ที่ประชุมยังโหวตสุดเสียงให้ นายอนุชา นาคาศัย เป็นเลขาธิการพรรค นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ เป็นนายทะเบียนพรรค และนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เป็นเหรัญญิก
เขี่ย 4 กุมาร พ้นจากบอร์ดบริหาร “อุตตม สาวนายน” รมว.คลัง รักษาการหัวหน้าพรรค “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน รักษาการเลขาธิการพรรค นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล และ สุวิทย์ เมษินทรีย์ รักษาการกรรมการบริหารพรรค
และเมื่อสิ้นสุดการโหวต แม้ “บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร” ไม่ได้มาร่วมงาน แต่ก็ฝากวิดีโอคลิปขอบคุณสมาชิกพรรค
“ต้องขอขอบคุณทุกคนที่ให้ความไว้วางใจเลือกผมเป็นหัวหน้าพรรค พรรคของเราแม้ว่าจะกำเนิดมาด้วยระยะเวลาอันสั้น แต่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนอย่างดียิ่ง ผมพร้อมจะทำงานให้กับพรรค และนำพาพวกท่านไปด้วยความมั่นคง ขอให้พวกท่านทั้งหลายมีความสามัคคีกัน เป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อสร้างพรรคของเราให้เข้มแข็ง สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนให้จงได้”
“ขอฝากให้ทุกคนลงพื้นที่ช่วยกันทำนุบำรุงพรรคของเราให้เข้มแข็ง และให้ประชาชนมีที่อยู่ ที่กิน ได้อยู่ดีกินดีขึ้น วันนี้ถือเป็นการเริ่มต้นในการที่จะสร้างพรรคให้เกิดความเข้มแข็งที่มีองค์กรที่ชัดเจนในการทำงานให้กับพวกท่าน ผมจะนำพาพรรคให้เกิดความเข้มแข็งและนำไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
ปิดจ็อบเรื่องยุ่งๆ ใน พปชร. แต่นี่เป็นแค่ศึกยกแรก เพราะยกต่อไปคือการปรับคณะรัฐมนตรี เมื่อทีม 4 กุมาร “ขาลอย” ในพรรค
ขึ้นกับ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม จะต่อชีวิตทีมเศรษฐกิจ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ต่อไปหรือไม่ หลังจากชื่อ นฤมล ภิญโญ ถูกชูขึ้นมาเชือดกลางเวที โดย “อนุชา นาคาศัย” ว่าที่เลขาธิการพรรคคนใหม่ ให้เป็น “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพลังประชารัฐ”
จะว่าด้วยความตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจก็ตาม แต่ชื่อของ “นฤมล” ถูกโลกโซเชียลโยงไปถึง “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาล” กลายเป็นตำบลกระสุนตก โดนตั้งคำถามจากภาคสังคม ภาคธุรกิจว่า ฝีมือถึงขั้นหรือไม่ ที่จะมากู้วิกฤตเศรษฐกิจ
ขณะที่ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกฯ หัวหน้าแก๊งสี่กุมาร ชงไอเดียสิงคโปร์โมเดล ยุบสภาฯ เพื่อหารัฐบาลที่มีฝีมือมาแก้ปัญหาโควิด – 19
“พล.อ.ประยุทธ์” เป็นผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้ายว่าจะเลือกใช้ใคร-ใช้สูตรไหน
แต่การปรับโครงสร้างใน พปชร. “น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ” เลขาธิการพรรคเพื่อไทย แม่บ้านฝ่ายค้าน วิเคราะห์เชิงการเมืองว่า “การปรับกรรมการบริหารพรรค โดยทั่วไปเป็นเหมือนกับการฉาบปูนเสริมใยเหล็กให้กับพรรคมีความเหนียวแน่นขึ้น เช่นเดียวกับ พปชร.จากนี้คงไม่มีความปั่นป่วนจนกระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ ยุบสภา ที่มาจากความขัดแย้งใน พปชร.เว้นแต่จะมีปัญหาเพราะเรื่องเศรษฐกิจ”
หากตัดปัจจัยลบทางเศรษฐกิจออกไป ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง มิอาจทำให้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ “พล.อ.ประยุทธ์” สั่นคลอนได้
บนสมมติฐานการทางการเมืองว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งคณะอยู่ กอดถุงเงินเฉียด 10 ล้านล้าน ผ่านเงินงบประมาณ 4 ก้อน จึงไม่มีทางยุบสภา
รวมเงินทั้ง 4 ก้อน อยู่ที่ 8,400,000 ล้านบาท วงยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยสรุปว่า เม็ดเงินจำนวนที่รัฐบาลมีอยู่ในมือก้อนนี้นี้ถือว่าสูงที่สุดประวัติศาสตร์
เมื่อเปิดประวัติการทำงบประมาณในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่รัฐประหาร 22 พ.ค.2557 เป็นต้นมา ก็เริ่มเข้ามาจัดทำกฎหมายงบประมาณฉบับแรก และต่อเนื่องยาวนาน 7 ปี ประกอบด้วย
งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 จำนวน 2,575,000 ล้านบาท
งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 จำนวน 2,720,000 ล้านบาท
งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 จำนวน 2,733,000 ล้านบาท
งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 จำนวน 2,900,000 ล้านบาท
งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำนวน 3,000,000 ล้านบาท
งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 3,200,000 ล้านบาท (ปรับโอนงบประมาณไปใน พ.ร.บ.โอนงบ 8.8 หมื่นล้าน)
งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 3,300,000 ล้านบาท
รวมเวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์ จัดทำงบประมาณ 7 ปี รวม 20,428,000 ล้านบาท!
นอกจากนี้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ได้อภิปรายไว้ในคราวพิจารณาร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย 2563 จำนวน 8.8 หมื่นล้าน ว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เป็น “รัฐบาลจอมโอนแห่งยุค”โดยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่ คสช. ทำการโอนงบประมาณมาแล้ว 4 ครั้ง
ในปี 2558 โอนเข้างบกลาง 7,917 ล้านบาท
ในปี 2559 โอนเข้างบกลาง 22,106 ล้านบาท
ในปี 2560 โอนเข้างบกลาง 11,866 ล้านบาท
และปี 2561 โอนเข้างบกลาง 10,000 ล้านบาท เข้ากองทุนประชารัฐ 2,700 ล้านบาท
เม็ดเงินกว่า 5 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่โอนเข้าไปงบฉุกเฉินและความจำเป็น เป็นหลัก
ปิดท้ายด้วยปี 2563 โอนไปใช้ต่อสู้โควิด-19 ปี 2563 จำนวน 88,452 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์โดยรับประกันการใช้งบประมาณ หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี 30 มิ.ย.ว่า
“การใช้จ่ายงบประมาณต่างๆ พูดมาเยอะแล้ว ต้องใช้อย่างคุ้มค่า ประหยัด มีประสิทธิภาพ พร้อมรับการตรวจสอบ หลักการที่สั่งการเสมอให้ทุกอย่างเป็นไปด้วยความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ ตรวจสอบได้ ทั้งองค์กรตรวจสอบภายในภาครัฐและองค์กรอิสระ”
แต่จะเป็นอย่างที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ว่าไว้หรือไม่ ประชาชนคนเดินดินต้องช่วยกันตรวจสอบการใช้งบของรัฐบาล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง