วันที่ 14 ต.ค. 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังหารือกับ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ถึงการยกร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ว่า วันนี้เป็นการประชุมร่วมกันระหว่างสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ซึ่งได้ข้อสรุปว่า ทาง กกต.จะเป็นผู้จัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ ส.ส. เพื่อเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญที่มีการทูลเกล้าฯถวายขึ้นไปแล้วอย่างน้อย 1 ฉบับคือกฎหมายเลือกตั้ง ส่วนพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองนั้น ดูแล้วยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแก้ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญยังไม่ได้พาดพิงไปถึง แต่ความคิดที่จะแก้ไขนั้นมันมีอยู่เป็นเอกเทศก่อนแล้ว เพราะฉะนั้นจะมีการขอความเห็นจาก กกต.ใหญ่ทั้ง 7 คน อีกครั้งหนึ่งก่อนว่าหาก กกต.ทั้ง 7 คนเห็นว่าควรต้องแก้ ทั้ง 2 ฉบับไปในคราวเดียวกันทั้งส.ส.และพรรคการเมืองก็จะเสนอมา แต่ถ้าจะเอาแต่เฉพาะที่เร่งด่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนก็จะมีฉบับเดียว ดังนั้นรอให้เสนอกกต.ใหญ่ก่อน
"กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ทางสำนักงานกกต.ได้ยกร่างขึ้นมาเสร็จเรียบร้อยแล้ว มีประมาณ 30 มาตรา ซึ่งเป็นเรื่องของการกาบัตร 2 ใบ ร่วมถึงวิธีการนับคะแนน ซึ่งจะนับอย่างไรนั้นผมไม่รู้ เพราะยังไม่ได้เห็นร่าง เนื่องจากเขาต้องเสนอ กกต.ใหญ่ ก่อนจากนั้นจึงจะเปิดเผยให้สาธารณชนทราบและเมื่อกกต.ใหญ่เห็นชอบแล้ว ก็จะมีการรับฟังความเห็นในส่วนกลาง คือฟังจากพรรคการเมืองและประชาชนจากนั้นจะส่งร่างไปให้กกต. จังหวัดทุกจังหวัด เพื่อรับฟังความเห็นในจังหวัดอีกครั้งหนึ่งก่อนที่จะรวบรวมความเห็นกลับเข้ามาที่ส่วนกลาง เพื่อปรับปรุงจากนั้นจึงจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 131 และเมื่อครม.เห็นชอบก็จะส่งไปให้คณะกรรมกฤษฎีกา ได้ตรวจสอบอีกครั้งจากนั้นก็จะเตรียมส่งร่างดังกล่าวให้รัฐสภา"
วิษณุ กล่าวว่า ที่ต้องใช้คำว่าเตรียมก็เพราะว่ายังไม่ได้ลงพระปรมาภิไธยลงมาเนื่องจากตราบใดที่ ยังไม่มีการลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้รัฐธรรมนูญในราชกิจจานุเบกษา ก็จะยังไม่ส่งไปยังรัฐสภา แต่เมื่อมีพระปรมาภิไธยลงมาและประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้วจึงจะส่งให้รัฐสภาต่อไป ส่วนจะเมื่อใดไม่ทราบเพราะมันผูกติดกับพระปรมาภิไธย แต่ในชั้นนี้ก็ยกร่าง รับฟังความเห็น ตรวจและเตรียมนำเสนอต่อไป
เมื่อถามว่ามาตรา 90 ที่ระบุว่า ต้องส่งส.ส.เขตก่อน ส.ส.บัญชีรายชื่อ แบบนี้จะทำให้เกิดระบบเลือกตั้งเบอร์เดียวทั่วประเทศไม่ได้หรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า ไม่ได้เกี่ยวกัน ถ้ากกต.ใหญ่เห็นว่ามันเป็นปัญหาก็อาจจะแก้ไปด้วย แต่ถ้าคิดว่าไม่เป็นปัญหาเร่งด่วนอะไรก็ยังไม่แก้
วิษณุ กล่าวว่า การแก้กฎหมายพรรคการเมืองมันก็มีประโยชน์อยู่ จะบอกว่าไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญเลยก็ไม่ได้เพราะมันเกี่ยวกับว่าการทำไพรมารี่โหวตหรือการทำอะไร ต่างๆ ซึ่งถ้าเกิดการเลือกตั้งขึ้นเร็ว แบบกะทันหันขึ้นมาก็จะเตรียมการไม่ทันแต่ตรงนี้ไม่เป็นไรรอให้กกต.ชุดใหญ่ได้พิจารณากันอีกครั้งหนึ่งก่อน
เมื่อถามว่าจะคุยกับทาง กกต.อีกครั้งเมื่อไหร่ วิษณุ กล่าวว่า ไม่คุยแล้ว จนกว่าจะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญจึงจะได้มาดูฤกษ์ดูยามว่าจะส่งร่างไปที่รัฐสภาเมื่อไหร่ ระหว่างนี้ทุกคนก็ทำงานของตัวเองไป ทั้งยกร่าง ซึ่งร่างเสร็จแล้ว 30 มาตราและเตรียมที่จะเสนอกกต.ใหญ่ซึ่งคิดว่าคงอีกไม่กี่วัน และเมื่อกกต.ใหญ่เห็นอย่างไรก็ปฏิบัติไปตามนั้น ซึ่งก็คือการรับฟังความเห็นส่วนกลาง จากนั้นก็ส่งให้กกต.จังหวัดไปรับฟังความเห็นของจังหวัดตัวเอง แต่สมัยนี้รับฟังความเห็นออนไลน์กันได้ มันก็เร็วและรวบรวม ก่อนที่จะเสนอครม. ซึ่งในระหว่างที่ยังไม่ลงพระปรมาภิไธย ก็ทำตรงส่วนนี้ไปพลางก่อนได้ แล้วก็ส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจแก้
เมื่อถามว่าได้เห็นทั้ง 30 มาตราแล้วหรือยัง วิษณุ กล่าวว่า ยังไม่เห็นเลย เพราะเขาต้องเสนอกกต.ใหญ่ก่อน จึงไม่อยากเอามาแสดงก่อน แต่พอผ่านกกต.ใหญ่แล้วมันก็ต้องเปิดเผยให้คนรับรู้เพื่อ ติชม ไม่เช่นนั้นจะเรียกว่ารับฟังตาม มาตรา 77 ได้อย่างไร
ถามว่าถ้าติชม แล้วสามารถปรับแก้ได้หรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า ได้ เพราะติชมก็เพื่อที่จะแก้ ไม่ว่าครม. พรรคการเมือง หรือแม้แต่ประชาชน ก็สามารถติชมได้ โดยเฉพาะพรรคการเมืองเขาต้องทำอยู่แล้ว ส่วนที่พรรคการเมืองกำลังจะทำนั้น ก็มีสิทธิ์เสนอได้ เพราะผู้ที่จะเสนอแนะได้ จะเป็นทั้งครม. หรือ ส.ส.1ใน10 หรือประมาณ 50 คนสามารถทำได้ แต่ ส.ส.คงยังไม่เสนอร่างของตัวเองต่อรัฐสภาจนกว่าจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญ จะเสนอได้อย่างไรในเมื่อรัฐธรรมนูญยังไม่ได้แก้เลย เพราะฉะนั้นเมื่อถึงเวลาประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่แก้ไขเสร็จก็คงจะเสนอเข้าสภาไป
ถ้ามีหลายฉบับก็จะไปรวมพิจารณากันโดยเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาและต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 180 วันหรือ 6 เดือน เมื่อรัฐสภาพิจารณาเสร็จแล้วก็จะส่งกลับไปให้ กกต.อีกภายใน 15 วัน เพื่อดูว่าการที่คณะกรรมาธิการนำไปแก้นั้นผิดไปจากเจตนารมณ์ของกกต.หรือไม่ โดย กกต.จะต้องตอบกลับมาภายใน 10 วัน จากนั้นสภาก็จะทำการแก้ไขให้เสร็จภายใน 30 วัน และจึงจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ
เมื่อถามว่ามีโอกาสที่การนับคะแนนจะกลับไปเหมือนปี 2550 หรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบตนยังไม่เห็นร่าง ความจริงตนก็อยากรู้แต่ยังไม่อยากรู้ตอนนี้ เพราะกกต.ใหญ่เขาอาจเปลี่ยนแปลงได้
เมื่อถามว่าคาดว่าจะเสนอเข้าสู่ครม.ได้เมื่อไหร่ นายวิษณุ กล่าวว่า อีกนานเลย ขั้นตอนทุกอย่างกว่าจะเสร็จ แต่เรายังมีเวลาแม้ว่ารัฐสภาจะเปิดวันที่ 1 พ.ย. แต่ถึงอย่างไรก็ยังเสนอไม่ได้จนกว่าจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญ
เลขาฯ กกต.เผยคุยแค่ไทม์ไลน์เท่านั้น
ด้าน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต).ให้สัมภาษณ์ภายหลังการหารือกับวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เรื่องร่างแก้ไขพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ว่า วิษณุ จะมาชี้แจงรายละเอียดกับสื่อมวลชนเอง เมื่อถามว่าได้เสนอเรื่องอะไรไปบ้าง เลขาฯกกต. กล่าวว่า ไม่ได้เสนอเพียงอะไร แค่มาคุยเรื่องไทม์ไลน์เท่านั้น