ไม่พบผลการค้นหา
“SSU แจ้งเตือนเหตุ: มีรายงานว่าพบการยิงกันเกิดขึ้นที่ (สถานที่) โปรดดำเนินการอย่างเหมาะสม วิ่ง! ซ่อน! สู้!”

ข้อความข้างต้นจะปรากฏบนโทรศัพท์ของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยโซโนมาสเตท (SSU) ประเทศสหรัฐฯ หากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับรายงานว่า มีการพบเห็นมือปืนอยู่ในวิทยาเขตของมหาวิทยาลัย

ระบบดังกล่าวได้มีการนำมาใช้ในมหาวิทยาลัย SSU รวมทั้งหลายมหาวิทยาลัยทั่วทั่งสหรัฐฯ เมื่อราวปี 2560 หลังจากสหรัฐฯ พบกับเหตุการณ์กราดยิงในลาสเวกัสเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2560 ที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 58 ราย และบาดเจ็บมากกว่า 500 ราย ถือเป็นเหตุกราดยิงที่ร้ายแรงที่สุดในสหรัฐฯ ยุคสมัยใหม่ 

ข้อความของระบบการแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน (ENS) จะถูกส่งออกไปยังโทรศัพท์มือถือของนักศึกษาอย่างรวดเร็ว ซึ่งโดยปกติจะใช้เวลาไม่กี่นาที แต่มีคำแนะนำว่าผู้อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุกราดยิงอย่ารอแต่การแจ้งเตือนเหล่านี้ โดยหากมีการได้ยินเสียงปืนหรือปฏิกิริยาอื่นใดจากคนรอบข้าง ผู้ประสบเหตุควรเชื่อสัญชาตญาณของตัวเอง และดำเนินการให้ตัวเองปลอดภัยให้ได้โดยเร็วที่สุด

ในข้อความที่ระบุให้ผู้ประสบเหตุกราดยิงทำการ “วิ่ง! ซ่อน! สู้!” นั้น เป็นการเรียงการตอบรับต่อเหตุการณ์ที่ดีที่สุด ตามลำดับในกรณีส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นจากเหตุกราดยิง ทั้งนี้ จากคำแนะนำของมหาวิทยาลัยโซโนมาสเตท เกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยงและบริการด้านความปลอดภัย ระบุว่า ผู้ประสบเหตุควรวิ่งหนีเป็นสิ่งแรก โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการพกสัมภาระส่วนตัว ก่อนที่จะรีบโทรแจ้งเจ้าหน้าที่เมื่ออยู่ในสถานที่ปลอดภัย

คำแนะนำระบุอีกว่า หากผู้ประสบเหตุไม่สามารถอพยพได้ ทางเลือกที่ดีที่สุดอันดับ 2 คือ การซ่อนตัว ด้วยการล็อกและกั้นประตูของผู้ประสบเหตุหากทำได้ พร้อมกันกับการปิดเสียงโทรศัพท์มือถือ และรักษาความเงียบเอาไว้ (ปิดไฟและปิดหน้าต่างได้ยิ่งดี) จนกว่าเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายจะเข้ามาถึงตัว และระบุให้ผู้ประสบเหตุกระทำสิ่งอื่นสิ่งใดแทน ทั้งนี้ หากห้องไม่มีระบบล็อก คำแนะนำระบุให้ผู้ประสบเหตุหาสิ่งของมาขวางกั้นประตู เช่น เก้าอี้ ตู้

ทั้งนี้ หากผู้ประสบเหตุไม่สามารถอพยพหนีออกจากสถานที่เกิดเหตุ หรือหลบซ่อนตัวในที่ปลอดภัยในที่เกิดเหตุได้ ทางเลือกสุดท้ายของผู้ประสบเหตุคือการสู้กลับ โดยผู้ประสบเหตุควรมองหาสิ่งแทนอาวุธหรืออาวุธเท่าที่หาได้ในห้องหรือสถานที่นั้นๆ และใช้มันเพื่อการเอาชีวิตรอด โดยหากมือปืนเดินเข้ามาในห้อง คำแนะนำระบุว่าให้ผู้ประสบเหตุโจมตีมือปืน เพื่อให้มือปืนไร้ความสามารถในการจู่โจม

อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีเหตุกราดยิงเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าประเทไทยที่มีอัตราการครอบครองอาวุธปืนเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ทั้งนี้ สหรัฐฯ ได้พยายามหาวิถีทาง เพื่อการป้องกันและระงับเหตุ เพื่อลดความสูญเสียจากการกราดยิง โดยอาศัยระบบการส่งข้อความเตือนเหตุฉุกเฉิน

เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา สถาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ได้ลงมติ 260 ต่อ 169 เสียง เพื่อผ่านร่างกฎหมายแจ้งเตือนการเกิดเหตุยิง และนำขึ้นสู่การพิจารณาในชั้นวุฒิสภาต่อไป โดยกฎหมายดังกล่าวมีเนื้อหาที่จะให้มีมาตรการ ที่จะทำให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย สามารถใช้ระบบแจ้งเตือนในเหตุการณ์ฉุกเฉิน และแจ้งเตือนสาธารณะหากเกิดเหตุยิงขึ้น

สมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ ได้ยกตัวอย่างว่า กฎหมายฉบับนี้จะสามารถใช้ในสถานการณ์ในลักษณะเดียว อย่างเช่นสิ่งที่เกิดขึ้นหลังเหตุกราดยิงในเมืองไฮแลนด์พาร์ก มลรัฐอิลลินอยส์ เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2565 หลังเมื่อผู้ต้องสงสัยมือปืนสามรถหลบหนีได้นาน 8 ชั่วโมง และสามารถขับรถไปยังมลรัฐวิสคอนซินได้ นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังมีอีกสถานการณ์หนึ่งที่ระบบเตือนภัยสามารถใช้ได้ คือในเดือน เม.ย. 2565 จากการที่มีผู้ต้องสงสัยลอยนวลอยู่นานประมาณ 29 ชั่วโมง หลังจากเขาถูกกล่าวหาว่ายิงผู้คนที่สถานีรถไฟใต้ดินในบรูคลิน

ทั้งนี้ ตัวกฎหมายมีการระบุถึงมาตรการว่า ในเหตุการณ์ที่มีเหตุกราดยิง เจ้าหน้าที่ต้องใช้ทวิตเตอร์และโซเชียลมีเดีย ทำการแจ้งให้สาธารณชนทราบเกี่ยวกับสถานการณ์ดังกล่าว 

จากคำแถลงของสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ รายหนึ่งระบุว่า ระบบเตือนภัยจะช่วยให้ตำรวจและผู้เผชิญเหตุคนแรก "มุ่งความสนใจไปที่การยุติสถานการณ์และช่วยชีวิตผู้คน" และมีการระบุจาก “หัวหน้าหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและตำรวจว่า การแจ้งเตือนเหตุกราดยิงที่เกิดขึ้น สามารถเป็นเครื่องมือสำคัญในการให้ข้อมูลที่แม่นยำและเรียลไทม์แก่ชุมชนของเรา และสิ่งหนึ่งที่พวกเขาเชื่อว่าจะช่วยในสถานการณ์อันตรายเหล่านี้”


ที่มา:

https://www.sonomastatestar.com/news/2017/10/19/what-to-do-if-an-active-shooter-is-on-campus?fbclid=IwAR1IAor_lBg7Vyp8HKnskL1opwAvcHdXgPLKEt0WP1GGkvkUcULOdgoJTEg

https://www.nbcnews.com/politics/congress/house-passes-bipartisan-bill-create-active-shooter-alert-system-rcna38179