นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร เผยเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2567 ว่า กรณีศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้เปิดผลสำรวจความคิดเห็นของคนกรุงเทพมหานครเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมการเก็บขยะในอัตราที่แตกต่างกันตามพฤติกรรมการคัดแยกขยะ พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 50.31 ระบุว่า เห็นด้วยมาก รองลงมา ร้อยละ 23.66 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 15.73 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย และร้อยละ 10.30 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย กรุงเทพมหานครขอขอบคุณนิด้าโพลที่ได้สะท้อนความคิดเห็นของประชาชนต่อการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการให้บริการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยอัตราใหม่ ที่มีประชาชนจากผลสำรวจเห็นด้วยมากถึง 50.31% ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนนโยบายการแยกขยะที่ต้นทาง
สำหรับข้อบัญญัติจัดเก็บค่าธรรมเนียมการให้บริการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยอัตราใหม่ เป็นการมุ่งเน้นส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการคัดแยกขยะประเภทต่าง ๆ เมื่อประชาชนมีการคัดแยกขยะแล้ว อัตราค่าธรรมเนียมฯ ที่จัดเก็บจะลดลงตามปริมาณขยะที่ลดลงจากการคัดแยก โดยค่าธรรมเนียมขยะอัตราใหม่สำหรับบ้านพักอาศัยทั่วไปที่มีขยะไม่เกิน 20 ลิตรต่อวัน (ประมาณ 4 กิโลกรัมต่อวัน) หากมีการคัดแยกขยะตามเงื่อนไขที่กรุงเทพมหานครกำหนด จะจ่ายค่าธรรมเนียมฯ 20 บาทต่อเดือน หากไม่มีการคัดแยกขยะ จะจ่ายค่าธรรมเนียมฯ 60 บาทต่อเดือน สำหรับการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ในเบื้องต้นจะเป็นการลงทะเบียนทางแอปพลิเคชัน BKK Waste Pay และจะต้องมีการส่งหลักฐานการคัดแยกขยะผ่านแอปพลิเคชันดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ
ปัจจุบันร่างข้อบัญญัติฯ ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานครแล้ว โดยจะมีผลบังคับใช้ภายหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 180 วัน คาดว่าเดือนมิถุนายน 2568 จะเริ่มใช้ข้อบัญญัติฯ นี้