดสงขลา”

“ตอนนั้นหนูบอกกับพี่น้องชาวบ้านว่า ใครจะกลับก็กลับก็ได้ แต่ว่าหนูจะขอรอคำตอบอยู่ตรงนี้ วันนั้นแม่หนูไปด้วย ช่วงนั้นมันก็มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้วหนูเป็นผู้หญิง แม่ก็เลยเป็นห่วง แม่ก็เลยนั่งด้วย”

จะนะ  ไครียะห์ ระหมันยะ  7226.jpg

จดหมายไร้คำตอบ – จาก ‘ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ’ ถึง ‘ปู่ประยุทธ์’

ช่วงที่ไครียะห์ปักหลักหน้าศาลากลางจังหวัดสงขลา เธอได้เผยแพร่จดหมายที่ตัวเองเขียนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในนามของ ‘ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ’ เพื่อสะท้อนความกังวลของคนจะนะ ที่มีต่อโครงการนิคมอุตสาหกรรมฯ และ จม.ดังกล่าวถูกนำไปเผยแพร่ต่อในสื่อสังคมออนไลน์ของผู้ติดตามโครงการพัฒนาในสงขลาและจังหวัดใกล้เคียง

“จดหมายถึงคุณปู่ประยุทธ์ เล่าถึงเรื่องราวชีวิต ความผูกพัน ที่หนูมีกับทะเล ทำไมหนูถึงรักทะเล และมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น แต่จดหมายฉบับแรกก็ไม่มีเสียงตอบรับออกมา หรือว่าเกิดข้อผิดพลาดทางการประสานงาน จดหมายของหนูถึงไปไม่ถึงคุณปู่ประยุทธ์สักที อันนี้หนูก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน”

เมื่อจดหมายถึง ‘ปู่ประยุทธ์’ ไร้เสียงตอบรับ มิหนำซ้ำเวทีรับฟังความคิดเห็น 12 พ.ค. ซึ่งถูกเลื่อนไปครั้งหนึ่งแล้วด้วยเหตุผลว่า “ชนกับช่วง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” ก็กำลังจะถูกจัดขึ้นใหม่ในวันที่ 11 ก.ค.2563 ไครียะห์จึงเขียนจดหมายฉบับที่ 2 และนำ จม.ดังกล่าวติดตัวมายังกรุงเทพฯ เพื่อขอพบตัวแทนรัฐบาลเมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา

ภารกิจยื่นหนังสือเรียกร้องของคนจะนะถึงรัฐบาล พร้อม จม.ฉบับที่ 2 ของไครียะห์ ถูกรับหน้าโดย ‘สุภรณ์ อัตถาวงศ์’ เจ้าของฉายา ‘แรมโบ้ อีสาน’ ซึ่งปัจจุบันเป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ผู้ให้คำแนะนำต่อไครียะห์ว่า “อย่าไปนั่งหน้าทำเนียบ” เพราะเดี๋ยวจะโดน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

“เขาก็คงเป็นห่วง” ไครียะห์พูดถึง ‘คุณลุงแรมโบ้’ อย่างประนีประนอม


“เขาบอกว่าอย่าไปนั่งหน้าทำเนียบ ถ้าไปนั่งกันเยอะๆ เดี๋ยวก็จะเกิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน”


อีกเหตุผลในการดั้นด้นนับพันกิโลเมตรมายังกรุงเทพฯ ครั้งนี้ เป็นเพราะไครียะห์และเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ได้รับข้อมูลเพิ่มเติมว่า การจัดเวทีรับฟังความเห็นเรื่องโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะในวันที่ 11 ก.ค.จะมีเอกสารแนบท้ายเรื่องการเปลี่ยนผังเมืองจาก ‘สีเขียว’ เป็น ‘สีม่วง’ ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนวัตถุประสงค์การใช้พื้นที่เกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรม ทำให้ไครียะห์เดินทางไปยื่นหนังสือเรียกร้องข้อเท็จจริงกับกรมโยธาธิการผังเมืองอีกแห่งหนึ่ง

“เวทีรับฟังความคิดเห็นวันที่ 11 นี้มันเป็นเพียงแค่ชื่อ แต่ว่าความเป็นจริงแล้ว เอกสารแนบท้ายมันเป็นเรื่องการเปลี่ยนผังเมือง เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีม่วง คือไม่ว่าคุณจะไปยกมือว่าคุณไม่เอานิคมฯ ยังไงเอกสารแนบท้ายก็ชัดเจนแล้วว่าวันนี้ต้องเป็นเวทีเปลี่ยนผังเมือง”

