ไม่พบผลการค้นหา
ยูเอ็นยืนยันว่าพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาคนแรกในค็อกซ์บาซาร์ของบังกลาเทศ ใกล้กับค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ยังไม่พบผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาติดเชื้อ

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR เปิดเผยว่า ผู้หญิงชาวบังกลาเทศได้รับการตรวจเลือดยืนยันแล้วว่าติดเชื้อไวรัสโคโรณา โดยเธอเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในค็อกซ์บาซาร์ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากค่ายผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญานัก

ค่ายผู้ลี้ภัยในค็อกซ์บาซาร์มีชาวโรฮิงญาที่หนีความรุนแรงในรัฐยะไข่ของเมียนมาเข้ามามากกว่า 700,000 คนในปี 2560 ทำให้มีผู้อาศัยอยู่ในค่ายค็อกซ์บาซาร์ราว 1 ล้านคน ในจำนวนนี้เกือบครึ่งเป็นเด็กและเยาวชน

อย่างไรก็ตาม หลุยส์ โดโนแวน เจ้าหน้าที่ด้านการสื่อสารของ UNHCR เปิดเผยกับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นว่า ขณะนี้ ยังไม่มีรายงานว่าผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาติดเชื้อโควิด-19 พร้อมย้ำว่า สุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้ลี้ภัยเป็นสิ่งที่ UNHCR ให้ความสำคัญมากที่สุด แม้จะยังไม่มีคนติดเชื้อในค่ายผู้ลี้ภัย แต่ UNHCR ก็เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างจริงจัง

เมื่อวันที่ 24 มี.ค.รัฐบาลบังกลาเทศยืนยันว่า ได้สั่งระงับบริการส่วนใหญ่ในค่ายผู้ลี้ภัยเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด รวมถึงโครงการด้านการศึกษา และกิจกรรมอื่นๆ ของเหล่าเอ็นจีโอ รวมถึงควบคุมการเข้าออกค่ายผู้ลี้ภัยอย่างใกล้ชิด แต่งานฉุกเฉินต่างๆ ก็จะยังดำเนินต่อไป

เนย์ซาน-ลวิน นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของชาวโรฮิงญาระบุว่า ตลาดในค่ายผู้ลี้ภัยปิดหมดแล้ว ทำให้ครอบครัวชาวโรฮิงญาหาเสบียงได้ยากขึ้น ราคาข้าวของก็แพงขึ้น ทำให้ผู้ลี้ภัยกังวลอย่างมาก แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร 

ทั้งนี้ ทางการบังกลาเทศระบุว่า ในค่ายผู้ลี้ภัยมีเตียงพยาบาล 47 เตียงที่พร้อมรับผู้ป่วย และมีการเตรียมเตียงสำรองอีก 342 เตียงไว้รองรับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

โดโนแวนยังกล่าวอีกว่า UNHCR ได้เพิ่ม มาตรการด้านสุขอนามัย การสื่อสารและการฝึกฝนเจ้าหน้าที่ภายในค่าย และวางแผนเพิ่มอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยระบุว่า ในค็อกซ์บาซาร์ ขีดความสามารถในการรองรับการรักษาอาการใดๆ ก็ตามที่ร้ายแรงค่อนข้างจำกัดมาก ตอนนี้จึงต้องเร่งเพิ่มขอบเขตความสามารถที่มีอยู่ในค่ายให้สูงขึ้น

เอธีนา เรย์เบิร์น หัวหน้าฝ่ายเคลื่อนไหวเพื่อเด็กชาวโรฮิงญาจากองค์กร Save The Children กล่าวว่า เมื่อมีผู้ติดเชื้อใกล้กับค่ายผู้ลี้ภัย ก็มีเพียงรอเวลาว่าไวรัสจะมาถึงกลุ่มผู้อ่อนแอที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่แออัดที่สุดในโลกนี้เมื่อไหร่ และอาจมีผู้ลี้ภัยเสียชีวิตจากโรคระบาดนี้มากกว่าพันคน จึงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเร่งกระบวนการเอาผิดผู้ก่ออาชญากรรมต่อชาวโรฮิงญา และให้มั่นใจว่าชาวโรฮิงญาจะสามารถกลับรัฐยะไข่ได้อย่างปลอดภัยโดยเร็วที่สุด

เรย์เบิร์นระบุว่า ในพื้นที่ที่คนสามารถเว้นระยะห่างทางสังคมกันได้ ล้างมือได้บ่อยๆ เข้าถึงระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง แต่ก็ยังอยู่ในขั้นวิกฤตอยู่ดี แต่ในค่ายค็อกซ์บาซาร์ ผู้ลี้ภัยอยู่กันอย่างแออัด แทบไม่มีโอกาสได้เว้นระยะห่างทางสังคม การล้างมือบ่อยๆเป็นเรื่องยาก เพราะการเข้าถึงน้ำสะอาดเป็นไปได้ยาก

ดังนั้น นานาชาติจะต้องยื่นมือเข้ามาสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ ชุดตรวจโรค แบ่งปันข้อมูล และงบประมาณให้ค่ายผู้ลี้ภัย


ที่มา : CNN, Save The Children