ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ย้ำนโยบายพัฒนาอาชีวศึกษาให้กลายเป็นแหล่งบ่มเพาะคนงานที่มีศักยภาพของประเทศเพื่อตอบโจทย์ความต้องการแรงงานมีทักษะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
รมว.ศึกษาฯ ชี้ว่า การพัฒนาเศรษฐกิจประเทศโดยเฉพาะกับโครงการความหวังอย่าง อีอีซี ไม่สามารถทำได้แค่ขาของการลงทุนที่ภาครัฐพยายามขยายฐานความน่าสนใจอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังต้องเตรียมพร้อมรองรับความต้องการแรงงานที่มีทักษะให้กับภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศเช่นเดียวกัน
ด้วยเหตุนี้ จึงมีการดำเนินโครงการนำร่อง โดยให้ 'อีอีซี' ทำหน้าที่เสมือนนายหน้าคนกลาง ในการจับคู่ความต้องการของบริษัทเอกชนเข้ากับสถาบันอาชีวศึกษาในพื้นที่ โดยให้เอกชนเข้ามานั่งคุยว่าต้องการแรงงานที่มีทักษะเฉพาะใดบ้าง ขณะที่ฝั่งสถาบันฯ กลับมาจัดการเรียนการสอนที่ตรงกับความต้องการเหล่านั้น เพื่อทำให้มั่นใจว่าเด็กที่เรียนจบไป จะเป็นแรงงานที่ตลาดต้องการอย่างแน่นอน
คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เสริมว่า ปัจจุบัน เป้าหมายในการสร้างงานสร้างอาชีพเพื่อตอบโจทย์โครงการอีอีซี ระหว่างปี 2562-2566 มีทั้งสิ้นประมาณ 4.75 แสนตำแหน่ง ในจำนวนดังกล่าว คาดว่าจะมาจากฝั่งอาชีวศึกษาเป็นส่วนใหญ่
ขณะที่รูปแบบในการพัฒนาบุคลกร ปัจจุบันมีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทแรก มีเอกชนเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการศึกษาเล่าเรียนรวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการฝึกทักษะทั้งหมด 100% โดยในปี 2563 มีผู้เข้าร่วมโครงการดังกล่าวทั้งสิ้น 2,516 คน แบ่งเป็น 1,731 คน จากสถาบันอุดมศึกษา และอีก 785 คน จากสถาบันอาชีวศึกษา
ขณะที่การพัฒนาประเภทที่ 2 เป็นการฝึกอบรวมระยะสั้น เพื่อปรับทักษะแรงงานให้เหมาะสมกับตลาดมากขึ้นในระยะเร่งด่วน โดยโครงการนี้จะเป็นการออกทุนร่วมฝั่งละ 50% ระหว่างรัฐบาลและเอกชน ซึ่งปัจจุบันมีผู้ผ่านการฝึกอบรมแล้วทั้งสิ้น 6,064 คน
เมื่อดูจากตัวเลขผู้ได้รับการพัฒนาศักยภาพในหลักพันเทียบกับตัวเลขเป้าหมายหลักแสน ณัฏฐพล ยอมรับว่าต้องพัฒนาประสิทธิภาพการเรียนการสอนของอาชีวศึกษาให้มากขึ้น ซึ่งการใช้เวลาที่มีวิกฤตโรคระบาดเป็นการเตรียมความพร้อมถือเป็นการใช้ประโยชน์อย่างดีที่สุด เพราะเมื่อเศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง ประเทศไทยจะมีแรงงานที่มีคุณภาพเป็นหนึ่งในปัจจัยสนับสนุนการมาลงทุนของต่างประเทศ
ณัฏฐพล เสริมอีกว่า อีกหนึ่งโครงการนอกจากที่ อีอีซี จะทำหน้าที่เสมือนนายหน้าจัดหาบุคลกรให้ตรงกับความต้องการของเอกชน ภาครัฐจะเข้ามาส่งเสริมการสร้างศูนย์ความเป็นเลิศทางอาชีวศึกษาเพื่อเปิดพื้นที่ให้นักเรียนได้ฝึกทดลองทักษะของตนเองจริง และมีความเชี่ยวชาญในสายงานที่เรียนมา
อย่างไรก็ตาม รมว.ศึกษาฯ ยอมรับว่า ที่ผ่านมา การพัฒนาบางอย่างทำได้ไม่เต็มที่ ขณะที่หลายอย่างต้องหยุดชะงักลงไปจากวิกฤตโรคระบาด ส่วนหนึ่งมาจากงบประมาณที่ไม่เพียงพอมากนัก ซึ่งตอนนี้ ตนเองกำลังประเมินว่าสามารถโยกเงินส่วนไหนมาได้บ้าง ทั้งยังมีความเป็นไปได้ที่จะยื่นเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อของบประมาณที่จำเป็นเพิ่มเติม
ปีงบประมาณ 2563 กระทรวงศึกษาธิการ ได้รับการจัดสรรงบทั้งสิ้น 3.68 แสนล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า 24.4% เนื่องจาก หลายหน่วยงานภายใต้สำนักงาน คณะกรรมการการอุดมศึกษาซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ จำนวน 81 หน่วยงาน ย้ายไปสังกัดและขอรับงบประมาณภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม
จากจำนวนงบดังกล่าว เม็ดเงินเกือบ 2,000 ล้านบาท ถูกใช้กับโครงการส่งเสริมนโนบาย ประเทศไทย 4.0 และอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการภายใต้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ขณะที่มีเพียง 2 โครงการเท่านั้น ที่อยู่ภายใต้การดูแลของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ส่วนเรื่องการพัฒนาบุคลากรณ์ผู้สอน ณัฏฐพล ย้ำว่า ปัจจุบันมีการพิจารณาลดภาระงานที่ทำให้ครูไม่ได้จดจ่ออยู่กับนักเรียนลง รวมถึงแรงจูงใจเรื่องค่าแรงที่อาจต้องเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ได้ตอบอย่างแน่ชัดว่าแผนการดังกล่าวจะเป็นรูปธรรมภายในระยะเวลาเท่าใด