เมื่อไครียะห์ไปยื่นหนังสือถึงกรมโยธาธิการผังเมืองเมื่อ 3 ก.ค.เพื่อสอบถามว่า ศอ.บต.มีหน้าที่ในการเปลี่ยนแปลงผังเมืองหรือไม่ ได้รับคำตอบจากรองอธิการบดีกรมโยธาฯ ว่า ศอ.บต. 'ไม่มีหน้าที่' ในการเปลี่ยนแปลงผังเมือง และการเปลี่ยนแปลงผังเมืองไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงได้เฉพาะ 3 ตำบล ถ้าเปลี่ยนแล้วจะต้องเปลี่ยนทั้งอำเภอ ซึ่งคนที่มีอำนาจดำเนินการเรื่องนี้ คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)

คนจะนะไม่ขาดแคลนอาชีพ - ‘นิคมอุตสาหกรรม’ ไม่ใช่คำตอบ

ไครียะห์บอกว่าอาชีพหลักของคนจะนะ ได้แก่ ประมง เกษตรกรรม และการเลี้ยงนกเขาชวา ซึ่งสร้างรายได้ให้อย่างเป็นกอบเป็นกำแก่คนในพื้นที่ ทั้งยังสอดคล้องกับวิถีชีวิตดั้งเดิม แต่การสร้างนิคมอุตสาหกรรมฯ จะส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของพวกเขาเหล่านี้ ทั้งยังไม่อาจสร้างการงานอาชีพที่มั่นคงยั่งยืนได้จริง

“คนทั้งอำเภอจะนะไม่ใช่แค่ประกอบอาชีพประมงอย่างเดียว แต่ยังมีทำเกษตร เกษตรอินทรีย์ ทำนา ข้าวที่ดังตอนนี้ในอำเภอจะนะก็คือ ‘ข้าวลูกปลา’ แล้วก็เลี้ยงนกเขาชวาเสียง”

เธออธิบายด้วยว่า ‘นกเขาชวา’ จากจะนะ ถูกนำเข้าสู่การแข่งขันระดับอาเซียน และสามารถคว้ารางวัลมาครองได้ จึงเป็นเครื่องยืนยันคุณภาพเป็นอย่างดี นอกจากนี้ ไข่ของนกเขาชวาฟองหนึ่งยังมีมูลค่าตั้งแต่ 50 บาท ไปจนถึง 'หลักหมื่น' รวมถึงมีการส่งออกนกเขาและกรงนกเขาสวยงามไปยังต่างประเทศ โดยตลาดใหญ่อยู่ที่ประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่าง อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์

“เคยมีโอกาสไปถามคนที่เลี้ยงนกเขา เลี้ยงยังไง ทำไมถึงรายได้ดีจัง เขาก็บอกว่า การเลี้ยงนกเขาจะต้องอยู่ในสภาพที่ดี อยู่ในบริเวณที่อากาศดี มีสิ่งแวดล้อมที่ดี แค่ควันบุหรี่ก็ไม่ได้ นกเขาจะเสียงไม่เพราะ พอเสียงไม่เพราะแล้ว มูลค่ามันก็จะต่ำลง”

“นกเขาที่เราส่งออกนี้ ไม่ใช่แค่นกอย่างเดียวที่ราคารวมเป็นล้านหรือราคารวมเป็นสิบล้าน แต่กรงนกเองก็มีการแข่งกันในเชิงว่า กรงนกของใครสวยกว่า ก็มีคนทำ ยิ่งสวย ราคามันก็ยิ่งเพิ่มขึ้น กรงนกใบหนึ่งบางทีราคาเป็นแสน จะมาบอกว่าคนจะนะจนตรงไหน คนจะนะไม่มีงานทำยังไง งานเยอะแยะมากมายเลย”

“แต่สิ่งที่คนจะนะมี กำลังจะถูกมองข้าม เพราะเขามองว่าบ้านยังอยู่เก่าๆ อะไรแบบนี้ ทั้งที่จริงๆ แล้ว อำเภอจะนะเป็นแหล่งผลิตอาหาร แล้วก็เป็นเหมือนศูนย์การค้า เป็นที่ให้คนมาทำงาน คือมันมีค่ามากกว่านั้นน่ะค่ะ”


“ไม่มีใครปฏิเสธการพัฒนา”

เมื่อ ‘วอยซ์ออนไลน์’ สอบถามว่า เพราะเหตุใดเด็กสาววัยเพียง 17 ปีถึงออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของคนในชุมชนอย่างจริงจัง แม้ว่าจะได้รับคำเตือนจากผู้หลักผู้ใหญ่มาตลอดทาง ทั้งในระดับจังหวัดและในระดับชาติ

