ลัดเลาะไปตามภูเขาและแม่น้ำ ผ่านอุโมงค์และสะพานด้วยความเร็วสูงสุด 160 กม./ชม. รถไฟหัวกระสุนผลิตโดยจีนเชื่อมต่อเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน มาสิ้นสุดที่นครเวียงจันทน์ ประเทศลาว รวมระยะทางเกือบ 1,000 กิโลเมตร แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 รถไฟจะยังไม่รับ-ส่งผู้โดยสารข้ามชายแดน ยกเว้นกรณีบรรทุกสินค้าเท่านั้น
ค่าโดยสารรถไฟลาว-จีน แบบเที่ยวเดียว จากเวียงจันทน์ไปบ่อเต็น ราคาต่ำสุดต่อคนอยู่ที่ 238,000 กีบ หรือประมาณ 680 บาท ส่วนราคาสูงสุดของตู้โดยสารชั้นหนึ่งอยู่ที่ คนละ 529,000 กีบ หรือประมาณ 1,510 บาท จากเดิมหากนั่งรถโดยสารต้องใช้เวลาเดินทางเกือบทั้งวัน แต่ด้วยรถไฟความเร็วสูง ผู้โดยสารสามารถเดินทางจากเวียงจันทน์ถึงบ่อเต็นได้ในเวลา 4 ชั่วโมง
“ความฝันความเร็วสูง” ของลาว หวังเชื่อมดินแดนเพื่อออกจากความยากจน
รถไฟความเร็วสูงจีน-ลาวเป็นหนึ่งโครงข่ายในโครงการ ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ หรือ BRI (Belt and Road Initiative) ที่จีนต้องการเชื่อมต่อการขนส่งจากเอเชียไปจนถึงยุโรป ใช้งบลงทุนประมาณ 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจีนถือหุ้นและลงทุนประมาณ 70%
บีบีซีไทยรายงานว่า โครงการรถไฟจีน-ลาว เริ่มก่อสร้างในปี 2016 ท่ามกลางความวิตกว่า การลงทุนในโครงการที่มีมูลค่าประมาณ 1 ใน 3 ของขนาดเศรษฐกิจของประเทศ อาจทำให้ลาวติดกับดักหนี้สิน เนื่องจากลาวต้องกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินของจีนมาลงทุน อย่างไรก็ตามรัฐบาลลาวคาดหวังว่า เส้นทางรถไฟสายนี้จะเป็นการเปิดประตูสู่สภาพเศรษฐกิจที่ดีกว่าเดิม
KPL สำนักข่าวรัฐบาลของลาว รายงานว่า โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ของรัฐบาลในการเปลี่ยนประเทศลาวจาก “ประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล” เป็น “ประเทศที่มีดินแดนเชื่อมต่อ"
“เส้นทางรถไฟนี้ได้เปลี่ยนความเสียเปรียบของลาวในฐานะประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลให้กลายเป็นข้อได้เปรียบ”
วาลี เวดสะพง รองประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติของสปป.ลาว คาดการณ์ว่า ลาวจะได้รับผลประโยชน์จากการขนส่งและการส่งออกที่คาดการณ์ไว้ว่าจะเติบโตอย่างรวดเร็วหลังจากมีรถไฟความเร็วสูง
“ลาวเคยจ่ายค่าขนส่งสินค้าในราคาสูง แต่ตอนนี้เรากำลังจะขนส่งสินค้าด้วยตัวเอง” เธอกล่าวพร้อมเสริมว่า ต่อจากนี้ไป ประเทศที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศต่อหัวอยู่ที่ 2,500 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 85,000 บาท (น้อยกว่าไทย 2.4 เท่า) “จะกลายเป็นสนามรบด้านการลงทุนสำหรับประเทศโดยรอบทั้งหมดเพราะทางรถไฟเส้นนี้”
ปีที่แล้ว ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของลาวจะฟื้นตัวขึ้น 4.5% ก่อนสิ้นปี 2022 ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการรถไฟ แต่ยังเตือนถึงความเสี่ยงที่ลาวต้องเผชิญ โดยเฉพาะจากหนี้ต่างประเทศที่พุ่งสูงขึ้นเกือบ 70% ของ GDP ในปี 2020
องค์การสหประชาชาติระบุว่า ลาวกำลังจะหลุดพ้นจากสถานะ "ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด" ภายใน 5 ปีข้างหน้า แต่การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทำให้ความคืบหน้าของประเทศหยุดชะงัก ต้นปีที่ผ่านมา เมื่อ ทองลุน สีสุลิด ขึ้นรับตำแหน่งประธานประเทศคนใหม่ เขาเคยประกาศว่า จะพาลาวหลุดพ้นจากภาวะหนีสิ้นและความยากจน
ความหวังและความกังวลปะปนกัน
แม้คนลาวหลายคนจะตื่นเต้นและยินดีกับการมีเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว แต่สำนักข่าว South China Morning Post (SCMP) รายงานว่าที่ผ่านมา ประมาณ 4,400 ครอบครัวต้องอพยพออกจากที่อยู่เดิมเพื่อหลีกทางให้เส้นทางรถไฟ
“เราไม่สามารถพูดหรือคัดค้านอะไรได้แม้ว่าเราต้องการ” มัคคุเทศก์ลาวในหลวงพระบางให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว SCMP “คนลาวประมาณ 60% คิดว่ารถไฟจะนำมาซึ่งความมั่งคั่ง แต่พวกเราที่เหลือกลัวว่างานดีๆ จะถูกคนจีนแย่งชิงไป”
ในขณะที่ คำพัน คนรุ่นใหม่ชาวลาวให้สัมภาษณ์ว่า “ทางรถไฟน่าตื่นเต้นมาก เราไม่เคยมีอะไรแบบนี้มาก่อน แต่ความเจริญรุ่งเรืองที่มาพร้อมกับการลงทุนของจีนอาจจะเข้าถึงข้าราชการ นักธุรกิจ และผู้ที่มีสถานะและการศึกษาสูง มากกว่าพวกเราส่วนใหญ่ที่ไม่มีอะไรจะไปแข่งขันด้วย”
เขามองว่ารถไฟสายนี้นำความเปลี่ยนแปลงมาให้ประเทศลาวและชีวิตของชาวลาวแน่นอน แต่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นหรือแย่ลง คงจะต้องรอดูกันต่อไป
ส่วนความหวังของจีนผ่านหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางสำเร็จมาถึงนครเวียงจันทน์แล้ว แต่การต่อเส้นทางรถไฟสายนี้ไปจนถึงคาบสมุทรมลายูยังต้องผ่านไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าอาจไม่ง่ายเหมือนกรณีของลาว
ที่มา:
https://asia.nikkei.com/Business/Transportation/China-Laos-railway-begins-with-limited-service
https://www.bbc.com/thai/57847557
ภาพประกอบ: Xinhua