ไม่พบผลการค้นหา
กางข้อบังคับการประชุมสภาฯถึงขั้นตอนการโหวตเลือกประธานและรองประธานสภาฯ ในวาระร้อนประชุมสภาฯ นัดแรกวันที่ 4 ก.ค.นี้ ด้าน พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อาวุโสสูงสุดขึ้นทำหน้าที่ประธานชั่วคราว คุมเกมเลือกประมุขนิติบัญญัติ

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นัดแรกวันที่4 ก.ค. 2566 มีคิวร้อนสำคัญคือการลงมติเลือกประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร จำนวน3 คน ภายหลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ได้มีมติประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.ครบแล้ว 500 คน

โดย พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และอดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ถือเป็น ส.ส.ที่มีอายุมากที่สุด ในวัย 89 ปี จะขึ้นบัลลังก์ประธานชั่วคราวในการประชุมเพื่อโหวตเลือกประมุขนิติบัญญัติไทย

ซึ่งตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 กำหนดไว้ในข้อ 5 หมวด 1 การเลือกประธานสภาและรองประธานสภาว่า การเลือกประธานสภาและรองประธานสภาครั้งแรก ให้เลขาธิการสภาฯ เชิญสมาชิกผู้มีอายุสูงสุด ซึ่งอยู่ในที่ประชุมเป็นประธานชั่วคราวของที่ประชุม เพื่อให้ที่ประชุมดำเนินการเลือกประธานและรองประธานสภาฯ และเพื่อขอให้ที่ประชุมดำเนินการในเรื่องอื่นที่จำเป็นต้องประชุมปรึกษาในการประชุมครั้งนี้ด้วย

ในการดำเนินการเลือกประธานและรองประธานสภาฯ ถ้าผู้เป็นประธานชั่วคราวของที่ประชุมได้รับการเสนอชื่อเป็นประธานหรือรองประธานสภาฯ ให้สมาชิกผู้มีอาวุโสสูงสุดในลำดับถัดไปซึ่งอยู่ในที่ประชุมเป็นประธานของที่ประชุม

ข้อบังคับการประชุมสภาฯ ยังกำหนดไว้ใน ข้อ 6 ระบุว่า การเลือกประธานสภา สมาชิกแต่ละคนมีสิทธิเสนอชื่อได้ 1 ชื่อ การเสนอนั้นต้องมีจำนวน สมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 20 คน ให้ผู้ถูกเสนอชื่อกล่าวแสดงวิสัยทัศน์ในการที่จะดำรงตำแหน่งต่อที่ประชุมภายในระยะเวลาที่ประธานกำหนดโดยไม่มีการอภิปราย ถ้ามีการเสนอชื่อผู้ใดเพียงชื่อเดียว ให้ถือว่าผู้ถูกเสนอชื่อนั้นเป็นผู้ได้รับเลือก ถ้ามีการเสนอชื่อหลายชื่อ ให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นการลับ

ข้อบังคับการประชุมสภาฯ ข้อ 8 ระบุว่า เมื่อเลือกประธานสภาและรองประธานสภาฯได้แล้ว ให้เลขาธิการสภาฯ มีหนังสือแจ้งไปยังนายกรัฐมนตรีโดยเร็ว เพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป เมื่อพระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งประธานสภาฯ และรองประธาสภาฯแล้ว ให้เลขาธิการสภาฯ ส่งสำเนาประกาศพระบรมราชโองการไปยังวุฒิสภาด้วย

สภา สส รัฐสภา IMG_6151.jpegประวิตร สส สภาผู้แทนราษฎร สภา รัฐสภา IMG_6135.jpegรัฐสภา สภา 70.jpegวิโรจน์ _6249.jpegวิโรจน์ IMG_6228.jpeg

สำหรับ พล.ต.ท.วิโรจน์ ที่ถูกวางตัวให้เป็นประธานที่ประชุมสภาฯ ชั่วคราวด้วยสถานะอาวุโสสูงสุดในสภาชุดปัจจุบัน กิดเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. พ.ศ. 2476 ที่ อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง เป็นอดีตสารวัตรใหญ่สถานีตำรวจนครบาลสำเหร่

พล.ต.ท.วิโรจน์ สมรสกับ วินิจ เปาอินทร์ ผู้พิพากษาสมทบ ศาลเด็กจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีบุตรชาย คือ พันตำรวจโท นราวิทย์ เปาอินทร์ ผู้อำนวยการโรงงานไพ่ กรมสรรพสามิต อดีตผู้อำนวยการโรงพิมพ์ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

พล.ต.ท.วิโรจน์ เคยเป็น ส.ส.อ่างทอง จากการเลือกตั้งในปี 2538, 2539 และ 2544 เคยผ่านสังกัดพรรคประชากรไทย และพรรคชาติไทย ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน ในคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.)

และเคยเป็นรัฐมนตรี 2 สมัย คือ รมช.มหาดไทย ในรัฐบาลของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร

และเป็นรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย ในปี 2543 แต่ในการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2548 พล.ต.ท.วิโรจน์ ลงเลือกตั้งแต่พ่ายแพ้ให้กับ เพ็ญชิสา หงษ์อุปถัมภ์ไชย ผู้สมัครหน้าใหม่จากพรรคไทยรักไทย

พล.ต.ท.วิโรจน์เข้าร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย และรับตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค จากนั้นในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 ได้ลงสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 17 ของพรรคเพื่อไทยด้วย

พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ เคยเป็นประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร และเดือน ต.ค. 2555 ได้รับแต่งตั้งจากกรรมการบริหารพรรคให้ทำหน้าที่รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แทน ยงยุทธ วิชัยดิษฐ ที่ลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2555

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 เขาได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 119

ภายหลังการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไป เมื่อ 14 พ.ค. 2566 พล.ต.ท.วิโรจน์ ได้สมัครรับเลือกตั้งในแบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 1 และได้รับการเลือกตั้ง  

โดยสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 26 วันที่ 4 ก.ค. 2566 พล.ต.ท.วิโรจน์ ที่มีอายุสูงสุดจะขึ้นบัลลังก์เพื่อคุมเกมการประชุมนัดแรกในการเลือกประธานและรองประธานสภาฯ คนใหม่

อีกทั้งตำแหน่งประมุขนิติบัญญัติยังต้องคอยคุมเกมภารกิจสำคัญ ทั้งการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ไม่ว่าจะเป็นการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ที่พรรคการเมืองซีกประชาธิปไตย 8 พรรคจะต้องผลักดันให้แคนดิเดตนายกฯ ของฝ่ายตัวเองขึ้นเป็นนายกฯ คนที่ 30 ให้ได้ รวมทั้งยังมีวาระร้อนสำคัญที่จะต้องทำให้สำเร็จคือ ภารกิจสำคัญการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่ต้องอาศัยเสียง ส.ว.ที่มาเห็นชอบด้วย