“เด็กก็ต้องหายใจในอากาศ เด็กๆ ก็อยากมีอนาคตที่สดใสเหมือนกัน” ไครียะห์ตอบเราอย่างตรงไปตรงมา พร้อมยืนยันว่า คนจะนะและอีกหลายพื้นที่ในภาคใต้ ไม่มีใครปฏิเสธการพัฒนา แต่การดำเนินโครงการพัฒนาจะต้องรับฟังความคิดเห็นของคนท้องถิ่น และคำนึงถึงความสอดคล้องด้านวิถีชีวิตวัฒนธรรมด้วย เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับชีวิตและอนาคตของคนในชุมชนทุกคน

ไครียะห์ เครือข่ายจะนะ

กรณีของพื้นที่จะนะ เธอมองว่ามีการพัฒนา ‘มากจนเกินไป’ เสียด้วยซ้ำ เพราะการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมเริ่มส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และแหล่งรายได้ของชาวบ้าน มีการร้องเรียนด้านสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นในบางพื้นที่ เช่น ในตำบลนาทับ ซึ่งมีท่าเรือขนาดเล็ก และบริเวณรอบโรงไฟฟ้าชีวมวล

“คนจะนะไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนาเลย แต่ว่าตอนนี้ที่จะนะมีโรงแยกก๊าซ แล้วก็มีโรงไฟฟ้า 2 โรง โรงไฟฟ้าชีวมวลอีก 3 โรง คือคนจะนะพอแล้วกับการพัฒนา พอแล้วจริงๆ การพัฒนาที่คุณบอกน่ะ ตอนนี้มันเห็นได้ชัดเจนมากว่าน้ำเน่าเหม็น ขยะเหม็น...มันทำให้คนออกมาส่งเสียงว่าอันนี้เขาไม่โอเคแล้ว เช่น กลิ่นที่ออกมาจากโรงงาน”

“ถ้าถามว่าคนในจะนะได้ไปทำงานในโรงไฟฟ้า โรงแยกก๊าซ หรือว่าโรงไฟฟ้าชีวมวลหรือไม่? อันนี้ 80 เปอร์เซ็นต์ ‘ไม่มี’ น่าจะมีแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ เพราะว่าถ้าพูดจริงๆ เขาจะไม่ค่อยให้คนในเข้าไปทำงาน... เพราะเขากลัวว่าถ้าเกิดมีพนักงานมีปัญหากับเจ้าของโรงงานนิดเดียว ชาวบ้านก็อาจจะพากันมาประท้วง ซึ่งเขาไม่อยากที่จะให้คนในพื้นที่ได้ทำงานแน่นอน”


“ถ้า (คนใน) จะทำงานได้จริงๆ มากสุดก็แค่ รปภ. เพราะถ้าจะทำงานในตำแหน่งสูงสุด จะต้องเป็นคนที่เรียนจบทางด้านนั้นเลย... ในอำเภอจะนะจะมีสักกี่คนที่เรียนจบเพื่อทำนิคมอุตสาหกรรม”


ไครียะห์สะท้อนความเห็นที่เคยได้ยินได้ฟังมาจากคนในท้องถิ่น ซึ่งมองว่าการสร้างโรงงานในพื้นที่ 'เป็นไปได้' และไม่มีใครคิดจะต่อต้าน ถ้ามีการพิจารณาศึกษาถึงข้อดีข้อเสียและผลกระทบอย่างรอบด้าน มีการปรึกษาหารือกับภาคประชาชน เช่น คนในพื้นที่มองว่าการตั้งโรงงานขนาดเล็กเพื่อแปรรูปหรือต่อยอดผลผลิตทางการเกษตร เป็นเรื่องที่น่าสนใจ

“มันมีทางเลือกอีกเยอะแยะมากมายที่ไม่ต้องมาทำลายอย่างนึง แล้วก็เอาอีกอย่างนึงมาแทน เราสามารถที่จะพัฒนาสิ่งที่ดีอยู่แล้วให้มันพัฒนาขึ้นไปอีกน่ะค่ะ”

แม้บทสนทนากับคนรุ่นใหม่จะเต็มไปด้วยความหวัง ขณะเดียวกันกลับมีเหตุการณ์ชวนให้ตั้งคำถามถึงความโปร่งใสและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เพราะมีทหาร-ตำรวจหลายนายบุกถึงบ้านผู้ที่เคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ช่วงวันที่ 7-8 ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อสอบถามว่า พวกเขาจะไปเข้าร่วมในเวทีรับฟังความคิดเห็นที่จะจัดขึ้นในวันที่ 11 ก.ค.นี้หรือไม่

ผู้ที่ถูกทหาร-ตำรวจติดตามไปสอบถาม มีทั้งนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม เช่น 'บรรจง นะแส' และอาจารย์สมพร ช่วยอารีย์ แห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และอีกคนหนึ่งที่ถูกทหาร 6 นายบุกไปพบถึงบ้านก็คือ ‘รุ่งเรือง ระหมันยะ’ บิดาของไครียะห์นั่นเอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: