ส.ค.2561 เริ่มระบาดในจีน
ก.พ.2562 เริ่มระบาดในเวียดนาม
มี.ค.2562 เริ่มระบาดในกัมพูชา
มิ.ย.2562 เริ่มระบาดในลาว
มิ.ย.2562 เริ่มระบาดในเมียนมา
ก.ค.2562 เริ่มระบาดในฟิลิปปิสน์
ก.พ.2564 เริ่มระบาดในมาเลเซีย
o จากชายแดน : รู้อยู่แล้วว่าใช่ ต้องใช่แน่ๆ
มี.ค.2562 กระทรวงเกษตรายงาน ครม.ว่า จับการลักลอบนำเข้าชิ้นส่วนหมูจากชายแดนได้ 269 ครั้ง เจอ ASF 59 ตัวอย่าง เป็นอันว่าทางการไทยทราบแล้วว่า ASF รอดรั้วมาอย่างเป็นทางการ และจับกุมเพิ่มเป็น 4,400 รายในปลายปี 2563 ตรวจพบ ASF ถึง 440 ตัวอย่าง
เม.ย.2562 ครม.อนุมัติตามที่ปศุวัตว์เสนอให้การป้องกันการแพร่ระบาดของ ASF ในไทยเป็น "วาระแห่งชาติ" ตั้งงบ 148 ล้านบาท เบิกจ่ายรอบแรกกัน 53 ล้านบาท กว่าจะตั้งคณะกรรมการที่จุรินทร์ ลักษณะวิศิษฐ์ เป็นประธานก็เดือน ต.ค.2562
o การระบาดในพื้นที่แรก - เชียงราย ก่อนกระจาย
ต้นเดือน ก.ย.2562 เป็นจุดตั้งต้นการระบาดในประเทศไทย รศ.นายสัตวแพทย์ กิจจา อุไรวงศ์ จากคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ ม.เกษตรตั้งข้อสังเกตว่ามีข่าวว่า ชาวเมียนมาในจังหวัดท่าขี้เหล็ก ฝั่งตรงข้ามจังหวัดเชียงราย ทิ้งซากหมูตายจำนวนมากลงแม่น้ำรวก และมีชาวบ้านฝั่งไทยไปเก็บซากหมูขึ้นมา รวมไปถึงการทิ้งซากหมูตายในแม่น้ำขาวแม่น้ำสาขาของแม่น้ำกก
กลางเดือน ก.ย.2562 เริ่มมีข่าวหมูชาวบ้านอ.แม่จัน จ.เชียงราย ตายยกเล้าหลายแห่ง
ปี 2563 โดยเฉพาะช่วงปลายปี ปรากฏข่าวโรคระบาดหมูเกิดขึ้นในหลายจังหวัด โดยการให้ข่าวจากรัฐระบุว่าเป็นโรคเพิร์ส
ปี 2563 แม้จะเริ่มมีการระบาดในไทยแล้ว แต่ความที่ไทยยังไม่ประกาศว่าเป็น ASF ทำให้กลายเป็น "ไข่แดง" ที่ปลอดโรค การส่งออกหมูทุกประเภทตลอดทั้งปีนี้จึงเพิ่มขึ้น 300%
o สถานการณ์เลวร้าย ปี 2564 ฟาร์มล้มละลาย
ปี 2564 ปรากฏข่าวโรคระบาดหมูทั่วประเทศ ช่วงกลางปีกรมปศุสัตว์ระบุว่ามี 48 จังหวัดที่อยู่ในภาวะ "เสี่ยง" และเริ่มปรากฏว่า ฟาร์มหมูรายเล็ก รายกลางล้มหายไปเป็นจำนวนมาก เช่น ฉะเชิงเทรา ชลบุรี มีฟาร์ม 300-400 แห่ง เหลือเพียง 30-40 แห่ง แม้ระบาดจนฟาร์มปิดตัวไปจำนวนมาก รัฐยังคงยืนยันไม่ใช่ ASF
ปลายปี 2564 ต่างประเทศระบุหลายครั้งว่า พบ ASF ในผลิตภัณฑ์จำพวกกุนเชียงที่นักท่องเที่ยวนำเข้าจากประเทศไทย
ปลายปี 2564 คณะสัตวแพทยศาสตร์ 14 สถาบันส่งหนังสือไปยังอธิบดีกรมปศุสัตว์ ระบุว่าโรคระบาดเป็น ASF แต่กรมปศุสัตว์ยังคงยืนยันว่า ไม่มีโรคนี้ระบาด จม.ดังกล่าวเพิ่งถูกเปิดต้นเดือนม.ค. 2565 จากนั้นไม่กี่วันอธิบดีกรมปศุสัตว์จึงออกมายอมรับว่า พบ ASF แล้ว 1 ตัวอย่างจากการสุ่มตรวจโรงฆ่าสัตว์
o กำจัดหมูได้น้อยมาก ชดเชยเกษตรกรไม่กี่พันรายจากหลักแสนราย
มีนาคม 2563 ครม.อนุมัติงบค่าชดเชยครั้งแรก โดยใช้งบกลางจำนวน 523 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นค่าจัดเตรียมระบบ ส่วนที่เป็นค่าชดเชยจริงๆ จำนวน 381 ล้านบาท ตั้งเป้าจะให้ครอบคลุม 27 จังหวัด เกษตรกรราว 6,500 ราย กำจัดหมู (ซึ่งใช้คำว่า 'ลดความเสี่ยง') 70,000 ตัว โดยระบุจจะจ่ายให้เกษตรกร 70% ของราคาตลาด แต่เบิกจ่ายจริงเพียง 98 ล้านบาท ครอบคลุม 5 จังหวัดภาคเหนือ เกษตรกร 477 ราย หมู 2,500 ตัว
กลางปี 2564 กรมปศุสัตว์ราย ครม. ทำลายหมูไป 26,000 ตัว และยังคงค้างจ่ายเกษตรกร 102 ล้าน
นอกจากนี้ยังประเมินสถานการณ์ปี 2564 ว่า มีฟาร์มที่เสี่ยงสูง-สูงมาก จำนวนราว 33,000 ราย หมูประมาณ 770,000 ตัว ดำเนินการ "ลดความเสี่ยง" ไปแล้ว 142,000 ตัว ในฟาร์มของเกษตรกร 4,900 แห่ง คิดเป็น 15% ของจำนวนฟาร์มที่มีความเสี่ยงสูง หรือหากเทียบกับจำนวนฟาร์มทั้งประเทศก็คิดเป็น 2.6% (ฟาร์มทั้งหมดมี 187,000 แห่ง เป็นรายเล็ก 174,000 แห่ง กลาง 10,000 แห่ง ใหญ่ 3,000 แห่ง)
กรกฎาคม 2564 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ของบกลางเพื่อ "ป้องกัน" ASF 1,400 ล้าน แต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และครม. อนุมัติเพียง 140 ล้านบาท
มกราคม 2565 ครม.อนุมัติงบกลาง 574,111,263 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรและโรคระบาดร้ายแรงในสุกรหรือหมูป่า โดยเป็นค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลาย ตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค.2564 - 15 ต.ค.2564
ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ได้ "ลดความเสี่ยง" ไปแล้วในพื้นที่ 56 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี อ่างทอง ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี หวัดสระแก้ว นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ชัยภูมิ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี เลย หนองบัวลำภู มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ขอนแก่น อำนาจเจริญ หนองคาย บึงกาฬ ร้อยเอ็ด นครพนม อุดรธานี มุกดาหาร สกลนคร ยโสธร เชียงใหม่ ลำปาง แม่ฮ่องสอน น่าน พะเยา แพร่ อุทัยธานี อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ สุโขทัย พิษณุโลก ตาก กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ เพชรบุรี กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต ตรัง กระบี่ ระนอง นครศรีธรรมราช ชุมพร พัทลุง พังงา และสงขลา จำนวนเกษตรกร 4,941 ราย จำนวนสุกร 159,453 ตัว เป็นเงินทั้งสิ้น 574,111,263 บาท ส่วนใหญ่เป็นรายย่อย