ไม่พบผลการค้นหา
สื่อของสหรัฐฯ ระบุว่า ไทยพยายามข่มขู่อดีตผู้สื่อข่าววอยซ์ทีวี หลังถูกฟาร์มไก่ฟ้องหมิ่นประมาท แนะไทยควรแก้ไขกฎหมายหมิ่นประมาท เพื่อให้สื่อมวลชนมีเสรีภาพรายงานข่าวมากขึ้น

กองบรรณาธิการของเดอะ วอชิงตัน โพสต์ สื่อสหรัฐฯ วิพากษ์วิจารณ์ว่า ไทยพยายามข่มขู่ผู้สื่อข่าว จากกรณีที่ 'นางสุชาณี (คลัวเทรอ) รุ่งเหมือนพร' อดีตนักข่าววอยซ์ทีวี ถูกบริษัทธรรมเกษตร ฟ้องร้องข้อหาหมิ่นประมาท หลังศาลจังหวัดลพบุรีตัดสินลงโทษจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา เนื่องจากรีทวีตข้อความเกี่ยวกับคำพิิพากษาคดีแรงงานฟาร์มไก่ 14 ราย เมื่อเดือน ก.ย.2560

เนื่องจากนางสุชาณีได้เผยแพร่ข้อความเพื่อประกาศข่าวสารในทวิตเตอร์ โดยเผยแพร่ข้อความต่อจากนายอานดี้ ฮอลล์ อดีตที่ปรึกษาเครือข่ายด้านสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) ในวันที่ 14 กันยายน 2560

เดอะ วอชิงตัน โพสต์ระบุว่า บทลงโทษจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญาเป็น "ความพยายามที่สกปรกในการข่มขู่ผู้สื่อข่าว" ซึ่งนางสุชาณีได้ยื่นอุทธรณ์คดีนี้ต่อ พร้อมอ้างอิงสำนักข่าวบางกอกโพสต์ ว่า ประเทศไทยมีการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทต่างๆ เพื่อปิดปากและลงโทษผู้วิจารณ์รัฐบาล นักเคลื่อนไหวและสื่อมวลชนมาหลายปี และควรมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมาย

กองบรรณาธิการเดอะ วอชิงตันโพสต์แสดงความเห็นว่า การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวฟังดูจะเป็นความคิดที่ดี สื่อมวลชนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสังคมที่เจริญและเปิดกว้าง และจะต้องไม่ถูกบีบบังคับด้วยผลประโยชน์พิเศษหรือด้วยรัฐบาล

ก่อนหน้านี้ ลูกจ้างชาวพม่า 14 คนที่เคยทำงานให้กับฟาร์มเลี้ยงไก่ 'ธรรมเกษตร' ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และฟ้องคดีต่อศาลแรงงานเมื่อปี 2559 ว่าสภาพการจ้างงานในฟาร์มไก่ฯ ไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายแรงงาน และมีการละเมิดสิทธิแรงงาน

แรงงานชาวพม่ากล่าวว่า พวกเขาต้องทำงานวันละ 20 ชั่วโมง ตั้งแต่ 07.00-17.00 น. และทำงานล่วงเวลาตั้งแต่ 19.00-05.00 น. รวมถึงต้องนอนในเล้าไก่ข้ามคืน ไม่มีวันหยุดประจำปีหรือวันหยุดตามประเพณี ได้ค่าจ้างเพียงวันละ 230 บาท ถูกยึดใบอนุญาตทำงานและหนังสือเดินทาง โดยอ้างว่าจะดูแลเรื่องการต่ออายุให้ และได้ออกจากฟาร์มเพียงสัปดาห์ละสองชั่วโมง แต่จะต้องอยู่ในการควบคุมของผู้แทนนายจ้าง ซึ่งการออกจากฟาร์มจะต้องขออนุญาตทุกครั้ง

กองบรรณาธิการเดอะ วอชิงตันโพสต์กล่าวว่า สองคำ (แรงงานทาส) ของนางสุชาณีเป็นคำพูดที่เสียดแทง คล้ายกับโซเชียลมีเดียทั่วไป และไม่เป็นที่น่าพอใจสำหรับบริษัทธรรมเกษตรแน่นอน แต่ฟาร์มไก่ก็สามารถใช้วิธีการตอบโต้อื่นๆ เช่น การออกแถลงการณ์ หรือทวีตข้อความ หรือให้ดีกว่านั้น บริษัทควรดูแลแรงงานอย่างปรานีกว่านี้

"ทวีตไม่ควรเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้สื่อข่าวต้องติดคุก โดยเฉพาะเมื่อศาลสูงได้ตัดสินให้มีการชดเชยแรงงานต่างชาติแล้ว หวังว่านางสุชาณีจะชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ ประเทศไทยภายใต้รัฐบาลทหารมีประวัติที่ย่ำแย่ในเรื่องเสรีภาพสื่ออยู่แล้ว คดีนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะปรับปรุงเรื่องนี้"


ที่มา : The Washington Post

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :